Thursday, November 18, 2010

ทำรายงาน CSR ให้เป็นมากกว่ารายงาน

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative : GRI) ได้เดินทางมาเปิดเวิร์คชอปแนะนำการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 90 คน

หน่วยงาน GRI เป็นผู้ริเริ่มพัฒนากรอบการรายงานแห่งความยั่งยืนที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ด้วยความยึดมั่นในการปรับปรุงและการนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในระดับโลก โดยกรอบการรายงานของ GRI ปัจจุบันพัฒนาอยู่ที่ฉบับ G3 ได้มีการนิยามหลักการและตัวชี้วัด ซึ่งองค์กรสามารถใช้วัดและรายงานผลการดำเนินงานทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปควบคู่กัน

ในกรอบการรายงานฉบับ G3 ได้แบ่งกระบวนการจัดทำรายงานออกเป็น 5 ระยะ (Prepare -> Connect -> Define -> Monitor -> Report) โดยมีรายละเอียดในแต่ละระยะอย่างสังเขป ดังนี้

PREPARE - เป็นขั้นของการเตรียมการภายในองค์กร ซึ่งกิจการอาจมีการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญภายนอกได้ แต่จุดมุ่งหมายหลักคือการปรับวางกระบวนภายในให้พร้อมเริ่มต้น ด้วยความเข้าใจและสามารถระบุถึงแง่มุมที่สำคัญสุดขององค์กรในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

CONNECT - เป็นขั้นของการพูดคุยหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกองค์กรต่อเรื่องที่ได้เลือกมารายงาน อันนำไปสู่การกำหนดเนื้อหาของรายงานและการจัดเตรียมระบบที่ให้ได้มาซึ่งเนื้อรายงาน ในขั้นตอนนี้ กิจการจำต้องสามารถที่จะระบุตัวผู้มีส่วนได้เสียหลักๆ ทั้งในและนอกองค์กร เพื่อขอความเห็นประกอบการตัดสินใจต่อการจัดทำรายงานที่เหมาะสม

DEFINE - เป็นขั้นของการกำหนดเป้าประสงค์และเนื้อหารายงาน ซึ่งอาจมีการปรับกระบวนการภายใน ให้เอื้อต่อการจัดทำรายงาน หลังจากที่ได้รับฟังเสียงสะท้อนในองค์กรและข้อแนะนำจากภายนอก รวมถึงการพิจารณาเพิ่มเติมตัวชี้วัดสำหรับการรายงานในระยะต่อไป

MONITOR - เป็นขั้นของการติดตามเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต่อการรายงานตามตัวชี้วัดที่กำหนด ข้อมูลที่ได้ต้องมีคุณภาพและความถูกต้องน่าเชื่อถือ มีวิธีการและการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ประสิทธิภาพ ซึ่งขั้นตอนนี้จะทอดระยะเวลานานสุดและดำเนินไปได้ไม่สิ้นสุด

REPORT - เป็นขั้นของการลงมือเขียนรายงาน ที่เริ่มจากการพิจารณารูปแบบและช่องทางของการรายงาน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ได้รับรายงานกันอย่างทั่วถึง โดยโครงสร้างของตัวรายงานนั้นไม่มีแบบที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับบุคลิกของแต่ละองค์กร อย่างไรก็ดี ในคู่มือของ GRI ได้ให้คำแนะนำสำหรับการวางโครงสร้างไว้เป็นแนวทางเบื้องต้นด้วย

กรอบการรายงานของ GRI ได้คำนึงถึงวิธีการวางแผนและนำไปผนวกให้เกิดการเข้าถึง และทวีคุณค่าของกระบวนการจัดทำรายงานที่ถูกกำหนดให้เป็นกระบวนการ (Process) มากกว่าการกำหนดให้เป็นเพียงโครงการ (Project) ที่มุ่งหวังเพียงแค่เอกสารรายงานขั้นสุดท้ายเท่านั้น

เวิร์คชอปแนะนำการจัดทำรายงานที่ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ ได้เปิดโอกาสให้องค์กรธุรกิจในประเทศไทย สามารถนำความรู้ไปพัฒนาการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการ ให้มีความก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: