Tuesday, January 29, 2008

ชาวโมโซในสังคมพอประมาณ

หนึ่งในแนวคิดของการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถสร้างให้เกิดแรงจูงใจต่อการนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้จากการสำรวจทัศนคติของกลุ่มตัวอย่าง ที่เป็นนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ คือ การสร้างสังคมที่มีแนวปฏิบัติสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้โดยอิสระและสะดวก มีผู้ร่วมในกลุ่มที่คอยเป็นพี่เลี้ยงหรือให้คำแนะนำ สมาชิกมีการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน พร้อมร่วมเดินไปข้างหน้าอย่างอบอุ่นใจ

สังคมพอประมาณ (Moderation Society) หรือ “โมโซไซตี้” ที่เขียนเป็นคำย่อว่า “โมโซ” (MO-SO) เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากแนวคิดข้างต้นที่มุ่งให้สมาชิกในสังคมพอประมาณมีวิถีปฏิบัติที่อยู่ในแนวทางสายกลาง ไม่สุดขั้วไปทางด้านใดด้านหนึ่งตามกลุ่มที่เรียกว่า “ไฮโซ” หรือ “โลโซ” เป็นทางเลือกท่ามกลางกระแสบริโภคนิยม สำหรับผู้ที่ต้องการปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ค่านิยมที่กำหนดโดยชาวโมโซไซตี้ คือ สังคมอันพึงปรารถนาที่สมาชิกชาวโมโซทุกคนจะร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อให้เป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยความจริง ความดีงาม และความสุข มีการวางแนวทางขับเคลื่อนไว้ 2 ระดับ คือ ระดับที่เป็นกายภาพในเชิงสัญลักษณ์ และระดับพฤติกรรมที่เริ่มตั้งแต่จิตสำนึก

ในเชิงสัญลักษณ์ ชาวโมโซทุกคนจะมีสายข้อมือที่เป็นเอกลักษณ์ สายข้อมือแต่ละเส้นจะมีเลขประจำตัวที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อใช้เข้าร่วมกิจกรรมในกลุ่มโมโซต่างๆ โดยความมุ่งหมายของการใส่สายข้อมือ คือ การทำให้มีสติเตือนใจผู้ใส่ว่าควรอยู่ในความพอประมาณ และให้มีความตั้งใจว่าจะเป็นคนรู้จักคิดก่อนใช้ ตามคติพจน์ของชาวโมโซว่า “เน้นสติ เหนือสตางค์”

ในเชิงของการสร้างจิตสำนึกและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ชาวโมโซจะร่วมกันคิดออกแบบกิจกรรมเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและพื้นที่ ตลอดจนการเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมของหน่วยงานอื่นที่ดำเนินการอยู่แล้วและมีความสอดคล้องกับหลักการของชาวโมโซ ซึ่งจะทำให้กิจกรรมต่างๆ ของชาวโมโซมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน โมโซไซตี้ มีโครงการนำร่องที่ดำเนินงานร่วมกับกลุ่ม YIY ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ใช้ความคิดของตัวเองในการริเริ่มทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน โรงเรียน และครอบครัว ในแบบฉบับของตัวเองด้วยการทำงานเป็นกลุ่ม คือ โครงการ “มือใหม่หัดทำดี” (First Hand Out)

กิจกรรมในโครงการมือใหม่หัดทำดีที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการมหาลัยขยะ โครงการน้ำใจไทยเพื่อเยาวชนใต้ร่วมพัฒนาชาติ โครงการผ้าสีขาว โครงการธุรกิจวัยเยาว์ โครงการสานฝันปันน้ำใจ โครงการหน่อกะลา โครงการละครโรงเล็ก โครงการ The story of…not handicapped heart และโครงการกลุ่มเยาวชนร่วมสร้างกำลังใจ

ตัวอย่างเสียงสะท้อนของ กลุ่มกระทิงน้อย ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 8 คน ที่ดำเนินโครงการมหาลัยขยะ ได้กล่าวถึงเหตุผลและแรงบันดาลใจว่า “กลุ่มของพวกเราได้รับการอบรมในค่ายเยาวชนต่างๆ ทำให้ตระหนักถึงปัญหาของสังคมในปัจจุบัน ไม่ว่าด้านสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาขยะที่ล้นเมืองอันเนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว ไร้จิตสำนึกของมนุษย์ด้วยเหตุนี้ จึงได้ตั้งเป้าไปยังกลุ่มของเด็กและเยาวชนเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกพวกเขาจะเป็นกลุ่มที่เจริญเติบโตขึ้นมาพัฒนาประเทศชาติต่อไป”

กิจกรรมที่กลุ่มอยากดำเนินการ คือ “การทำ VCD เป็นรายการการ์ตูน ภายในรายการจะมีนิทานให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคม ส่งไปตามโรงเรียนภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล” โดยผลลัพธ์ที่คาดหวังคือ “เมื่อพวกเราได้มาทำโครงการนี้ พวกเราก็จะได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้ให้เด็กและเยาวชน โดยนำสื่อที่เยาวชนสนใจมานำเสนอดีกว่าสอนโดยตรง ทำให้เด็กนำความรู้ที่ได้ นำไปช่วยเหลือสังคมในด้านไม่ทิ้งขยะ ลดปริมาณขยะอนุรักษ์ธรรมชาติ”

อีกหนึ่งตัวอย่างจากกลุ่ม Charity จำนวนสมาชิก 3 คน ที่ดำเนินโครงการสานฝันปันน้ำใจ ได้กล่าวถึงเหตุผลและแรงบันดาลใจว่า “เนื่องจากทางกลุ่มได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา แต่ยังมีเด็กจำนวนมากที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่สามารถซื้ออุปกรณ์การเรียนได้ครบ ซึ่งจะทำให้เด็กเหล่านี้ขาดโอกาส และมีความรู้สึกที่แตกต่างจากเพื่อนๆ พวกเราจึงอยากจัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสทางการศึกษา ได้นำเงินไปซื้อหนังสือ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

กิจกรรมที่กลุ่มอยากดำเนินการ คือ “การจำหน่ายสินค้าทำมือ เช่น เสื้อเพนท์, สร้อย, กำไล, ต่างๆ ที่มีสัญลักษณ์สื่อถึงเด็ก เพื่อนำเงินที่ได้ไปมอบให้เด็กนักเรียน ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่สามารถซื้ออุปกรณ์การเรียนได้ตามโรงเรียนในจังหวัดลำปางที่ขาดแคลน เพื่อเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติต่อไป” โดยผลลัพธ์ที่คาดหวังคือ “ทำให้เด็กๆ และเพื่อนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ได้มีโอกาส และทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสิ่งที่สำคัญอีกประการคือการได้ใช้เวลาว่างที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์”

แนวคิดของโมโซไซตี้นี้ มิได้มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นเจ้าของ รวมทั้งมิได้มีคณะกรรมการหรือองค์กรที่เป็นทางการในการขับเคลื่อน แต่จะคงรูปแบบที่ยืดหยุ่น มีความเป็นอิสระ คล้ายคลึงกับการเรียกบุคคลที่มีวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมแบบหนึ่งว่า ไฮโซ ดังนั้น ผู้ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายชาวโมโซ ก็เรียกตัวเองว่าเป็นชาวโมโซและเข้าร่วมกิจกรรมในโมโซไซตี้ได้ แม้กระทั่งคนไฮโซก็เป็นชาวโมโซได้ หากมีพฤติกรรมที่รู้จักใช้จ่าย ไม่สุรุ่ยสุร่าย เน้นสติเหนือสตางค์ หรือในทางกลับกัน ผู้ที่ไม่อยากเป็นชาวโมโซในบางโอกาส ก็ทำได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องบอกเลิกการเป็นสมาชิกแต่ประการใด เพราะในบางกิจกรรมอาจไม่เหมาะกับบุคลิกของตนเอง

ถ้ายังอยู่ในวัยเรียน การทำตัวเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ตั้งใจเรียนหนังสือ ช่วยเหลืองานบ้าน และรู้จักประหยัด ก็ถือว่าได้ปฏิบัติตัวเป็นส่วนหนึ่งของชาวโมโซแล้ว ส่วนผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน การเป็นส่วนหนึ่งของชาวโมโซ คือการมีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน รู้จักการใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสม ไม่โลภ และไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น รวมไปถึงการทำตัวเป็นพลเมืองดีของสังคมช่วยเหลือและแบ่งปันกับผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า

ปัจจุบัน มีผู้สนใจทั้งในระดับองค์กรและในระดับบุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายโมโซไซตี้ โดยการรับสายข้อมือไปร่วมรณรงค์และขับเคลื่อนสังคมพอประมาณ ทั้งในเชิงสัญลักษณ์และในเชิงพฤติกรรมแล้วจำนวน 38 องค์กร และมีชาวโมโซที่ร่วมลงทะเบียนแล้วจำนวน 4,600 คน... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

No comments: