กรณีที่ถูกมองว่าซีเอสอาร์เป็นเรื่องที่จำกัดอยู่เฉพาะในวงของบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทที่เป็นเอสเอ็มอีไม่ค่อยรู้เรื่องหรือไม่สามารถทำได้ แม้จะรู้สึกได้ว่าเป็นเช่นนั้น แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ยังมีบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กอีกหลายแห่งที่ทำเรื่องซีเอสอาร์มาอย่างยาวนาน เพียงแต่ไม่ได้ใช้คำว่าซีเอสอาร์ หรือไม่ได้สื่อสารกับคนภายนอกให้เป็นที่รับรู้ ฉะนั้น การที่สังคมภายนอกไม่รู้ ไม่ได้หมายความว่า องค์กรเหล่านี้ไม่ได้ทำเรื่องซีเอสอาร์
กรณีที่สังคมเข้าใจว่าองค์กรธุรกิจทำซีเอสอาร์ไปเพื่อกลบเกลื่อนความไม่ดีของตนเอง ที่ไปสร้างความเสียหายให้แก่สังคม จึงต้องใช้การสร้างภาพลักษณ์ด้วยการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์เพื่อลดกระแสต่อต้านจากสังคม องค์กรธุรกิจจำพวกที่ว่านี้ก็มีอยู่จริง จนมีคำเรียกกิจกรรมดังกล่าวนี้ว่าเป็นซีเอสอาร์เทียม ด้วยเหตุที่กิจการเหล่านี้เอาแต่คำนึงถึงประโยชน์ของตัวแต่ฝ่ายเดียว ไม่ได้ห่วงใยในผลกระทบที่มีต่อสังคมซึ่งเกิดจากกระบวนการทางธุรกิจของตน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่ายังมีองค์กรธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์เพื่อยังประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างจริงจัง โดยที่มิได้คาดหวังผลตอบแทนทางธุรกิจใดๆ กิจกรรมที่เกิดจากองค์กรธุรกิจในกลุ่มนี้เอง จึงได้ถูกเรียกขานว่าเป็นซีเอสอาร์แท้
ด้วยเหตุนี้ การประเมินสถานการณ์เพื่อวางแผนในการขับเคลื่อนเรื่องซีเอสอาร์นั้น จึงต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน มิฉะนั้นแล้ว อาจจะทำให้เกิดช่องว่างหรือเกิดความล่าช้าในการพัฒนา ทั้งนี้ หนทางการขับเคลื่อนเรื่องซีเอสอาร์นั้น ควรต้องมองเป็น “ขบวน” ซึ่งมีระดับขั้นของพัฒนาการที่แตกต่างกัน... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ 20CEOs20IDEAs)

No comments:
Post a Comment