การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดขึ้น ได้เป็นทั้งความท้าทายและความเสี่ยงใหม่ขององค์กรธุรกิจที่จะต้องรับมือกันอย่างจริงจังเสียแล้ว โดยเฉพาะกับมาตรการที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas Emissions) ในกระบวนการธุรกิจ ที่นับวันจะมีกฎระเบียบใหม่ๆ ออกมาบังคับ ทำให้เกิดต้นทุนการประกอบการที่เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมหรือภาษีด้านสิ่งแวดล้อม หากธุรกิจไม่ปฏิบัติตาม หรือมีแรงกดดันจากคู่ค้าด้วยกันเองในสายอุปทาน
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้จัดทำรายงานเรื่อง “Transition to a Low-Carbon Economy: Public Goals and Corporate Practices” หนา 102 หน้า เผยแพร่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ในการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยความรับผิดชอบของกิจการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการปรับปรุงแนวปฏิบัติ OECD สำหรับบรรษัทข้ามชาติในส่วนที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลและสิ่งแวดล้อม
เนื้อหาของรายงานฉบับนี้ มีความน่าสนใจตรงที่ได้แบ่งขั้นตอนการปฏิบัติของภาคธุรกิจออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก (Accounting GHG) ลดปริมาณการปล่อย (Reducing Emissions) และชักนำผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม (Reaching out)
ในเรื่องการจัดทำบัญชีปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจการ คิดจากหลักที่ว่า “you can manage what you know” คือ ถ้าองค์กรจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ต้องมี Baseline Data ก่อนว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ปริมาณการปล่อยของกิจการมีมากน้อยขนาดไหน ทำให้เกิดความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพภูมิอากาศอันส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจหรือไม่อย่างไร การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกนี้ นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการวางนโยบายหรือแผนการลดปริมาณการปล่อยขององค์กรเองแล้ว ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ อาทิ ผู้บริโภค หุ้นส่วนการค้า สถาบันการเงิน ฯลฯ จากการที่องค์กรได้แสดงให้เห็นถึงข้อสนเทศและแนวการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกิจการที่เป็นรูปธรรม
ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กิจการมีแนวโน้มที่จะเผชิญ ได้แก่ ความเสี่ยงจากกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นทั้งจากในประเทศและระหว่างประเทศ ความเสี่ยงในการประกอบการจากการที่ต้นทุนด้านพลังงานและคมนาคมเพิ่มขึ้นหรือจากความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศ ความเสี่ยงในตัวผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่มีการปล่อยคาร์บอนเข้มข้น (carbon intensive) ความเสี่ยงในการสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน ความเสี่ยงต่อชื่อเสียงจากการด้อยบทบาทในเรื่องดังกล่าว ความเสี่ยงทางกายภาพที่ส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจ เช่น การขาดแคลนปัจจัยการผลิต ปัญหาสุขภาพจากมลภาวะ ความเสี่ยงต่อการเป็นคดีความจากการละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และความเสี่ยงในสายอุปทานกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากผู้ส่งมอบที่ไม่ดำเนินการปรับตัว
จากการสำรวจของ WRI/WBCSD (2008) พบว่ามีความริเริ่ม แนวปฏิบัติ หรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนี้อยู่ไม่น้อยกว่า 70 แหล่ง อาทิ ISO 14067 (carbon footprint of products) ที่กำลังร่างกันอยู่ นอกเหนือจาก ISO 14025 (environmental labels and declarations) และในซีรีส์ ISO 14040 (environmental management - life cycle assessment) หรือแนวปฏิบัติสำหรับการบัญชีและการรายงานก๊าซเรือนกระจก (GHG accounting and reporting) สำหรับผลิตภัณฑ์และสายอุปทานภายใต้ GHG Protocol Initiative ที่กำลังจะเผยแพร่ภายในปีนี้
ในเรื่องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเด็นสำคัญคือการกำหนดเป้าหมายที่จะลด โดยแผนงานที่มีข้อมูลฐานมาจากส่วนแรกจะนำไปสู่ความก้าวหน้าที่วัดผลได้ และช่วยเพิ่มในเรื่องประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและพลังงาน อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีในองค์กร กลยุทธ์ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิผล จะต้องฝังรากความคิดและการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในกลไกการกำกับดูแลกิจการ (corporate governance) เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตั้งแต่คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานตลอดทั่วทั้งองค์กร
ในเรื่องการชักนำผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม จะเกี่ยวโยงกับผู้มีส่วนได้เสียสำคัญสองกลุ่มหลัก คือ คู่ค้าในสายอุปทาน (supply chain) และลูกค้าในสายคุณค่า (value chain) บรรดาบริษัทผู้นำในการลดรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) ต่างใช้วิธีการในการชักจูงผู้ส่งมอบ (suppliers) และผู้บริโภค (consumers) ด้วยการให้ข้อมูล สร้างการรับรู้ ผลักดันให้มีการส่งมอบวัตถุดิบที่มาจากกระบวนการปล่อยคาร์บอนต่ำ จูงใจให้มีการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากกระบวนการผลิตและการขนส่งที่ปล่อยคาร์บอนต่ำเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ธุรกิจยังสามารถชักนำด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของรัฐ การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาหรือในท้องถิ่นที่ธุรกิจไปตั้งถิ่นฐานประกอบการอยู่ หรือการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในระดับของการรณรงค์และการจัดทำโครงการความร่วมมือในลักษณะต่างๆ
ท่านที่สนใจอ่านรายงานฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.oecd.org/dataoecd/40/52/45513642.pdf...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, August 05, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment