Saturday, February 10, 2024

เหรียญ 2 ด้านของความยั่งยืน

ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีกิจการอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก จะต่างทยอยปรับมาตรฐานและแนวทางด้านความยั่งยืนในประเทศของตน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานในระดับภูมิภาค เพื่อให้สามารถค้าขายและส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ

ปัจจุบัน เราได้ยินภาคเอกชนออกมาสื่อสารกันอย่างแข็งขันว่า องค์กรของตนมุ่งมั่นและดำเนินกิจการโดยยึดโยงเรื่องความยั่งยืนเป็นที่ตั้ง มีการพูดถึงและบรรจุเรื่องความยั่งยืนไว้ทั้งในระดับนโยบาย แผนงาน กลยุทธ์ และตัววัดในแต่ละขั้นตอนการดำเนินงาน รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานในรูปแบบเฉพาะเจาะจงที่เรียกกันว่า รายงานแห่งความยั่งยืน ซึ่งมีการจัดทำเป็นรายปี เหมือนกับรายงานประจำปี

สิ่งที่เป็นคำถามซึ่งดังขึ้นเรื่อย ๆ ไม่แพ้กับกระแสนิยมเรื่องความยั่งยืน คือ ธุรกิจส่วนใหญ่ที่นำเรื่องความยั่งยืนมาดำเนินการนั้น มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนของใคร เป็นความยั่งยืนในส่วนตัวกิจการเอง หรือเป็นความยั่งยืนของส่วนรวม

ไม่ปฏิเสธว่า องค์กรธุรกิจย่อมต้องพิจารณาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่ตอบสนองต่อความยั่งยืนของกิจการและความยั่งยืนของส่วนรวมควบคู่ไปพร้อมกัน แต่สิ่งที่ควรพิจารณาต่อ คือ การให้น้ำหนักความสำคัญของการดำเนินการระหว่างประเด็นความยั่งยืนของกิจการและประเด็นความยั่งยืนของส่วนรวม

เครื่องมือที่องค์กรใช้ในการพิจารณาให้น้ำหนักความสำคัญของการดำเนินการประเด็นความยั่งยืน เรียกว่า การวิเคราะห์สารัตถภาพ (Materiality Analysis) ซึ่งเป็นการค้นหาและระบุประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญที่บริษัทจำเป็นต้องดำเนินการ อันถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

ซึ่งหากองค์กรนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ดำเนินการ โดยมิได้สะท้อนประเด็นสาระสำคัญในทั้งสองส่วน ก็หมายความว่า การดำเนินงานขององค์กรตามที่ตั้งใจ อาจมิได้ตอบโจทย์ความยั่งยืนตามที่ควรจะเป็น

จึงเป็นที่มาของการวิเคราะห์ประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญในรูปแบบของ ทวิสารัตถภาพ (Double Materiality) ที่ประกอบด้วย การพิจารณาที่ผนวกการวิเคราะห์สารัตถภาพทางการเงินที่เป็นผลจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (แบบ Outside-in) เข้ากับการวิเคราะห์สารัตถภาพเชิงผลกระทบที่เกิดจากองค์กรทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (แบบ Inside-out)

สารัตถภาพที่ได้ตามการวิเคราะห์ทางการเงิน (Financial Materiality) จะเป็นข้อมูลส่วนที่สนองความต้องการของผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้น (Shareholders) ที่มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการ ขณะที่สารัตถภาพที่ได้ตามการวิเคราะห์ผลกระทบ (Impact Materiality) จะเป็นข้อมูลส่วนที่สนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนโดยรวม

การตอบโจทย์ความยั่งยืนทั้งในส่วนของกิจการและความยั่งยืนของส่วนรวม เปรียบเสมือนเหรียญสองด้านของความยั่งยืน ที่ต้องไปด้วยกัน ไม่สามารถละทิ้งด้านใดด้านหนึ่ง หรือเพิกเฉยต่อประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญของอีกด้านหนึ่งได้

อนึ่ง หลักการทวิสารัตถภาพ หรือ Double Materiality Principle ปรากฏอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในเอกสารแนวทางการรายงานข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน: ส่วนเสริมของการรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นผู้เสนอ เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2019

ทั้งนี้ คณะที่ปรึกษาการรายงานข้อมูลทางการเงินแห่งยุโรป (EFRAG) ได้เป็นผู้จัดทำร่างข้อกำหนดการรายงานข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ (CSR Directive) รวมถึงหลักการทวิสารัตถภาพ ให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อเสนอต่อสภายุโรปให้บังคับใช้ ซึ่งมีผลใช้บังคับสำหรับการรายงานในรอบบัญชี ปี ค.ศ. 2024 เป็นต้นไป

ทำให้บริษัทจดทะเบียนและบริษัทขนาดใหญ่ราว 50,000 แห่ง ที่เข้าเกณฑ์ของ CSR Directive ต้องเริ่มจัดทำรายงานความยั่งยืนตามหลักการทวิสารัตถภาพ และจะบังคับใช้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ตั้งแต่รอบบัญชี ปี ค.ศ. 2026 รวมทั้งสาขาของบริษัทนอกสหภาพยุโรปที่มีการดำเนินกิจการในสหภาพยุโรปซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ ตั้งแต่รอบบัญชี ปี ค.ศ. 2028 ตามลำดับ

และเป็นผลให้กิจการที่ต้องการยกระดับการรายงานความยั่งยืนให้สอดรับกับมาตรฐานสากล เนื่องจากมีการดำเนินการค้าขายหรือมีสาขากิจการอยู่ในสหภาพยุโรปซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ จะต้องริเริ่มเตรียมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนโดยมีการประเมินทวิสารัตถภาพที่สอดคล้องกับมาตรฐาน ESRS (European Sustainability Reporting Standards)

และเป็นที่คาดหมายว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีกิจการอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก จะต่างทยอยปรับมาตรฐานและแนวทางด้านความยั่งยืนในประเทศของตน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานในระดับภูมิภาค เพื่อให้สามารถค้าขายและส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ ของตนในภูมิภาคยุโรปได้อย่างราบรื่น


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: