Thursday, September 30, 2010

ใช้ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ค แบบ SMART

ทุกวันนี้ เยาวชนกำลังซึมซับวัฒนธรรมการใช้งานเครื่องมือติดต่อสื่อสารในเครือข่ายทางสังคมกันอย่างแพร่หลาย โดยไม่รู้ว่าจะมีกฎ กติกา มารยาท ที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของเราได้มากน้อยแค่ไหน ในหลายครั้งเยาวชนตกเป็นเหยื่อของการคุกคามจากผู้ที่ไม่หวังดี การป้องกันจึงย่อมดีกว่าการแก้ไข

แม้โลกออนไลน์จะเป็นประตูเปิดไปสู่แหล่งความรู้มากมายมหาศาล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากเราใช้งานไม่เป็นและรู้ไม่เท่าทัน ภัยร้ายที่แฝงมาก็อันตรายมหาศาลเช่นกัน เราจึงควรใช้มันอย่างฉลาด ด้วยกฎ “SMART” ที่ประมวลมาจากคู่มือ Child Online Protection (COP) ซึ่งจัดทำโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)

SET YOUR LIMITS
ระมัดระวังในการที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลในครอบครัว รวมทั้งของเพื่อนๆ บนโลกออนไลน์ โดยตั้งค่าโปรแกรมสื่อสารหรือเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์คให้ปกป้องข้อมูลส่วนตัวสูงสุด หรือเปิดเผยได้เฉพาะกับเพื่อนหรือบุคคลที่รู้จักจริงๆ เท่านั้น (ใช้ชื่อเล่น แทนชื่อจริงก็ปลอดภัยดี) จงอย่าปักใจเชื่อข้อมูลที่ได้รับร้อยเปอร์เซ็นต์ หากจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเหล่านั้น ควรตรวจสอบกับแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อื่นๆ ประกอบ และเมื่อต้องส่งข้อมูลให้ผู้อื่น ให้แน่ใจว่าข้อมูลนั้นไม่เป็นการละเมิดสิทธิ หลอกลวง หรือหมิ่นประมาทผู้อื่น เพราะกฎหมายยังคงตามไปคุ้มครองในโลกออนไลน์เหมือนในโลกจริง ที่สำคัญ คิดให้หนัก เวลาจะโพสต์ข้อความ รูปภาพ หรือไฟล์ส่วนตัว เพราะเมื่อส่งไปแล้ว มันอาจจะไม่สามารถลบหรือยกเลิกได้ มีหลายคนต้องเสียใจ เจ็บใจ และทุกข์ใจไปตลอดชีวิต

MEETING ONLINE FRIENDS OFFLINE
เราอาจพบเพื่อนใหม่ในโลกออนไลน์ได้ จงคิดให้รอบคอบ หากจะต้องนัดพบกันจริงๆ ควรพาผู้ใหญ่หรือเพื่อนที่ไว้ใจได้ไปกับเราด้วย เพราะคนที่เราคุยด้วยผ่านโลกออนไลน์ที่ดูว่าจะดี อาจจะไม่เหมือนกับตัวตนจริงๆ เวลาพบกันก็ได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ควรบอกพ่อแม่หรือชวนคนที่สามารถคุ้มครองเราได้ไปกับเราด้วย ก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร

ACCEPTING INVITATIONS / FRIENDSHIPS
การสนทนาพูดคุยออนไลน์กับคนที่เรารู้จักในโลกจริงอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ แต่บางทีเราอาจจะมีเพื่อนของเพื่อน...และของเพื่อน มาขอทำความรู้จักกับเราในโลกออนไลน์ด้วย เราก็จะรู้สึกสนุกที่ได้รู้จักเพื่อนเพิ่มขึ้น แต่ให้จำไว้เสมอว่า เพื่อนของเพื่อน ไม่ใช่เพื่อนของเราตรงๆ การจะบอกข้อมูลหรือให้การสนิทสนมเสมือนเพื่อนของเราโดยตรงนั้น เขาอาจจะไม่รักษาความลับหรือ take care เราเหมือนเพื่อนเราจริงๆ ก็ได้ อย่าไปคิดว่าการเก็บสะสมคอนแทคหรือเฟรนด์ให้ได้ “ปริมาณ” เยอะๆ จะดูโก้เก๋ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค การคัดเลือกเพื่อนที่มี “คุณภาพ” ต่างหากที่จะทำให้เราดูไฮโซกว่า

REACT
บางครั้งเราอาจจะหลุดไปยังเว็บไซต์หรือวงสนทนาซึ่งมีเนื้อหาไม่เหมาะสมหรือน่าขยะแขยง ให้รีบกลับออกมาหรือบล็อกไม่ให้เข้ามา ทางที่ดีควรจะปรึกษาผู้ใหญ่หรือใครที่ไว้ใจได้ ถ้าดูแล้วเหตุการณ์จะเลยเถิดหรือบานปลาย เช่น มีการยั่วยวนด้วยภาพหรือคำพูดที่ไม่เหมาะสม มีความพยายามนัดพบเพื่อติดต่อสัมพันธ์ในแบบรักๆ ใคร่ๆ มีการพูดจาดูถูกดูหมิ่นให้เสียๆ หายๆ ขอให้ระลึกว่า การจะสั่งสมประสบการณ์หรือพยายามแก้ไขปัญหาโดยลำพังคนเดียวนั้น ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เราควรต้องหาตัวช่วยในการเสริมพลังบวก เริ่มจากเพื่อนสนิท พ่อแม่ คุณครู หรือผู้ใหญ่ที่เราเชื่อใจ

TELL SOMEONE ABOUT YOUR CONCERNS
ไม่มีข้อกังวลหรือปัญหาใดๆ ในโลก (ออนไลน์) นี้ ที่ยากเกินแก้ไข การหันหน้ามาปรึกษาหารือกับผู้ที่เราไว้วางใจในโลก (ออปไลน์) เป็นทางออกที่ดีที่สุด ไม่ใช่เราคนเดียวที่อาจต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือปัญหาแบบนี้ เพื่อนของเราหลายคนได้รับการแก้ไข และใช้ชีวิตอย่างชิลด์ชิลด์ได้ ก็เพราะมีผู้ไกด์ช่องทางให้ในแบบสุโค่ย คำตอบหลายเรื่องรอเราอยู่ อย่าลืมว่า โลกออปไลน์ยังมีที่ให้เรายืนอยู่เสมอ วันหนึ่งข้างหน้า เราอาจจะกลายเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือคนที่เคยเจอปัญหาเหมือนเราบ้างก็ได้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link

No comments: