Friday, December 19, 2008

องค์กรกระชับรูป (Lean Enterprise)

คอลัมน์ “บริหารธุรกิจ-บริบาลสังคม” ซึ่งหากจะเขียนในภาษาอังกฤษ ก็น่าจะมีชื่อว่า Business Administration & Social Responsibility นัยว่า จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับหลักการ แนวคิด ทฤษฎี รวมทั้งแนวปฏิบัติในการบริหารธุรกิจ ขณะเดียวกัน ก็มีส่วนประสมของความรับผิดชอบต่อสังคมผนวกอยู่ในวิถีของการดำเนินธุรกิจนั้นด้วย หรือถ้าจะพูดไม่ให้เยิ่นเย้อมากนัก ก็เป็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมนั่นเอง

ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นชื่อคอลัมน์ มิได้มีทัศนคติต่อธุรกิจในแง่ลบแต่ฝ่ายเดียว หรือคิดเอาว่าธุรกิจที่ผ่านมาไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเลยหรือ ในความเป็นจริง ทุกธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดหรือในสาขาใด ต่างก็มีส่วนในการรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ ไม่อย่างนั้น กิจการนั้นๆ ก็คงไม่สามารถอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ได้ เพราะสังคมหรือภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลก็คงไม่ปล่อยให้กิจการดำเนินอยู่โดยปราศจากการประณามหรือการลงโทษใดๆ

แต่ประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาอยู่ที่ “ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่ผ่านมานั้นเพียงพอหรือยัง” ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ในวันนี้สังคมเริ่มตั้งคำถามดังขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่ธุรกิจเองก็พยายามสำรวจตัวเองต่อประเด็นคำถามนี้อย่างจริงจังเช่นกัน

ผมไม่ได้มองแบบนักอุดมคติว่า ธุรกิจจะต้องลดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เหลือศูนย์ หรือไม่ให้มีเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ในวิชาเศรษฐศาสตร์เอง ก็กล่าวไว้ทำนองเดียวกันว่า ในทุกกระบวนการผลิต ก็คือ การทำลายรูปแบบหนึ่ง เป็นการแปรสภาพจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งหากสิ่งที่แปรสภาพใช้การได้ เราก็เรียกว่า ผลิตภัณฑ์ (product) ซึ่งรวมทั้งสินค้า (goods) และบริการ (service) แต่หากสิ่งที่แปรสภาพมาใช้การไม่ได้ เราก็เรียกว่า ของเสีย (waste) และในความเป็นจริง จะไม่มีกระบวนการผลิตใด ที่จะไม่มีของเสียออกมาเลย

ขณะเดียวกัน ในฝั่งของปัจจัยนำเข้า (input) สู่กระบวนการผลิต ธุรกิจก็จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นปัจจัยในการผลิตไม่มากก็น้อย ฉะนั้น ทุกกิจการไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ต่างก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดึงเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีวันหมดไปมาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่เพียงแค่ธุรกิจ แม้กระทั่งเราๆ ท่านๆ ที่นั่งอ่านบทความนี้อยู่ เราก็หายใจเอาอากาศดีจากธรรมชาติเข้าไปในร่างกาย แล้วปล่อยเอาอากาศเสีย คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ภายนอก หนทางแก้ในกรณีนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่การหายใจเข้าให้น้อยๆ เพื่อรักษาอากาศดีให้คงอยู่ไว้มากๆ หรือการหายใจออกให้น้อยๆ เพื่อไม่ไห้มีอากาศเสียมากกว่าที่เป็นอยู่

แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ร่างกายของมนุษย์นั้นมีวิวัฒนาการที่ก้าวล้ำมากกว่าองค์กรธุรกิจ หลายท่านอาจแย้งด้วยซ้ำไปว่า เอาไปเปรียบเทียบกันได้อย่างไร ซึ่งก็เป็นความจริงว่า ธุรกิจยังต้องการการพัฒนาสมรรถภาพอีกมาก เราจึงได้มีเครื่องมือในการพัฒนาสมรรถนะทางธุรกิจที่เกี่ยวกับเรื่องการบริหารการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดการของเสีย อย่างเช่น lean manufacturing และ six sigma ซึ่งในปัจุบันถูกรีแพคเกจในชื่อของ total quality management (TQM)

TQM เปรียบเสมือนเครื่องมือยุคแรกในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตรงที่มุ่งจัดการกับของเสียให้ลดลง ทำให้องค์กรปราศจากไขมันส่วนเกินจากการใช้ทรัพยากรนำเข้าที่ด้อยประสิทธิภาพ อันเป็นบ่อเกิดของการสูญเปล่า 7 ประการ ได้แก่ การผลิตเกิน (overproduction) การขนส่ง (transportation) การรอคอย (waiting) สินค้าคงคลัง (inventory) การชำรุด (defect) กระบวนการมากเกินไป (overprocessing) และการเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น (unnecessary movement) โดยที่การพัฒนาเพื่อลดการสูญเปล่านี้ นำไปสู่การเป็น “องค์กรกระชับรูป” หรือ Lean Enterprise

ในปัจจุบัน เรากำลังก้าวข้ามบริบทของการพัฒนาเพื่อลดของเสีย มาสู่ยุคของการพัฒนาที่ไร้ของเสีย (zero waste) ที่ไม่ได้หมายถึงการลดของเสียให้เหลือศูนย์ แต่เป็นการออกแบบระบบการผลิตที่สามารถนำของเสียจากกระบวนการผลิตหนึ่งมาเป็นทรัพยากรนำเข้า (input) ของอีกกระบวนการผลิตหนึ่ง เช่น การนำขยะมาผลิตเป็นพลังงาน และเป็นยุคของการพัฒนาระบบการผลิตที่สามารถใช้ทรัพยากรหมุนเวียน (renewable resources) ทดแทนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีวันหมดไป เช่น การผลิตที่อาศัยเชื้อเพลิงจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์

ดังนั้น เครื่องมือสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมในวันนี้ จึงมีความน่าสนใจและตอบโจทย์หลายเรื่องที่เครื่องมือในยุคเก่าไม่สามารถให้ได้ ซึ่งจะได้ทยอยนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป...จากคอลัมน์ บริหารธุรกิจ-บริบาลสังคม External Link

No comments: