เศรษฐกิจที่พัฒนาจนมาเป็นระบบที่เราเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้นั้น ล้วนมีพื้นฐานจากกิจกรรมหลักสองประการ ได้แก่ กิจกรรมการผลิต และกิจกรรมการบริโภค หากระบบใดมีภาวะของการผลิตเท่ากับภาวะของการบริโภคแล้ว ก็จะเป็นระบบเศรษฐกิจที่สมดุลในตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยแวดล้อมภายนอกใดๆ เรียกว่าเป็นระบบที่อยู่ในภาวะอุดมคติ
ในความเป็นจริง ระบบเศรษฐกิจในชุมชนหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค หรือระดับประเทศ จะไม่สามารถดำรงภาวะคงตัวได้อย่างสมบูรณ์ในตัวเอง จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนหรือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ชุมชนจึงอาจผลิตของที่มิได้ใช้เพื่อการบริโภคเองทั้งหมด หรือก็มิได้บริโภคในสิ่งที่ตัวเองผลิตได้เท่านั้น
ตราบเท่าที่ชุมชนนั้นๆ สามารถที่จะรักษาสัดส่วน หรือขนาดของการผลิตให้เท่ากับสัดส่วนหรือขนาดของการบริโภคอยู่ได้ ชุมชนนั้นก็จะไม่ประสบกับปัญหาในระบบเศรษฐกิจ แต่หากเมื่อใดก็ตามที่ชุมชนนั้นไม่สามารถรักษาระดับของการผลิตให้ใกล้เคียงกับระดับของการบริโภคเป็นระยะเวลานาน ในกรณีนี้คือ สัดส่วนการผลิตน้อยกว่าสัดส่วนการบริโภค ชุมชนก็จะประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ เกิดภาวะที่ต้องพึ่งพาปัจจัยการบริโภคจากภายนอกมาก ซึ่งหากไม่พยายามลดสัดส่วนการบริโภคของตัวเองลง ก็จะต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคเหล่านั้น
การพัฒนาในยุคที่ผ่านมา ยังทำให้กิจกรรมการผลิตและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจนั้นแยกออกต่างหากจากกันอย่างเด็ดขาด ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องบริโภคในสิ่งที่ตนเองผลิตได้ ในขณะที่ผู้บริโภคก็ไม่จำเป็นต้องผลิตในสิ่งที่ตนเองต้องการบริโภค
ผลที่ตามมาก็คือ กิจกรรมการแลกเปลี่ยนและการจัดสรรผลผลิตในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเดิมมุ่งเน้นที่การแลกเปลี่ยนและการจัดสรรผลผลิต กลายมาเป็นกิจกรรมการแลกเปลี่ยนและการจัดสรรผลผลิตที่นอกจากจะใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแล้ว ยังใช้เงินทำหน้าที่ในการรักษามูลค่า ใช้เป็นทุน และใช้เป็นสินค้าได้ด้วย ผู้ผลิตจึงมุ่งผลิตสินค้าและบริการขายแลกกับเงินเพื่อการสะสมทุนและการลงทุนสำหรับการผลิตในรอบต่อไป ในขณะที่ผู้บริโภคก็มุ่งทำงานแลกกับเงินเพื่อการเก็บออมและการใช้จ่ายในการบริโภคสินค้าและบริการ พัฒนาการของระบบเศรษฐกิจจึงเข้าสู่ยุคทุนนิยมไปโดยปริยาย
ด้วยเหตุนี้ ทุกชุมชนต่างก็พยายามแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอด และเพื่อสะสมความมั่งคั่งไว้ในชุมชนของตัว สภาวการณ์ของการแข่งขันเช่นนี้ ก่อให้เกิดผลได้ผลเสียในระบบเศรษฐกิจของแต่ละชุมชน ชุมชนใดที่ไม่สามารถปรับตัวหรือพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันกับชุมชนอื่นๆ ได้ ก็จะถูกดึงเอาทรัพยากรและความมั่งคั่งออกไปจากชุมชน จะเกิดการเอารัดเอาเปรียบจากภายนอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนระบบเศรษฐกิจในชุมชนนั้นล่มสลายในที่สุด
การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน มักมุ่งไปที่ความพยายามในการลดการเอารัดเอาเปรียบจากภายนอก โดยใช้วิธีการชดเชยหรือมาตรการตอบโต้ในรูปแบบต่างๆ ผ่านทางหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือหรือเข้าไปแก้ไขปัญหา อาทิเช่น ขบวนการช่วยเหลือจากมูลนิธิในรูปของเงินบริจาค ทุนการศึกษา ทุนประกอบอาชีพ ฯลฯ ขบวนการอุดหนุนจากหน่วยงานรัฐในรูปของโครงการจำนำผลผลิต โครงการประกันราคาผลผลิต การจัดมหกรรมหรือนิทรรศการเพื่อระบายผลผลิต ฯลฯ และขบวนการเพิ่มอำนาจต่อรองจากองค์การพัฒนาเอกชนในรูปของการรวมกลุ่มชาวบ้าน เพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหา การเผยแพร่ปัญหาให้สังคมได้รับรู้ในวงกว้าง การสร้างกลุ่มแกนนำชุมชน ฯลฯ
แม้แต่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยการสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน หรือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ก็อาจจะไม่ช่วยลดภาวะความเสียเปรียบไปได้ และอาจจัดเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จึงควรมุ่งให้ชุมชนมี "การผลิตหรือการบริโภคเพื่อแก้ทุกข์" โดยเริ่มจากสิ่งที่เป็นความจำเป็นพื้นฐาน หรือปัจจัยสี่และสิ่งที่เป็นความมั่นคงปลอดภัยในการดำรงชีวิต เป็นพื้นฐานก่อน และหากมีศักยภาพเหลือพอ จึงค่อยมี "การผลิตหรือการบริโภคเพื่อสร้างสุข" ในสิ่งที่เป็นความสะดวกสบายหรือสิ่งที่เป็นความหรูหราได้บ้าง แต่สิ่งที่ชุมชนพึงละเว้นเด็ดขาด คือ "การผลิตหรือการบริโภคเพื่อสร้างทุกข์" ในสิ่งที่เป็นอบายมุขต่างๆ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนโดยรวม
การพิจารณากิจกรรมการผลิตและการบริโภคข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงทางเลือกในกระบวนการผลิตและการบริโภคที่ควรนำไปสู่ "การสิ้นไปของความทุกข์" มากกว่าการใช้ทรัพยากรไปเพื่อการสร้างสุขหรือความพึงพอใจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการตัดสินใจเลือกเส้นทางการผลิตและการบริโภคโดยใช้เหตุผลจากการพิจารณาปัจจัยต่างๆ ตลอดจนคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากทางเลือกนั้นๆ อย่างรอบคอบ เป็นคุณลักษณะด้าน "ความมีเหตุผล" ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ส่วนการแก้ไขโดยการลดสัดส่วนการบริโภคให้มีปริมาณพอเหมาะพอดีกับสัดส่วนการผลิต เป็นคุณลักษณะด้าน "ความพอประมาณ" ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งส่งผลให้สามารถลดภาระหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมมา เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคในส่วนที่เกินกำลังการผลิตของตัวเอง
ขณะที่การแก้ไขโดยการผลิตในสิ่งที่ต้องบริโภคใช้สอยในครัวเรือนหรือในชุมชน หรือการบริโภคในสิ่งที่ชุมชนผลิตได้เอง ไม่ต้องซื้อหามาจากภายนอก เป็นความพยายามที่จะไม่ทำให้กิจกรรมการผลิตและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจนั้นแยกออกต่างหากจากกันอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ เพื่อการสร้าง "การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว" อันเป็นอีกคุณลักษณะหนึ่งในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการพึ่งตนเอง ลดการพึ่งพาจากภายนอก
ด้วยวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะทำให้ระบบเศรษฐกิจสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ เป็นการแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงความสมดุล ที่ถึงพร้อมด้วยคุณลักษณะทั้งสามประการ คือ ความมีเหตุผล ความพอประมาณ และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงโดยแท้... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) [Archived]
Tuesday, January 22, 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
ขอบคุณนะคะ เป็นบทความที่มีประยชน์มากค่ะ
เพราะดิฉันกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชนพอดี
Post a Comment