ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (อังคารที่ 30 ต.ค. 2555) สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ภายใต้การดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดงาน CSR DAY Forum ในหัวข้อ “เจาะลึก GRI Reporting v3.1” เพื่ออัพเดทกรอบวิธีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานทั้งหมด 101 คน จาก 65 องค์กร
ในห้วงเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR ได้เดินอยู่ในกระแสของการผนวก CSR เข้ากับกระบวนการทางธุรกิจ ทำให้เรื่องของ CSR เป็นวาระที่ทุกส่วนงานในองค์กรต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง รูปแบบของการขับเคลื่อน CSR จึงปรับเปลี่ยนจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมที่จำกัดเฉพาะส่วนงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในลักษณะกิจกรรม (Event) ที่แยกต่างหากจากการดำเนินงานทางธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ ไปสู่การบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นตลอดกระบวนการ (Process) และทั่วทั้งองค์กร
เมื่อพัฒนาการของ CSR เดินอยู่ในกระแสนี้ บทบาทของการเก็บรวบรวมข้อมูลและการรายงานผลการดำเนินงานด้าน CSR จึงอยู่ในวิสัยที่กิจการทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากองค์กรสามารถบริหารจัดการ เฝ้าสังเกตติดตามผลการดำเนินงาน และกำกับควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ จากการที่กิจการเป็นผู้ดูแลและเป็นเจ้าของกระบวนการนั้นๆ
ขณะที่รูปแบบของการรายงานด้าน CSR ในสมัยก่อน ซึ่งมักเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่กิจการมอบหมายมูลนิธิหรือองค์กรเอกชนหรือผู้รับจ้างไปดำเนินงานให้ในบางส่วนหรือทั้งหมด องค์กรไม่สามารถที่จะบริหารจัดการ เฝ้าสังเกตติดตามผลการดำเนินงาน และกำกับควบคุมการดำเนินงานได้เช่นเดียวกับที่ตนเป็นผู้ดูแลและเป็นเจ้าของกระบวนการนั้นๆ เอง ทำให้การเก็บรวบรวมข้อมูลและการรายงานจึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ รายงานที่เกี่ยวกับ CSR จึงยังไม่ค่อยมีบทบาทในเชิงของการให้คุณค่าแก่ผู้ใช้รายงานมากนัก
จนเมื่องาน CSR ได้ถูกให้ความสำคัญในแง่ที่จะต้องบูรณาการให้เกิดขึ้นในกระบวนการและทั่วทั้งองค์กร บทบาทและคุณค่าของการรายงานจึงเป็นกระแสที่เกิดขึ้นติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีความพยายามที่จะพัฒนากรอบการรายงานที่เป็นสากล การกำหนดเนื้อหาของรายงานที่ได้มาตรฐาน และการใช้ชุดตัวบ่งชี้การดำเนินงานสำหรับการรายงานที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการเปิดเผยแนวทางหรือกรอบการดำเนินงานด้าน CSR ที่จะชี้นำกิจการให้สามารถบรรลุซึ่งเป้าหมายขององค์กรในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรมเห็นชัดและวัดได้
การรายงานด้าน CSR ในปัจจุบัน จึงมักถูกเรียกในชื่อว่า รายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) ซึ่ง GRI ได้เป็นผู้ริเริ่มพัฒนากรอบการรายงานในลักษณะดังกล่าว และได้รับการยอมรับจากองค์กรทั้งที่เป็นภาคธุรกิจและมิใช่ธุรกิจนำไปใช้ในการจัดทำรายงานของตนเองรวมจำนวนแล้วเกือบ 5 พันแห่ง มีรายงานเผยแพร่แล้วนับหมื่นฉบับ ซึ่งกรอบการรายงานฉบับปัจจุบัน เป็นเวอร์ชั่น 3.1 ที่ปรับปรุงจากเวอร์ชั่น 3 เมื่อเดือนมีนาคม 2554 โดยมีการทบทวนตัวบ่งชี้การดำเนินงานหลักจากเดิม 49 ตัวชี้วัด เป็น 55 ตัวชี้วัด การปรับปรุงข้อกำหนดข้อมูลที่นำมารายงานและการเปิดเผยแนวการบริหารจัดการในรายงาน รวมทั้งการปรับเพิ่มประเด็นการรายงาน
สำหรับผู้สนใจที่จะศึกษาแนวทางของ GRI Reporting v3.1 ทางสถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำเอกสาร “รายงานเพื่อความยั่งยืน : Reporting your CSR” Updated GRI version 3.1 ความหนา 50 หน้า เนื้อหาแบ่งออกเป็น 5 บท โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการจัดทำรายงาน 5 ระยะของ GRI และกระบวนการกำหนดเนื้อหาของรายงาน พร้อมภาคผนวก ตัวบ่งชี้การดำเนินงานหลัก (GRI Core Indicators) ฉบับภาษาไทย โดยสามารถติดต่อขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ ในวันและเวลาทำการ หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaicsr.com...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, November 01, 2012
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment