ธุรกิจเป็นภาคที่มีความสำคัญ ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตหลักในระบบเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่ตัวเองที่สามารถเลือกว่าจะดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่เท่านั้น แต่ธุรกิจยังมีความสามารถในการโน้มน้าวผู้บริโภคให้มีพฤติกรรมไปในทางที่พอเพียงหรือไม่พอเพียงได้อีกด้วย
ปัญหาของภาคธุรกิจที่ต้องการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติในขณะนี้ คือ การขาดทฤษฎีที่ได้รับการพิสูจน์และทดสอบยืนยันผลของการประยุกต์อย่างเป็นระบบ และสามารถนำไปปฏิบัติซ้ำได้สำเร็จ เช่น ในภาคเกษตรกรรม ที่มีรูปแบบของ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงคิดค้นขึ้นด้วยพระองค์เอง และได้ใช้พื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาทดลองจนแน่พระทัยว่าประสบผลสำเร็จ ทำให้มีสถานภาพเป็นทฤษฎีที่ได้รับการพิสูจน์และทดสอบแล้ว
การแปลง "ปรัชญา" เศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็น "ทฤษฎี" ธุรกิจในแต่ละสาขา จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นในภาคการผลิต ภาคการค้า หรือภาคการบริการต่างๆ
ด้วยเหตุที่ การดำเนินธุรกิจต่างมีเป้าหมายในการแสวงหากำไรสูงสุด แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมิได้ขัดกับหลักการแสวงหากำไรสูงสุดในธุรกิจ แต่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งคำนึงถึงกำไรสูงสุดในทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Profit) มากกว่ากำไรสูงสุดในทางบัญชี (Accounting Profit) ซึ่งการพิจารณาที่ตัวกำไรทางเศรษฐศาสตร์ได้คำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสต่างๆ และส่วนเพิ่มมูลค่า (Value Added) ขององค์กรที่แท้จริง
การดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ได้หมายความว่า ธุรกิจจะต้องลดกำไรลงหรือต้องลดกำลังการผลิตลง จึงจะเรียกว่าพอเพียง ทุกธุรกิจยังสามารถแสวงหากำไรสูงสุดได้ และต้องยังคงมุ่งหมายให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการผลิต เพื่อการพัฒนาก้าวหน้าขององค์กร เพียงแต่ว่าในกระบวนการนั้น ต้องทำให้เกิดการเบียดเบียนกันให้น้อยที่สุด ทั้งการเบียดเบียนตนเอง และการเบียดเบียนผู้อื่น
ตัวอย่างของการเบียดเบียนตนเอง คือ การมุ่งแต่จะหารายได้ให้มากที่สุด ด้วยการทำงานหามรุ่งหามค่ำ มากจนเสียสุขภาพตนเองในระยะยาว หรือมากจนละเลยหน้าที่ในครอบครัว บุตรหลานขาดการอบรมเลี้ยงดู เติบใหญ่มาเป็นคนที่ขาดคุณภาพ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสทั้งสิ้น แม้ธุรกิจจะมีผลกำไรทางบัญชีสูงจากกรณีนี้ แต่เมื่อหักลบกลบค่าเสียโอกาสแล้ว ก็จะมีผลกำไรทางเศรษฐศาสตร์ที่ติดลบจำนวนมหาศาล
ตัวอย่างของการเบียดเบียนผู้อื่น คือ การทำการค้าแสวงหากำไรด้วยการเอาเปรียบผู้บริโภค การทุจริตคอร์รัปชัน การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สมบัติสาธารณะเพื่อสร้างรายได้แก่ธุรกิจเฉพาะกลุ่ม การหลบเลี่ยงภาษี การทิ้งกากของเสียสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่ผ่านกระบวนการบำบัด จะเห็นว่า มูลค่ากำไรทางบัญชีที่ปรากฏนั้น มิได้สะท้อนคุณภาพของกำไรที่มีต่อผลกระทบสู่ภายนอก (Externalities) ทั้งมิติทางสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม แต่อย่างใด
หลักการธุรกิจที่ถอดความได้ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นไปในลักษณะประสานประโยชน์ซึ่งกันและกัน เข้าทำนอง “ได้ประโยชน์ตน แต่ไม่เสียประโยชน์ท่าน” ดังพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2550 ที่ว่า
“...ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พอเพียงคืออะไร ไม่ใช่เพียงพอ คือว่า ไม่ได้หมายความว่า ให้ทำกำไรเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง ทำกำไรก็ทำ ถ้าเราทำกำไรได้ดี มันก็ดี แต่ว่าขอให้มันพอเพียง ถ้าท่านเอากำไรหน้าเลือดมากเกินไป มันไม่ใช่พอเพียง นักเศรษฐกิจเขาว่าพระเจ้าอยู่หัว นี่คิดอะไรแปลกๆ ก็แปลกสิ ขายไม่ให้ได้กำไร ซื้ออะไรไม่ขาดทุน เป็นเศรษฐกิจพอเพียง คือไม่ต้องหน้าเลือด แล้วไม่ใช่จะมีกำไรมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ให้พอเพียง ไม่ใช่เรื่องของการค้าเท่านั้นเอง เป็นเรื่องของการพอเหมาะพอดี...”
ทั้งนี้ การสื่อสารเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มนักธุรกิจให้ได้ผลนั้น สิ่งสำคัญ คือผู้รับสารเองต้องพร้อมที่จะรับสารนั้นด้วย ซึ่งความพร้อมที่ว่านี้จะมาจาก 2 เงื่อนไข เงื่อนไขแรก คือ องค์กรหรือธุรกิจนั้นอาจกำลังประสบกับวิกฤติ มีปัญหาหนี้สิน หาทางออกไม่ได้ เศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยตอบคำถาม หาทางออก และช่วยแก้ไขวิกฤติได้ ธุรกิจในกลุ่มนี้จะรับสารได้เร็ว เพราะต้องการแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ให้ดีขึ้น เรียกได้ว่า เห็นทุกข์ ก็เห็นธรรม
ขณะที่ธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะเพลิดเพลินอยู่กับการค้าขาย ยังมีกำไร มีความสุขอยู่ และไม่จำเป็นต้องขวนขวายแนวทางใหม่ๆ ทำให้รับสารได้ยาก นักธุรกิจกลุ่มนี้จะต้องชี้ให้เห็นว่าหากทำธุรกิจโดยประมาทเช่นนี้ต่อไป วันหนึ่งข้างหน้าอาจจะไม่ยั่งยืน อาจจะต้องเจอกับวิกฤติ เนื่องจากขาดภูมิคุ้มกันทางธุรกิจที่ดีพอ ซึ่งหากผู้ประกอบการในช่วงปี 2540 ได้รับรู้ ปฏิบัติตนและดำเนินธุรกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ธุรกิจก็อาจไม่เจอกับวิกฤติจนถึงขั้นต้องปิดกิจการ ฉะนั้นถ้าผู้รับสารพร้อมที่จะรับ คนที่สื่อสารก็พร้อมที่จะส่งสารได้อย่างถูกต้อง ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด
ปัญหาใหญ่ในการทำความเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่นักธุรกิจนั้น คือ การศึกษาทำความเข้าใจอย่างลวกๆ ผิวเผิน แล้วด่วนตีความไปตามกรอบคิดและประสบการณ์ของตนเอง เช่น คิดว่าเศรษฐกิจเพียงก็คือการประหยัด ไม่เป็นหนี้ หรือ เศรษฐกิจพอเพียงคือการที่อยู่อย่างสันโดษไม่ยุ่งกับใคร หรือเหมาะกับเกษตรกรมากกว่านักธุรกิจ หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือ การยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ ใช้เป็นเหตุผลที่ไม่ต้องทำอะไรไปมากกว่านี้ ซึ่งทั้งหลายที่กล่าวมานั้นเป็นการด่วนสรุปอย่างเข้าใจผิดทั้งหมด
นอกจากนั้น การตีความที่เป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ นักธุรกิจส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่เรียกว่าน้ำเต็มแก้ว มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ทั้งจากความสำเร็จในธุรกิจที่ทำและจากการเป็นที่ยอมรับในวงสังคม หากนักธุรกิจเหล่านี้เปิดใจกว้างเพื่อทำความเข้าใจกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง ก็จะพบว่าเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ขัดกับเรื่องของทุนนิยม ไม่ได้ขัดกับเรื่องของธุรกิจที่ต้องแสวงหากำไร ไม่ได้ห้ามการเป็นหนี้ และเศรษฐกิจพอเพียงก็จำเป็นจะต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช่การอยู่คนเดียว ข้อเท็จจริงเหล่านี้ จะค้นพบได้ก็ต่อเมื่อเปิดใจเรียนรู้อย่างไม่เอนเอียง... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) [Archived]
Tuesday, February 12, 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
ขอบคุณมากครับ กำลังหาประเด็นสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ให้กับการดัดแปลงสภาพแวดล้อม ให้ประหยัด ทำเองได้โดยวิธีง่ายๆ โดยวัสดุที่หาได้ง่ายหลากหลาย และ เกิดเอกลักษณ์ สำหรับการดัดแปลงสภาพแวดล้อมภายในโครงการบย้านเอื้ออาทรรังสิต คลองสาม โดยใช้แนวคิดจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่พอดีเลยครับ
Post a Comment