Tuesday, January 01, 2008

ลาทีสมญารัฐบาลพอเพียง

ภาพแห่งการพัฒนาประเทศในขวบปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สังคมไทยยังมีวิกฤตการณ์หลายด้านที่ยังไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างที่หวัง แม้รัฐบาลชุดที่กำลังจะสิ้นสุดวาระการบริหารนี้ จะมีภาพลักษณ์ของการยึดเจตนารมณ์ในแนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงอย่างชัดเจน แต่ก็ประสบกับความล้มเหลวในการถ่ายทอดแผนงานที่นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

การอภิวัฒน์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในปี 2550 จึงมีแต่วาทกรรม แต่ไร้ซึ่งผลเชิงประจักษ์ในทางปฏิบัติ ประเด็นวิกฤติที่สำคัญๆ ยังคงอยู่ดังเดิม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ด้านเศรษฐกิจ การพัฒนายังเป็นแบบแยกส่วน ขาดกลยุทธ์การดำเนินงานที่เป็นองค์รวม รวมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยกลไกของรัฐยังมีปัญหาจากระบบงานภายในหน่วยราชการ เช่น ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุนของภาครัฐ ปัจเจกบุคคลจำนวนไม่น้อยในสังคมไม่สนใจประกอบสัมมาชีพ หรือไม่มีความพยายามมากพอที่จะประกอบสัมมาชีพ ขาดจิตสำนึกต่อการเรียนรู้ ใฝ่รู้ ไม่มุ่งมั่นและอดทนต่อสิ่งต่างๆ เพื่อความสำเร็จในอนาคต

ด้านสังคม สังคมไทยยังคงเป็นสังคมแห่งอบายมุข ยังถูกชักจูงให้มัวเมาอยู่กับเรื่องเหล้า หวย และการพนันขันต่อ ภูมิคุ้มกันทางกาย อารมณ์ จิตใจ และความยึดมั่นในหลักศาสนธรรมไม่ได้ดีขึ้น ทำให้การจัดบริการของภาครัฐและภาระสวัสดิการทางสังคมเพิ่มสูงขึ้น ความสัมพันธ์ของคนในสังคมลดน้อยลง ต่างคนต่างอยู่ ภายใต้สภาวะกดดันทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น

เด็กและเยาวชนถูกคุกคามจากสื่อ อินเทอร์เน็ต และกระแสโลกาภิวัตน์ด้านลบ เนื่องจากบิดามารดาและผู้ปกครองไม่มีเวลาอบรมบุตรหลาน เพราะต่างต้องดิ้นรนในการหาเลี้ยงชีพ ขณะที่บทบาทในการอบรมเลี้ยงดูและการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมของสถาบันการศึกษาและสถาบันศาสนาต่างก็ลดน้อยถอยลง

ด้านวัฒนธรรม วิกฤติด้านค่านิยมและความคิดที่มุ่งแต่แสวงหาเงินให้ได้โดยไม่คำนึงถึงวิธีการอันชอบธรรม เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ขาดซึ่งจิตสำนึกต่อสาธารณะ ความดีงามและคุณค่าในวัฒนธรรมเสื่อมถอย เนื่องจากถูกรุมเร้าด้วยสื่อที่โหมกระพือความโลภ การเสริมสร้างระบบการเรียนรู้ตามอัธยาศัยจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ตลอดชีวิต มีสัดส่วนที่ไม่มากและมีอิทธิพลน้อยเมื่อเทียบกับสื่อที่รุมทำร้ายผู้คน

ขณะเดียวกัน การจัดการศึกษาบนฐานของความพอเพียง ความเป็นธรรม และความเป็นไท รวมทั้งการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ ก็มิได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นระบบในแบบบูรณาการ

นอกจากนี้ รัฐบาลภายใต้สมัญญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็ได้รับผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์ ที่สร้างให้เกิดเงื่อนไขให้ประเทศต้องมีการปรับตัว เพื่อพัฒนาศักยภาพคนในหลายประการ ทั้งเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจ การค้า และการเมือง

เงื่อนไขในระบบเศรษฐกิจโลกมีความสลับซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น การปรับระเบียบเศรษฐกิจใหม่ของโลกนำไปสู่การกำหนดข้อตกลง กติกาการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความได้เปรียบในเวทีการค้าโลก ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตและค่านิยมของผู้คนในสังคม การปรับตัวต่อกระแสโลกาภิวัตน์ จึงจำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้และการยืนหยัดอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดความเสี่ยงจากกระแสโลกาภิวัตน์

แนวโน้มการพัฒนาสู่ "เศรษฐกิจยุคใหม่" ของสังคมโลก ได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี ประเทศไทยจำต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถก้าวตามโลกได้อย่างรู้เท่าทัน แต่รัฐบาลไม่สามารถฉวยโอกาสนำเอาความก้าวหน้าทางวิทยาการ และภูมิปัญญามาใช้ประโยชน์ในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้ก้าวเข้าสู่ยุคสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพคนให้มีความรู้ ทักษะ และความพร้อมที่จะรับรู้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในระดับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำความรู้และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณธรรม และจริยธรรมของคนในสังคม

กระแสของแนวคิดประชาธิปไตยในประชาคมโลกมีอิทธิพลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน การพิทักษ์สิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิเด็ก สตรี และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยจำต้องปรับตัวและทบทวนกระบวนทัศน์การพัฒนาในทิศทางแห่งการพึ่งตนเอง ที่สอดคล้องกับกระแสทางเลือก ซึ่งกำลังเกิดขึ้นหลายจุดในทุกมุมโลก

ผลงานของรัฐบาลที่ยังไม่สามารถกระทำให้ลุล่วง คือ การวางรากฐานการบริหารจัดการบ้านเมือง และแนวทางในการประสานประโยชน์ร่วมกันกับประเทศต่างๆ ในประชาคมโลกให้เกิดขึ้น ภายใต้อายุของรัฐบาลที่จำกัด

ประเด็นวิกฤติด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยประสบกับอุปสรรคในการพัฒนา อันมีมูลเหตุสำคัญมาจากการเสียเวลาไปกับการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกในระบบการเมือง การถูกครอบงำความคิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้คนไทยมีค่านิยมและทัศนคติที่ลื่นไหลไปตามกระแสโลก ส่งผลให้ความสามารถในการพึ่งพาตนเองตกต่ำลง

ในปี 2551 ที่กำลังเริ่มต้นขึ้นนี้ สังคมไทยกำลังต้องการรัฐบาลที่สามารถปรับทิศทางการพัฒนาประเทศให้อยู่ในวิถีของความพอเพียง โดยมุ่งแก้ไขประเด็นวิกฤติต่างๆ ข้างต้น ให้สำเร็จลุล่วง ประชาชนได้เลือกท่านเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ขอให้พวกท่านในฐานะผู้แทนราษฎรพึงได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบระหว่างประโยชน์สุขของคนไทยทั้งประเทศกับส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่กำลังต่อรองกันอยู่ในขณะนี้... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

(เรียบเรียงจากร่างรายงานการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงและการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

No comments: