คำว่า New Normal ได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นวาระในการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมภายใต้บริบทปัจจุบันที่มีเงื่อนไขแตกต่างไปจากเดิม และไม่สามารถที่จะฟื้นคืนสภาพปัจจัยต่างๆ ให้เหมือนเดิมได้อีกต่อไป
ด้านเศรษฐกิจ กระแสเรื่องจุดปกติใหม่ หรือ New Normal เกิดขึ้นหลังวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่การเติบโตจากนี้จะมีอัตราที่เชื่องช้า การว่างงานยังคงมีอัตราสูง การก่อหนี้ของภาคประชาชนมีแนวโน้มลดลง ปรากฏการณ์นี้ส่อเค้าจะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกให้เกิดอาการเซื่องซึมยาวนาน การกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับไปสู่จุดปกติเดิมก่อนวิกฤติแทบไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขปัจจุบัน บรรดาธุรกิจในทุกแขนงกำลังเรียนรู้พฤติกรรมและเงื่อนไขใหม่เพื่อวางกลยุทธ์ไว้รองรับการเคลื่อนตัวของเศรษฐกิจไปสู่จุดปกติใหม่นี้กันอย่างขะมักเขม้น
ด้านสังคม อิทธิพลจากความร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ น์ความตกต่ำทางวัฒนธรรม ภัยคุกคามที่เกิดกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคม ก่อให้เกิดเงื่อนไขใหม่ในการดำรงวิถีชีวิตท่ามกลางปัญหาเก่าที่หมดหนทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการจมปลักในความยากจนซ้ำซาก การสะสมความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น การฉวยประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมเสมอภาค จึงทำให้ประชาชนหมดความอดกลั้น และไม่ลังเลที่จะแสวงประโยชน์ส่วนตน เหนือประโยชน์ส่วนรวม การรวมตัวเพื่อเรียกร้องประโยชน์เฉพาะกลุ่มเฉพาะพวก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบส่วนใหญ่ กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของพลเมืองผู้ที่มีเสียงดังย่อมได้รับตามคำเรียกร้อง
แม้ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวของเศรษฐกิจโลกเนื่องด้วยพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ แต่ก็ไม่รุนแรงเท่ากับปัจจัยภายในประเทศที่ฉุดรั้งการพัฒนาและการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางสังคมที่รุนแรงขึ้นจากปัจจัยทางการเมือง คุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพที่เสื่อมโทรมมากขึ้นอันเป็นผลจากการดำเนินธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบ และขาดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพของรัฐที่สะสมมายาวนานต่อเนื่อง
ประชาชนจึงต่างลุกขึ้นมาทวงสิทธิของตนในทุกช่องทางทั้งการใช้กฎหมายและการกดดันทางสังคมโดยไม่อะลุ้มอล่วย ด้วยเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ การดำรงอยู่ของธุรกิจและสังคมจะไม่สามารถหวนกลับไปสู่จุดปกติเดิมได้อีกต่อไป
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะต้องมีความวุ่นวายและไม่เป็นปกติเช่นนี้ตลอดไป เพราะสังคมกำลังเรียนรู้และพัฒนาเข้าสู่ความสมดุลใหม่ หรือเรียกว่า ประเทศไทยจะยังอยู่สบายดีภายใต้จุดปกติใหม่ โดยทุกภาคส่วนจะมีการปรับตัวและยอมรับความเป็นปกติใหม่นี้ร่วมกันได้
ในภาคธุรกิจ การคำนึงแต่ผลกำไร (Profit) จะไม่ถือเป็นเรื่องปกติอีกต่อไป หากมิได้รวมเรื่องการคำนึงถึงผู้คน (People) ในสังคม และโลก (Planet) ที่เป็นผู้มอบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นที่ตั้ง
กลไกสำคัญซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility: CSR) ที่ไม่ใช่เพียงแค่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนการธุรกิจ หรือเพียงเพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กร แต่ยังต้องผนวกความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปในทุกกระบวนการดำเนินงานขององค์กรให้ได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน
การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบองค์รวมนี้ จะต้องคำนึงถึงทุกองค์ประกอบสำคัญอย่างควบคู่กัน ทั้งในเรื่องขอบเขต (Scope) แนวนโยบาย (Platform) โครงสร้าง (Structure) กลยุทธ์ (Strategy) การดำเนินงาน (Performance) ตัวชี้วัด (Measure) และการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) สร้างสมให้เกิดเป็นคุณค่า CSR ขององค์กรที่สังคมตระหนักในระยะยาว
ในภาคสังคม การรอให้ภาครัฐดูแลความเป็นอยู่เพื่อให้ดำรงชีพได้อย่างปกติในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตรวมถึงการปกป้องสิทธิในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับกันในอดีต แต่ปัจจุบันประชาชนกลับลุกขึ้นมาทวงสิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงสิทธิในการฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ถือเป็นเรื่องปกติใหม่ ที่ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้และให้การยอมรับจากนี้ไป
ภายใต้จุดปกติใหม่นี้ ภาครัฐต้องมีความเข้มแข็งและเฉียบขาดมากกว่าที่เป็นมา ความเป็นธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินจะต้องทำให้ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มิใช่การทำงานด้วยคำพูด (Lip Service)
การขจัดทุจริตคอร์รัปชันจะต้องเกิดขึ้นในทุกระดับเพื่อฟื้นศักดิ์ศรีของความเป็นนักการเมืองที่ทำงานเพื่อประเทศชาติและข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หาไม่แล้วบทบาทของรัฐจะค่อยๆ ถูกลบเลือนไปจากสมการของประเทศไทยสบายดี (แบบใหม่)...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, March 11, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment