สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศไทย ดูจะยังไม่มีแนวโน้มในทางที่ลดลงในเร็ววัน การติดเชื้อในคลัสเตอร์ใหม่ๆ โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม ได้สร้างความกังวลในทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เพราะจะส่งผลกระทบเป็นทอดๆ ในห่วงโซ่ธุรกิจ ตั้งแต่การหยุดหรือย้ายสายการผลิต ความชะงักงันในสายอุปทาน ความล่าช้าในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการส่งออก
แผนหลักที่ทุกฝ่ายกำลังทำงานหนักในเวลานี้ คือ การระดมฉีดวัคซีนให้กว้างขวางที่สุด เพื่อที่จะระงับการระบาด และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
อย่างไรก็ดี การวางแผนที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการคาดการณ์ฉากทัศน์ (Scenario) ทั้งในด้านที่เป็นไปตามแผน และที่อาจไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
การตั้งโจทย์ที่แตกต่างออกไป จะทำให้เห็นทางออกหรือทางแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่ครอบคลุมรอบด้าน รวมทั้งใช้เป็นแผนสำรองในกรณีที่การดำเนินงานตามแผนหลักไม่เป็นผล
มาตรการที่เรากำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ เป็นไปเพื่อตอบโจทย์ 'จะหยุดโควิดได้อย่างไร' ขณะเดียวกัน ทีมงานผู้จัดทำแผน ก็ควรจะต้องคำนึงถึงโจทย์ที่ว่า 'จะอยู่กับโควิดได้อย่างไร' เพื่อรองรับฉากทัศน์ในด้านที่ไม่เป็นไปตามแผนหลัก
มาตรการ 'หยุด' เชื้อ คือ การใช้วิธีกำจัดหรือยับยั้งมิให้เชื้อแพร่กระจาย โดยมีเครื่องมือที่จำเป็น คือ การใช้วัคซีน การล็อกดาวน์พื้นที่ เป็นต้น
ในความเป็นจริง เราอาจไม่สามารถขจัดเชื้อให้หมดไปจนเป็นศูนย์ ทำให้ต้อง 'อยู่' กับโควิด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในกรณีนี้ เครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ จะแตกต่างจากกรณีการหยุดเชื้อมิให้ระบาด เช่น การจัดเขต (Zoning) การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การกำหนดกะการทำงาน (สำหรับบุคลากรหรืองานที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค) การสร้างวัฒนธรรมสุขภาพ ฯลฯ
ในภาคธุรกิจ การอยู่กับโควิด มีสิ่งที่องค์กรต้องพิจารณาดำเนินการใน 4 ระดับที่เชื่อมโยงกับกระบวนงาน-โครงสร้าง-ความสัมพันธ์-โมเดลทางธุรกิจ ตามลำดับ
ระดับที่หนึ่ง เริ่มจากการที่ธุรกิจ ดำเนินการพิจารณาทบทวนกระบวนงานของกิจการ ในทางที่เอื้อให้เกิดความต่อเนื่องทางธุรกิจ การลดผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากการคงอยู่ของโควิด เป็นการจัดกระบวนงานในธุรกิจ (Business Process) ใหม่ ให้ตอบสนองต่อสถานการณ์และให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้
ระดับที่สอง เป็นการนำเอาประเด็นด้านสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังจากโควิด มาใช้เป็นแนวในการกำหนดเป้าประสงค์ และกลยุทธ์เชิงรุก เพื่อพัฒนาความริเริ่มใหม่ ๆ ในอันที่จะสร้างคุณค่าร่วม หรือสร้างผลกระทบทางบวกแก่ธุรกิจ เป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจ (Business Structure) ให้ตอบสนองต่อสถานการณ์และสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ
ระดับสาม เป็นการขยายการทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย หรือเป็นการพัฒนาหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานรัฐ-เอกชน เพื่อเพิ่มผลลัพธ์หรือผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เป็นการสานสัมพันธ์ทางธุรกิจ (Business Engagement) ในการขยายบทบาทหรืออิทธิพลไปสู่หน่วยงานที่อยู่รายรอบ ให้ตอบสนองต่อสถานการณ์และขยายผลสู่วงกว้าง
ระดับที่สี่ เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจ ที่ส่งผลต่อตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการในปัจจุบัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ธุรกิจมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่สอดคล้องกับการคงอยู่ของโควิด เป็นการพัฒนาโมเดลทางธุรกิจ (Business Model) ใหม่ ให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ในระยะยาว
การขับเคลื่อนของภาคธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อการคงอยู่ของโควิด มิได้จำกัดอยู่เพียงการดำเนินงานที่จะดูแลผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น แต่ยังรวมถึงการแสวงหาโอกาสที่จะสร้างให้เกิดผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมโดยรวม นอกจากองค์กรตนเอง ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนงาน-โครงสร้าง-ความสัมพันธ์-โมเดลทางธุรกิจข้างต้น
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Saturday, June 05, 2021
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment