เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางของความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (CSR) ประจำปี 2551 ในประเทศไทย ซึ่งจากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ด้านซีเอสอาร์ในปีนี้ จะยังคงมีความเคลื่อนไหวคึกคักอย่างต่อเนื่องจากแรงส่งในปี 2550
จากกระแสโลกร้อนและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงจนกลายเป็นปัญหาระดับโลก ธุรกิจจะพัฒนากิจกรรมเพื่อสังคม ประเภท “ECO-CONSCIOUS” เพิ่มขึ้น องค์กรธุรกิจที่มีแผนพัฒนากิจกรรม CSR ในปีนี้ ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากประเด็นในเรื่องคน ปรากฏการณ์ที่ธุรกิจค้าปลีกต่างออกมารณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าในการจับจ่ายใช้สอย หรือการปรับรื้อสายการผลิตเครื่องยนต์ที่ตอบสนองต่อการใช้พลังงานทางเลือกในอุตสาหกรรมยานยนต์ สะท้อนให้เห็นถึงกระแสของ CSR ประเภทนี้ได้เป็นอย่างดี
ที่ผ่านมา แต่ละองค์กรธุรกิจได้กำหนดบทบาทในการขับเคลื่อน CSR ให้แก่ส่วนงานในองค์กรที่แตกต่างกันออกไป ทำให้การดำเนินงาน CSR ของแต่ละองค์กรมีจุดเน้นหนักที่แตกต่างกันตามภารกิจหลักของส่วนงานที่ได้รับมอบหมายนั้นๆ ในปีนี้ ผังองค์กรของกิจการหลายแห่งจะปรากฏบทบาทของ “เจ้าหน้าที่บริหารความรับผิดชอบประจำองค์กร” (Corporate Responsibility Officer: CRO) ในชื่อตำแหน่งที่เรียกแตกต่างกัน แต่มีภาระงานเดียวกัน คือ การบูรณาการงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อน และสร้างให้เกิดผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
จากการที่องค์กรธุรกิจหลายแห่งได้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อน CSR ด้วยการสร้างพันธะแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมขึ้นในลักษณะ Engaged CSR ในปีนี้ ธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จในการสร้างพันธะแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมขึ้นในองค์กร จะยกระดับสู่การสร้างสมรรถนะแห่งความรับผิดชอบของกระบวนการ CSR ในลักษณะที่เป็น High Performance CSR ด้วยกระบวนการ CSR ดังกล่าว จะสร้างให้เกิดสมรรถนะในการดำเนินงานด้าน CSR ให้แก่องค์กรอย่างมาก โดยมีฐานจากการสร้างพันธะความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรนั้นๆ
นอกจากนี้ ธุรกิจจะจับมือร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบ “JOINT-RESPONSIBILITY” เพิ่มขึ้น โดยกิจกรรม CSR ในแบบที่ใช้งบประมาณไม่มากตามสภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างต่ำ ยังเป็นทางเลือกสำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการช่วยเหลือสังคมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ พัฒนาการของ CSR ที่กลุ่มองค์กรธุรกิจจะร่วมมือกันดำเนินโครงการในลักษณะของการ “ร่วมรับผิดชอบ” จะมีปรากฏให้เห็นมากขึ้น องค์กรธุรกิจบางกลุ่มจะใช้ทรัพยากรร่วมที่มีอยู่ในเครือข่ายสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมในนามของกลุ่ม ขณะที่กลุ่มพันธมิตรธุรกิจอื่นๆ จะจับมือดำเนินกิจกรรม CSR ในแบบร่วมกันรับผิดชอบนี้มากขึ้น
การจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในรูปของ “SUSTAINABILITY REPORT” เพื่อสื่อสารกับสังคม จะมีมากขึ้น โดยบริษัทที่ทำเรื่อง CSR จะเสาะหาวิธีรายงานผลการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน มีรูปแบบของการรายงานผลที่เป็นมาตรฐานสากล มีการเผยแพร่ Sustainability Report ที่แยกต่างหากจากรายงานประจำปี (annual report) ซึ่งจะทำให้องค์กรธุรกิจสามารถนำเสนอผลลัพธ์ที่ครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การใช้แรงงาน และความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ เพื่อสื่อสารกับสังคมได้อย่างครบถ้วน
ขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จะให้ความสำคัญกับการตั้งคณะทำงานหรือกลุ่มงานที่มีภารกิจในการส่งเสริม CSR ขององค์กรธุรกิจมากขึ้น มาตรการส่งเสริม CSR ในด้านต่างๆ จะถูกประกาศออกมาเป็นระยะๆ เช่น การลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (SRI) การพัฒนา CSR สำหรับเอสเอ็มอี แนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การส่งเสริมการจัดทำรายงาน CSR ดังนั้นธุรกิจจึงควรติดตามความเคลื่อนไหวของมาตรการส่งเสริม CSR เหล่านี้ เพื่อการปรับตัวและใช้เกื้อหนุนการดำเนินกิจกรรม CSR ขององค์กร
ธุรกิจควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าเรื่องซีเอสอาร์มิได้จำกัดอยู่กับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หรือต้องเป็นองค์กรที่ร่ำรวยมั่งคั่ง หรือต้องมีผลกำไรทางธุรกิจก่อนเสมอไป องค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือกระทั่งหาบเร่แผงลอย ก็สามารถดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ได้เช่นกัน กิจกรรมซีเอสอาร์หลายกิจกรรมไม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นตัวตั้ง เช่น การคัดแยกกากหรือเศษอาหารเหลือทิ้งก่อนเทลงท่อปฏิกูลเพื่อป้องกันปัญหาท่ออุดตันของร้านขายอาหารตามบาทวิถีก็จัดว่าเป็นซีเอสอาร์หรือความรับผิดชอบต่อสังคมรูปแบบหนึ่ง
อีกทั้งธุรกิจไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในทุกกลุ่มพร้อมกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจ ขนาดของกิจการ และความพร้อมขององค์กร สำหรับธุรกิจที่มีกระบวนการผลิตซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาจต้องให้ความสำคัญกับชุมชนหรือระบบนิเวศที่อยู่รายรอบโรงงานเป็นพิเศษ สำหรับกิจการขนาดเล็กที่ต้องอาศัยพนักงานเป็นหัวใจแห่งความสำเร็จ อาจต้องสร้างกิจกรรมซีเอสอาร์เพื่อครอบครัวของพนักงานเป็นสำคัญ สำหรับองค์กรที่ฝากความสำเร็จไว้กับสายอุปทานก็อาจต้องคำนึงถึงกิจกรรมซีเอสอาร์กับคู่ค้าเป็นอันดับต้นๆ
แม้องค์กรธุรกิจหลายแห่งจะมีการคัดเลือกปัญหาทางสังคมเพื่อเข้าร่วมแก้ไขในประเด็นเดียวกัน แต่ก็ไม่จำเป็นที่รูปแบบของกิจกรรมจะต้องมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกันเสมอไป องค์กรควรพิจารณากำหนดรูปแบบของซีเอสอาร์ในลักษณะที่เป็นกิจกรรมเชิงกลยุทธ์ (strategic initiatives) ซึ่งจะมีลักษณะจำเพาะที่แตกต่างกันในแต่ละองค์กร ผนวกกับการออกแบบและพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์ที่สามารถผสมผสานเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะความรับผิดชอบสูง หรือที่เรียกว่า High Performance CSR นั่นเอง (เรียบเรียงจากรายงาน “6 ทิศทาง CSR ปี 2551” ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ thaicsr.com) ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์)
Tuesday, February 05, 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment