Saturday, July 18, 2020

โควิดกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

สถานการณ์โควิดได้สร้างผลกระทบในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยที่ภาคธุรกิจสามารถวางแผนการพัฒนาและควรลงมือช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบที่เป็นภยันตราย ทั้งผลทางตรงด้านสาธารณสุข ความรุนแรงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากการระบาดใหญ่ (Pandemic) และความไม่เสมอภาคทางสังคมที่ยิ่งถลำลึก รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิตที่มีสาเหตุจากผลกระทบดังกล่าว

ในหลายประเทศ มีขีดจำกัดในการรับมือกับสถานการณ์ และมีความเชื่อว่า การพัฒนาตามแผนถูกทำให้หยุดชะงักเพียงช่วงเกิดสถานการณ์ และจะกลับมาดำเนินได้ใหม่ภายใต้ภาวะปกติแบบเดิม แต่ในความเป็นจริง เราจำเป็นต้องมีการประเมินแบบแผนการพัฒนาใหม่หลังสถานการณ์สิ้นสุด เนื่องจากรูปแบบหรือพฤติกรรมของผู้คน อาทิ การเว้นระยะห่างทางสังคม จะส่งผลต่อแผนการพัฒนาที่ถูกผลักดันให้รองรับการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ (New Normal)

การผนวกหรือทำให้การจัดการความเสี่ยงจากสถานการณ์เป็นเรื่องหลักในนโยบายการพัฒนา การวางแผน และการนำไปปฏิบัติ จะต้องอาศัยการแยกแยะบทบาทที่ชัดเจน มีการกำหนดความรับผิดชอบในการจัดการและการลดความเสี่ยง มิใช่กับเพียงผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือผู้นำเฉพาะในภาครัฐ แต่ยังรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคม และชุมชนที่เป็นเป้าหมายการพัฒนา


ความเชื่อมโยงระหว่างโควิดกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในแง่ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สถานการณ์โควิดได้ก่อให้เกิดข้อจำกัดของการพัฒนา ทั้งการทำลายทุนทางเศรษฐกิจ การสูญเสียความสามารถในการผลิต การเข้าถึงตลาด หรือ ปัจจัยวัตถุดิบ ความเสียหายทางการคมนาคม โลจิสติกส์ หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง การดำรงชีพ เงินออม และทุนทางกายภาพถูกกัดกร่อน

สถานการณ์โควิดยังก่อให้เกิดความเสี่ยงของการพัฒนา ในมิติของการดำเนินวิถีการพัฒนาที่ขาดความยั่งยืน โดยสร้างให้เกิดความมั่งคั่งแก่คนบางกลุ่ม บนความสูญเสียของคนกลุ่มใหญ่

ในทางตรงข้าม สถานการณ์โควิดได้ก่อให้เกิดการพัฒนาในมุมบวกในหลายเรื่อง ได้แก่ การเข้าถึงที่เพียงพอในเรื่องเวชภัณฑ์ อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถรับกับสภาพการเปลี่ยนแปลงได้เพิ่มขึ้น การค้าและเทคโนโลยีในรูปแบบออนไลน์ ที่สามารถลดความยากไร้ และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงตลาด การลงทุนในกลไกด้านการเงิน และการประกันสังคม ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือลดความเปราะบาง เป็นต้น

ในแง่ของการพัฒนาทางสังคม สถานการณ์โควิดได้ก่อให้เกิดการทำลายสุขภาพ สมรรถนะของบุคลากร และความมั่นคงในตำแหน่งงาน การเสียชีวิต หรือการย้ายถิ่นฐานที่นำไปสู่การกร่อนของทุนทางสังคม การพัฒนาที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในทางบ่มเพาะบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการแยกตัวจากสังคม หรือการกีดกันทางสังคม สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย อาทิ การเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าที่ส่งถึงบ้าน (กับประเด็นข้อกังวัลด้านความปลอดภัยต่อการปนเปื้อนเชื้อโควิด) ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ทำให้การทำงานในคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และการส่งพัสดุ มีสภาพเลวร้ายลงกว่าเดิม แต่ในทางกลับกัน สถานการณ์โควิดได้ก่อให้เกิดการสร้างความปรองดองในชุมชน ด้วยการเพิ่มน้ำหนักความสำคัญกับปัจเจกหรือกลุ่มสังคมที่ถูกกีดกัน ให้ได้รับโอกาสการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การเพิ่มสมรรถภาพทางการศึกษาและอนามัยที่ช่วยให้ชุมชนมีความสามารถในการปรับตัวในระยะยาว เป็นต้น

ในแง่ของการพัฒนาทางสิ่งแวดล้อม สถานการณ์โควิดได้ก่อให้เกิดการชะลอการพัฒนาที่ตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Emergency) จากการหันเหการนำทรัพยากรมาใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด การพัฒนาที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในทางที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง อาทิ ความต้องการเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูปที่เพิ่มขึ้น อาจเพิ่มแรงกดดันต่อการทำลายป่าที่เกี่ยวโยงกับสายอุปทานถั่วเหลือง ปศุสัตว์ และน้ำมันปาล์ม แต่ในขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิดได้ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงจากภาวะปกติใหม่ การออกแบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน อาคาร และที่พักอาศัย ที่ป้องกันหรือลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด การจัดการน้ำทิ้งและของเสียที่มีการควบคุม เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโควิด เป็นต้น

ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการผนวก หรือทำให้ข้อปฏิบัติด้านการจัดการความเสี่ยงกลายเป็นเรื่องหลักในแผนการพัฒนา โดยมีจุดมุ่งหมายที่ทำให้แน่ใจได้ว่าผลสำเร็จของการพัฒนาสามารถดำเนินต่อไปในมุมที่จะขยายวงของการพัฒนา มากกว่าในมุมที่จะไปลดทอนการพัฒนาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: