Saturday, November 19, 2022

COP 27 กับการหารือกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา (6-18 พ.ย.) ได้มีการจัดประชุม COP 27 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 ณ เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณัฐอาหรับอียิปต์

COP หรือ Conference of Parties เป็นการประชุมประจำปีเพื่อหารือรายละเอียดความร่วมมือ และกำหนดทิศทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก โดยมีรัฐสมาชิก 193 ประเทศขององค์การสหประชาชาติส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม โดยได้จัดประชุมสมัยแรกเมื่อปี ค.ศ.1995


โดยสาระสำคัญของการประชุม COP ในสมัยที่ 27 นี้ คือ การทำตามคำมั่นสัญญาที่จะบรรลุเป้าหมายตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้ประชาคมโลก ต้องร่วมกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้ภายในปี ค.ศ.2100

หนึ่งในวาระการประชุมที่ได้รับความสนใจมาก คือ การพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตที่เป็นไปตามบทบัญญัติของความตกลงปารีส ในข้อ 6

ในบทบัญญัติ ข้อ 6 มีเนื้อหาสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ ข้อ 6 ย่อหน้า 2 ที่รัฐภาคีจะต้องมีกลไกการบันทึกบัญชีคาร์บอนที่มีการใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถ่ายโอนระหว่างประเทศ (ITMO) เพื่อบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) โดยมิให้เกิดการนับซ้ำ (Double Counting) ตามแนวทางที่รับรองโดยที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส

และข้อ 6 ย่อหน้า 4 ที่รัฐภาคีจะต้องมีกลไกที่นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีองค์กรกำกับดูแล (Supervisory Body) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส เป็นผู้ให้ความเห็นชอบและรับรองคาร์บอนเครดิต ที่ในเอกสารร่างข้อบท (draft text) ผลการประชุม เรียกว่า คาร์บอนเครดิตประเภท A6.4ERs ที่สามารถใช้เป็น ITMO และ/หรือบรรลุ NDC ได้

หมายความว่า คาร์บอนเครดิตประเภท Certified Emission Reductions (CERs) ซึ่งเป็นใบรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงภายใต้โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ซึ่งออกโดยคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาดแห่งสหประชาชาติ ตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต จะมีการถ่ายโอนมาใช้บรรลุ NDC ตามความตกลงปารีสได้บางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด (ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการและระยะเวลาที่ได้ใบรับรอง)

ส่วนคาร์บอนเครดิตประเภท Voluntary Emission Reductions (VERs) ซึ่งเป็นใบรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ยังไม่สามารถนำมาใช้เพื่อบรรลุ NDC ได้ จนกว่าจะมีกฎกติกาจาก Supervisory Body ที่แสดงถึงมาตรฐานการรับรองที่เทียบเท่ากับคาร์บอนเครดิตประเภท A6.4ERs ตามที่รับรองโดยที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส

ทำให้ราคาของคาร์บอนเครดิตประเภท VERs ที่ได้จากการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจในปัจจุบัน จะไม่สามารถถีบตัวสูงขึ้นเท่าราคาตลาดคาร์บอน (ภาคบังคับ) ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เพราะเป็นคาร์บอนเครดิตคนละตลาดกับที่ใช้ในกลไก NDC

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอที่บางประเทศ เห็นต่างกับการมี Supervisory Body ในลักษณะการรวมศูนย์จัดการ รวมถึงแนวทางในการกักเก็บคาร์บอนที่ควรจะเป็นไปแบบถาวร โดยไม่มีโอกาสถูกปลดปล่อยใหม่ ซึ่งยังมีข้อถกเถียงว่า วิธีการทางธรรมชาติ อย่างการปลูกป่า สามารถใช้ได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาความเสี่ยงภัยทางธรรมชาติ เช่น ไฟป่า หรือการรุกล้ำโดยมนุษย์ เช่น ถางป่าเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน ในอนาคต ฯลฯ

หลังจากนี้ ยังคงต้องมีการเจรจาอีกหลายรอบ โดยเฉพาะการหาข้อสรุปในเวทีการประชุมระดับรัฐมนตรี เพราะในเอกสารร่างข้อบท (draft text) ยังมีการใส่ทางเลือกในหลายหัวข้อ และเนื้อหาในวงเล็บอีกหลายเรื่องที่รอการตัดสินใจ

ผู้สนใจเนื้อหาการประชุมในส่วนที่เป็นเอกสารร่างข้อบทเพื่อจัดตั้งกลไกตามความตกลงปารีส ข้อ 6 ย่อหน้า 4 สามารถติดตามได้จากลิงก์ https://unfccc.int/documents/621594


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: