ภัยพิบัติและภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หลายประเทศต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่าสองเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก วิกฤติไฟป่าที่สร้างความเสียหายมหาศาล น้ำท่วมใหญ่ในหลายภูมิภาค สภาพอากาศสุดขั้วและภัยแล้งในหลายทวีป ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นผลจากภาวะโลกร้อนซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
อุปนิสัยสีเขียว (Green Habits) จะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แสดงออกถึงความห่วงใยในความปลอดภัย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิต ภายใต้วิถีแห่งการบริโภคที่ยั่งยืนซึ่งเป็นกระแสหลักของโลก จนเป็นเหตุให้องค์กรธุรกิจจำต้องปรับปรุงและพัฒนากระบวนการดำเนินงาน สายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งบริการต่างๆ ให้อิงกับอุปนิสัยสีเขียวเพิ่มขึ้น
ความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยเยียวยาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มิให้เป็นภัยอันตรายต่อคนรุ่นปัจจุบัน รวมทั้งต้องพิทักษ์ระบบนิเวศให้ยืนยาวสืบต่อไปยังคนรุ่นหลัง ผ่าน 7 อุปนิสัยสีเขียว ประกอบด้วย
Rethink
ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อเรามีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง กระแสการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจะไม่เกิดผลสำเร็จใดๆ หากทุกคนที่ได้รับฟังข้อมูลไม่ตระหนักว่าตนเองต้องเปลี่ยนแปลง การคิดใหม่ ไม่จำเป็นต้องสร้างหรือนำเสนอสิ่งใหม่ (Reinvent) ที่ต้องเริ่มจากศูนย์เสมอไป การต่อยอดขยายผลหรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เดิมด้วยความคิดใหม่ อาจดีกว่า ประหยัดกว่า และทุ่นเวลากว่าการต้องเริ่มใหม่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ เมื่อคิดได้แล้ว ต้องลงมือทำ
Reduce
โลกร้อน เมื่อเราเผาผลาญทรัพยากรเกินขีดจำกัดที่ธรรมชาติจะหมุนเวียนได้ทัน โลกบูด เพราะเราบริโภคเกินจนเกิดขยะและของเสียที่ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ทัน ช่วยกันลดการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น และช่วยกันลดการบริโภคเพื่อไม่ให้เกิดขยะและของเสียอย่างที่เป็นอยู่
Reuse
สำรวจของที่ซื้อมาแล้วเพิ่งใช้เพียงหนเดียวว่า สามารถใช้ประโยชน์ซ้ำได้หรือไม่ หาวิธีการใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำ หรือหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง การซื้อของมีคุณภาพที่ราคาสูงกว่า แต่ใช้งานได้ทนนาน จะดีกว่าซื้อของที่ด้อยคุณภาพในราคาถูก แต่ใช้งานได้เพียงไม่กี่ครั้ง
Recycle
เป็นการนำวัสดุที่หมดสภาพหรือที่ใช้แล้วมาปรับสภาพเพื่อนำมาใช้ใหม่ เริ่มลงมือปรับแต่งของใช้แล้วในบ้านให้เกิดประโยชน์ใหม่ ช่วยกันคัดแยกขยะหรือวัสดุเหลือใช้ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เองมอบให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดีกว่าทิ้งหรือเก็บไว้เฉยๆ โดยเปล่าประโยชน์
Recondition
ของหลายอย่างสามารถปรับแต่งซ่อมแซม (Repair) แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ดังเดิม พยายามใช้ของให้ถูกวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงการชำรุดเสียหายก่อนเวลาอันควร และหากสิ่งของใดมีกำหนดเวลาที่ต้องบำรุงรักษา ให้หมั่นตรวจสอบและปฏิบัติตามตารางการบำรุงรักษา เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น ขณะที่อุปกรณ์บางจำพวกอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนหรือทดแทน (Replace) ด้วยอุปกรณ์รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่า เช่น เครื่องปรับอากาศ เพื่อลดการสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้า และประหยัดพลังงาน
Refuse
การปฏิเสธเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่ให้ถูกนำมาใช้หรือถูกทำลายเร็วขึ้น และเพื่อให้เวลาธรรมชาติในการฟื้นสภาพตัวเองตามระบบนิเวศ เริ่มจากสิ่งนอกตัว เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย สิ่งที่เราต้องเติมใส่ร่างกาย เช่น อาหารนำเข้า จนถึงสิ่งที่อยู่ข้างในกาย คือ จิตใจ เพราะเมื่อจิตร้อน กายก็ร้อน สิ่งรอบข้างก็ได้รับกระแสร้อนตามไปด้วย
Return
หน้าที่หนึ่งของมนุษย์ในฐานะผู้อาศัยโลกเป็นที่พักพิง คือ การตอบแทนคืนแก่โลก ใครใช้ทรัพยากรใดจากธรรมชาติเยอะ ก็ต้องคืนทรัพยากรนั้นกลับให้มากๆ ผลกระทบใดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการดำเนินงาน ก็ต้องพยายามฟื้นฟู ทำให้คืนสภาพ หรือทำให้สมบูรณ์ (Replenish) ดังเดิม เมื่อใดที่ริเริ่มเป็นผู้ให้ได้โดยมิต้องบังคับหรือร้องขอ เมื่อนั้นเราก็จะได้รับกลับคืนอย่างไม่ต้องสงสัยเช่นกัน
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Saturday, July 15, 2023
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment