ตั้งแต่ที่คอลัมน์พอเพียงภิวัตน์ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2549 เพื่อนำเสนอประเด็นและมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับปรัชญาและการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในด้านต่างๆ จวบจนวันนี้ “พอเพียงภิวัตน์” ได้ทำหน้าที่มาเป็นเวลา 1 ปี กับอีก 4 เดือน รวมทั้งสิ้น 65 ตอนด้วยกัน และขอเรียนท่านผู้อ่านว่า บทความตอนนี้จะเป็นตอนสุดท้ายของซีรีส์พอเพียงภิวัตน์ โดยเป็นการรวบรวมเนื้อหาที่สำคัญๆ จากตอนต่างๆ ที่ผ่านมา นำเสนอในแบบเมดเลย์ส่งท้าย
หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงมิได้ขัดกับกระแสโลกาภิวัตน์ ตรงกันข้าม กลับไปส่งเสริมให้กระแสโลกาภิวัตน์ได้รับการยอมรับมากขึ้น ด้วยการเลือกรับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบในแง่ดีต่อประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการเปลี่ยนแปลงในแง่ที่ไม่ดีและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อจำกัดผลกระทบให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อความเสียหายหรือไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อประเทศ ทำให้การพัฒนาและบริหารประเทศยังคงดำเนินต่อไปได้
การพิจารณาว่าสิ่งใดควรรับหรือสิ่งใดไม่ควรรับภายใต้การเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะของความพอประมาณในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มิใช่การจำนนต่อสภาพของโลกาภิวัตน์ ที่ต้องรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ก็มิใช่การปฏิเสธแบบหัวชนฝาว่าไม่เอาโลกาภิวัตน์ทั้งหมด
หนทางที่จะพิจารณาเช่นนี้ได้ ผู้บริหารประเทศและประชาชนในประเทศจำต้องมีความสามารถในการพิจารณาเหตุและผล นั่นคือ การรู้ถึงเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และการรู้ถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจหรือการกระทำนั้นๆ อย่างครบถ้วน ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือทำ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด หรือให้มีโอกาสเกิดความผิดพลาดขึ้นน้อยที่สุด ความสามารถในการพิจารณาเหตุและผลนี้ จะต้องอาศัยเงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรมที่พรั่งพร้อมในตัวของผู้บริหารประเทศและประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ (จากตอน “เศรษฐกิจพอเพียงกับกระแสโลกาภิวัตน์”)
คำว่า พอเพียง ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตรงกับคำว่า Sufficiency Economy นั้น มีความหมายกว้างกว่าแค่การพึ่งตนเองได้ เศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่เลี้ยงตัวเองได้บนพื้นฐานของความประหยัดและการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่มีการรวมตัวกัน เพื่อร่วมกันดำเนินงานในเรื่องต่างๆ มีการสร้างเครือข่ายและการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ โดยประสานความร่วมมือกับภายนอก เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า
ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียงจึงมิใช่แค่เพียงเรื่องของการพึ่งตนเองโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร และมิใช่แค่เรื่องของการประหยัด แต่ยังครอบคลุมถึงการข้องเกี่ยวกับผู้อื่น การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน (จากตอน “เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แค่เรื่องการพึ่งตนเอง”)
ทัศนคติที่ว่า เศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้การพัฒนาตนเองหยุดชะงักหรือถอยหลังและไม่คบค้าสมาคมกับผู้อื่นนั้น ไม่ถูกต้อง ตรงกันข้าม เศรษฐกิจพอเพียงมิได้สิ้นสุดที่ความพอเพียงในทางเศรษฐกิจแห่งตน แต่ยังเป็นวิถีทางที่จะทำให้เกิดการพัฒนาตนเองทั้งในเชิงลึกที่ก้าวสูงขึ้นและในเชิงราบที่แผ่กว้างออกไปสัมพันธ์กับผู้อื่น เศรษฐกิจพอเพียงจึงมิใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว (จากตอน “เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง”)
การพัฒนาประเทศเพื่อไปให้ถึงที่หมายนั้น มิใช่การวัดเพียงอัตราการเติบโตในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการพัฒนาและการเติบโตมีความหมายต่างกัน เศรษฐกิจอาจขยายตัวหรือเจริญเติบโตตามการผลิตหรือการบริโภคที่เพิ่มขึ้น หรือตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ เข้าทำนองว่า “โตแต่ตัว” แต่อาจไม่มีนัยของการพัฒนาที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ มั่นคงและยั่งยืน (จากตอน “ที่หมายประเทศไทยในบริบทของเศรษฐกิจพอเพียง”)
ความพยายามในการแก้ปัญหาเพื่อให้สังคมไทยมีความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน จะต้องมาจากพื้นฐานการเมืองที่มีความโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาอย่างแท้จริง มีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ส่งเสริมการกระจายรายได้ สร้างวัฒนธรรมการออมและสร้างวินัยในการใช้จ่าย ไม่มุ่งเน้นการเปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนและพัฒนาจนทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ต้องดำรงขีดความสามารถในการพึ่งตนเองด้านทุนและเทคโนโลยีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม (จากตอน “เปิดประตูประเทศ แต่ปิดโอกาสประชา”)
ปัญหาสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาไปได้ไกลเท่าที่ควร เกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใสของภาครัฐและปัญหาการกระจายรายได้ ซึ่งทั้งสองปัญหานี้ส่งผลในเชิงที่เป็นปฏิกิริยาเสริมกัน กล่าวคือ ความไม่โปร่งใสทางการเมืองเป็นผลให้มีปัญหาในการกระจายรายได้ ขณะที่การมีปัญหาการกระจายรายได้ทำให้ผู้มีรายได้น้อยในชนบทตกเป็นเครื่องมือของธุรกิจการเมือง อันเป็นสาเหตุของความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการของภาครัฐ เนื่องจากทั้งสองปัญหานี้มีลักษณะเสริมกัน การแก้ไขปัญหาจึงควรดำเนินการไปพร้อมกันโดยมีจุดเน้นที่การแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสทางการเมือง (จากตอน “การเมืองแบบสมานฉันท์ ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง”)
ภาพแห่งการพัฒนาประเทศในขวบปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สังคมไทยยังมีวิกฤตการณ์หลายด้านที่ยังไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างที่หวัง แม้รัฐบาลชุดที่แล้วจะมีภาพลักษณ์ของการยึดเจตนารมณ์ในแนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงอย่างชัดเจน แต่ก็ประสบกับความล้มเหลวในการถ่ายทอดแผนงานที่นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม การอภิวัตน์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในปี 2550 จึงมีแต่วาทกรรม แต่ไร้ซึ่งผลเชิงประจักษ์ในทางปฏิบัติ ประเด็นวิกฤติที่สำคัญๆ ยังคงอยู่ดังเดิม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
สังคมไทยต้องการรัฐบาลที่สามารถปรับทิศทางการพัฒนาประเทศให้อยู่ในวิถีของความพอเพียง โดยมุ่งแก้ไขประเด็นวิกฤติต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วง ประชาชน ได้เลือกท่านเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ขอให้พวกท่านในฐานะผู้แทนราษฎรพึงได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบระหว่างประโยชน์สุขของคนไทยทั้งประเทศกับส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่ต่อรองกัน (จากตอน “ลาที สมญารัฐบาลพอเพียง”)
ขอบพระคุณท่านผู้อ่านทุกท่านสำหรับการติดตามบทความซีรีส์พอเพียงภิวัตน์มาโดยตลอด และคอยพบกับบทความซีรีส์ชุดใหม่ในโอกาสต่อไป ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์)
Tuesday, February 26, 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment