วันนี้กระแสเรื่องการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ของกิจการต่างๆ ทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีรูปแบบขององค์กรหรือคำเรียกใหม่ๆ เกิดขึ้น เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ขององค์กรที่ต้องการยกระดับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงกับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมโลกที่มีพลวัตสูงขึ้น
คำเรียกใหม่ๆ ที่ได้ยินกันถี่ขึ้นในช่วงนี้ ก็มีอย่างเช่น Social Enterprise, Social Entrepreneur, Social Entrepreneurship ฯลฯ โดยมีผู้ที่พยายามเปรียบเทียบกับคำว่า CSR ว่าต่างกันอย่างโน้นอย่างนี้บ้าง จนชวนให้สับสนและบ้างก็เข้าใจคลาดเคลื่อนกันไปก็มี
ความพยายามในการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง Social Enterprise กับ CSR ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจทั้งสองเรื่องได้ชัดเจนขึ้น แต่การเทียบโดยมิได้ศึกษาเนื้อหาอย่างรอบด้านของทั้งสองเรื่อง หรือมีเจตนาที่จะส่งเสริมเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเอนเอียง ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเสียแล้ว ความพยายามนั้นก็อาจส่งผลร้ายกับคนในสังคมที่บริโภคข้อมูลโดยขาดการพินิจพิเคราะห์ไปอย่างน่าเสียดาย
เริ่มด้วยรูปศัพท์ (Social) Enterprise คือ วิสาหกิจ, การประกอบการ ส่วน (Corporate Social) Responsibility คือ ความรับผิดชอบ คำแรกนั้นนำหน้าด้วย “การ” หมายถึง สิ่งหรือเรื่องที่ทำ (รวมๆ กันหลายเรื่อง ก็เรียก “องค์การ”) ขณะที่คำหลังนั้นนำหน้าด้วย “ความ” เพื่อแสดงสภาพของเรื่องที่ทำ การจะเปรียบเทียบ “การกระทำ” กับ “สภาพของการกระทำ” ก็อาจพิจารณาได้ว่าอยู่กันคนละฐาน ไม่สามารถนำมาเทียบกันโดยตรงได้
ด้วยเหตุที่ประเภทของวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น เป็นได้ทั้ง องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (non-profits) และที่แสวงหากำไร (for-profits) เมื่อการประกอบการเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคม ก็เรียกได้ว่า วิสาหกิจนั้นไม่ว่าจะแสวงหากำไรหรือไม่แสวงหากำไร ก็ถือว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยนัยอยู่แล้ว
ทั้งนี้ สำหรับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ก็มักเรียกว่า มี SR (ยึดตามฐานนิยมที่มองว่า Corporate มักเรียกกับองค์กรธุรกิจ จึงตัดตัว C ออก) ขณะที่องค์กรที่แสวงหากำไร ก็เรียกว่า มี CSR (อันที่จริงคำว่า Corporate หมายรวมถึงองค์กรประเภทอื่นได้ด้วย การที่หน่วยงานรัฐหรือองค์กรพัฒนาเอกชนจะเรียกว่าตนเองมี CSR ด้วย ก็ดูจะไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด) ดังนั้น Social Enterprise จึงมี CSR ในตัวโดยปริยาย
ส่วนที่มีการกล่าวว่า CSR คือ กิจกรรมเพื่อสังคม เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่เกิดขึ้นปลายทางหลังจากที่ธุรกิจมีกำไรและมั่นคงแล้ว จึงหาหนทางในการตอบแทนคืนสู่สังคมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต่างจาก Social Enterprise ที่มีหัวใจหลักของการประกอบการอยู่ที่สังคมตั้งแต่ต้นทาง ถ้อยความนี้แสดงให้เห็นถึงการมอง CSR ในมิติที่เป็น CSR-after-process เพียงด้านเดียว
ในแวดวงขององค์กรที่ทำ CSR ทั้งในประเทศและนานาประเทศ ต่างเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในบริบทของ CSR นั้น เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้นทาง หรือ ณ วันแรกของการประกอบการ เป็น CSR ที่ผนวกเข้าในกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจ (หรือที่เรียกกันว่า CSR-in-process) อาทิ การกำกับดูแลองค์กร การปฏิบัติด้านแรงงาน การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ประเด็นด้านผู้บริโภค ฯลฯ การที่มิได้ศึกษาเนื้อหาอย่างรอบด้านหรือจงใจที่จะตีความ CSR ในความหมายที่แคบ แม้จะมีเจตนาดีที่จะส่งเสริมเรื่อง Social Enterprise ให้แพร่หลาย แต่ก็ไม่น่าจะส่งผลดีต่อความเข้าใจของสังคมในระยะยาว
แม้การที่องค์กรธุรกิจส่วนหนึ่ง จะพยายามใช้ประโยชน์จาก CSR ในการสร้างภาพลักษณ์หรือใช้เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ จนทำให้คุณค่าของ “การปฏิบัติ” เรื่อง CSR ดูจะด้อยค่าลงไปในสายตาของสาธารณชน แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับ “หลักการ” ของความรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้นิยามไว้
ในทำนองเดียวกัน การที่องค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่ง กำลังจะเปลี่ยนคำเรียกตนเองว่าเป็น Social Enterprise นั้น ก็อาจทำได้เพียงรูปแบบ (form) แต่มิได้ยกระดับการทำงานในเชิงเนื้อหา (substance) ด้วยการใช้ market-based strategies หรือ business models ในการตอบสนองวัตถุประสงค์ทางสังคมได้อย่างที่นิยามไว้เหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้ เจ้าของกิจการหรือนักธุรกิจบางท่านที่กำลังจะผันกิจการไปสู่ Social Enterprise ก็ต้องพึงระลึกว่า ตนเองและพนักงานในองค์กรพร้อมแล้วที่จะปรับพันธกิจในการดำเนินงานขององค์กรเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก หรือจะดำเนินธุรกิจในรูปแบบปกติแต่มี CSR ที่สังคมให้การยอมรับ หรือจะดำเนินธุรกิจในแบบที่เรียกว่า Social Business โดยมีวัตถุประสงค์ทางสังคมกำกับ ซึ่งก็เป็นอีกคำหนึ่งที่มูฮัมหมัด ยูนูส ผู้บุกเบิกธุรกิจเพื่อสังคมในบังกลาเทศ บอกว่ามีความแตกต่างจาก Social Enterprise (อีกแล้ว) ซึ่งในโอกาสต่อไป จะได้นำมาขยายความกัน...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, June 24, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment