Tuesday, February 05, 2008

เศรษฐกิจพอเพียง กับ บรรษัทบริบาล (CSR)

ที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจมักคุ้นกับหลักการกำกับดูแลกิจการ หรือที่เรียกว่า บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ในฐานะที่เป็นคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ แต่ในปัจจุบันได้มีแนวปฏิบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาและนำมาปรับใช้ในกิจการ นั่นคือ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility) หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บรรษัทบริบาล ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจด้วยความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมที่ก่อให้เกิด “ภูมิคุ้มกันที่ดี” ให้แก่องค์กร

หากพิจารณาตามศัพท์ที่ประกอบ บรรษัทบริบาล มาจากคำว่า บรรษัท + บริ (แปลว่า ทั้งหมด ออกไป โดยรอบ) + บาล หมายถึง การดูแลรักษาไม่เฉพาะในส่วนที่เป็นกิจการ แต่ยังแผ่ขยายกว้างออกไปครอบคลุมในส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดที่อยู่โดยรอบกิจการ ด้วยเงื่อนไขของคุณธรรม และการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกกิจการอย่างเท่าเทียมกัน ในอันที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข

หลักการความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ยกร่างขึ้นเพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้แก่บริษัทจดทะเบียนและกิจการทั่วไป โดยมีอยู่ด้วยกัน 8 หมวด ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการที่ดี การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม การเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม และการจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

เรื่องของบรรษัทบริบาล ถือเป็นกลไกการดำเนินงานในกิจการที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการภายนอก ที่จัดให้มีขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างประโยชน์แก่กิจการและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การสงเคราะห์ช่วยเหลือส่วนรวมตามกำลังและความสามารถของกิจการ ในฐานะที่เป็นพลเมืองบรรษัท (Corporate Citizen) ในสังคม

ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เงื่อนไขคุณธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดความยั่งยืนในธุรกิจนั้น ประกอบด้วยคุณธรรม1 ที่ประกอบอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต สำหรับรองรับสนับสนุนวิชาความรู้ เพื่อนำพาไปสู่เป้าหมายได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรง ส่วนที่สอง คือ ความอดทน มีความเพียร ประกอบการงานด้วยความตั้งใจ ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้ง เป็นความเพียรที่มีลักษณะกล้าแข็งไม่ขาดสาย มีความหนักแน่นอดทน ไม่ท้อถอย ทำให้การดำเนินงานรุดหน้าเรื่อยไป และส่วนที่สาม คือ ความรอบคอบระมัดระวัง ที่จะพิจารณาเรื่องต่างๆ ให้กระจ่างแจ้งในทุกแง่ทุกมุม ก่อนที่จะจัดการให้ถูกจุดถูกขั้นตอน ส่วน คุณธรรม2 ที่เกี่ยวกับความเมตตา การแบ่งปัน การช่วยเหลือเกื้อกูล ประสานงาน และประสานประโยชน์กัน ประกอบอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า

หากนำหลักคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ เรื่องบรรษัทบริบาลมาพิจารณาเทียบเคียงกับระดับของความพอเพียง จะพบว่า บรรษัทบริบาลนั้น เป็นหลักปฏิบัติที่จัดอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า องค์กรธุรกิจที่มีบรรษัทบริบาล แสดงให้เห็นว่า นโยบายของกิจการมิได้จำกัดอยู่เพียงกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กรด้วย หลักการของบรรษัทบริบาล คือ การเน้นให้องค์กรธุรกิจรู้จักคิดแบ่งปัน และดำเนินกิจการโดยไม่เบียดเบียนสังคมส่วนรวม การรู้จักให้ รู้จักช่วยเหลือ และเอาใจใส่ในการดูแลสังคม สงเคราะห์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว...(จากคอลัมน์ Sufficiency Life)


1 คือ สัจจะ ขันติ และทมะ ในหมวดฆราวาสธรรม 4.
2 คือ เมตตา 3 และสาธารณโภคิตา ในหมวดสารณียธรรม 6.

1 comment:

Anonymous said...

ชอบบทความ ทุกบทมากเลยค่ะ
ได้ประโยชน์มากๆ อ่านเพลินเลย
ส่วนตัวแล้ว มีความสนใจงานด้าน CSR มากๆ อยากมีโอกาสได้ศึกษาและได้ทำอย่างจริงจัง หากมีโอกาสอยากขอคำแนะนำจากคุณพิพัฒน์จังเลยค่ะ

แล้วจะเข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้จาก blog นี้บ่อยๆ นะค่ะ ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ค่ะ