นอกจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในเชิงของการกระทำแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้และต้องดำเนินควบคู่กันไป ก็คือ การเปิดเผยข้อมูลที่สามารถอธิบายถึงเป้าประสงค์ การวางแผน ขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงาน วิธีการติดตาม เกณฑ์การวัดผล ตลอดจนผลจากการดำเนินงานทั้งในทางบวกและลบที่พร้อมรองรับต่อการตรวจสอบจากผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ในรูปของการรายงานสาธารณะ (Public Reporting)
เมื่อพูดถึงกรอบการจัดทำรายงานสาธารณะซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางนั้น หนีไม่พ้นที่จะพูดถึงองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ทำงานในลักษณะเครือข่ายที่มีผู้มีส่วนได้เสียจำนวนราว 20,000 รายทั้งในภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา รวมทั้งสมาคมการค้าต่างๆ จากกว่า 80 ประเทศ ช่วยเหลือร่วมมือกันพัฒนากรอบและแนวปฏิบัติในการจัดทำรายงานความยั่งยืน จนในปัจจุบันได้มีการประกาศแนวปฏิบัติหลัก หรือ Core Guidelines สำหรับการจัดทำรายงานเป็นรุ่นที่สาม (G3) และมีองค์กรธุรกิจที่จัดทำรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวปฏิบัติดังกล่าวนับหลายพันแห่งทั่วโลก
และเป็นครั้งแรกที่ GRI จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) แนะนำการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report อย่างเป็นทางการในประเทศไทย โดยวิทยากรจาก GRI (Mr.Enrique Torres) ผู้จัดการอาวุโสด้านการสอนและการอบรมเดินทางมาถ่ายทอดความรู้โดยตรงให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมทั้งจากบริษัทจดทะเบียน รัฐวิสาหกิจ เอสเอ็มอี และองค์การสาธารณประโยชน์ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรม
กรอบการรายงาน GRI ฉบับ G3 ได้ถูกหยิบยกมาแนะนำ พร้อมวิธีการใช้แนวปฏิบัติ G3 ด้วยภาษาที่เข้าใจได้ในแบบเดียวกัน ตลอดจนการชี้ให้เห็นถึงเหตุผลและวิธีการที่กรอบแนวปฏิบัติ G3 สามารถช่วยให้องค์กรบริหารและรายงานผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
มีการอธิบายให้เห็นถึงกระบวนการรายงาน 5 ระยะตามแบบฉบับ GRI อย่างถ่องแท้ รวมทั้งเทคนิคการเลือกตัวชี้วัดด้วยการทดสอบสารัตถภาพ (Materiality Test) ที่จะช่วยคัดกรองตัวชี้วัดให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กร ตลอดจนการระบุถึงระดับของการรายงานข้อมูลตามเกณฑ์อ้างอิง GRI
นอกจากนี้ GRI ยังได้พัฒนาคู่มือจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน “เส้นทางสร้างคุณค่า” ที่ชี้ให้เห็นวิธีการวางแผนและนำไปผนวกให้เกิดการเข้าถึงและทวีคุณค่าของกระบวนการจัดทำรายงาน ซึ่งจะได้มาก็ต่อเมื่อการรายงานนั้นถูกกำหนดให้เป็นกระบวนการ (Process) มากกว่าที่จะทำเป็นโครงการ (Project) และมิใช่เป็นเพียงกระบวนการที่มุ่งหวังแค่เอกสารรายงานขั้นสุดท้าย
Mr. Enrique Torres วิทยากรจาก GRI ซึ่งเดินทางมาถ่ายทอดความรู้ในประเทศไทยครั้งนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ในหลักสูตรอบรมที่ได้รับการรับรองจาก GRI และมีประสบการณ์ด้านการอบรมให้แก่หน่วยงานทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม มากว่า 15 ปี
งานประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จัดขึ้นโดยสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียภาคองค์กร (Organizational Stakeholder) ของ GRI และสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) โดยได้รับการสนับสนุนจากเครือซิเมนต์ไทย (SCG) บมจ.บางจากปิโตรเลียม และ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท
องค์กรธุรกิจในประเทศไทยที่กำลังพัฒนารายงานแห่งความยั่งยืน จะได้ใช้แนวปฏิบัติของ GRI ในการสร้างกระบวนการจัดทำรายงานให้เป็นเครื่องมือ (mean) ในการขับเคลื่อนงาน CSR ขององค์กรตลอดทั้งปี มากกว่าที่จะมุ่งให้ได้รายงานเป็นจุดหมาย (end) ตอนท้ายปีเท่านั้น...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, November 11, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment