ปัจจุบันการทำซีเอสอาร์ขององค์กรธุรกิจ มิได้จำกัดอยู่เพียงกิจกรรมเพื่อสังคม ที่มักเป็นการช่วยเหลือชุมชนหรือการตอบแทนสังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น การบริจาคเงิน สิ่งของ หรือการอาสาร่วมพัฒนาชุมชน ที่แยกต่างหากจากกระบวนการทางธุรกิจ หลายองค์กรได้มีการผนวกเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไว้ในกิจกรรมหลักขององค์กร (Integrating CSR into an organization) ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติที่ได้กลายเป็นมาตรฐานสากลในเรื่อง CSR ไปแล้ว
แนวการดำเนินงาน CSR เชิงระบบ แบ่งออกเป็น 7 ส่วนหลัก ได้แก่ ความสัมพันธ์ของคุณลักษณะองค์กรกับเรื่อง CSR ความเข้าใจในเรื่องCSRขององค์กร การบูรณาการเรื่อง CSRทั่วทั้งองค์กร การสื่อสารเรื่อง CSR การเพิ่มความเชื่อถือได้ในการดำเนิน CSR ขององค์กร การทบทวนและปรับปรุงการปฏิบัติดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวกับ CSR และการริเริ่มกิจกรรม CSR โดยสมัครใจ
การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคุณลักษณะองค์กรกับเรื่อง CSR จะทำให้องค์กรเข้าถึงหัวใจสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งปัจจัยในการวิเคราะห์ ควรประกอบด้วย สถานที่ตั้ง สังคม สิ่งแวดล้อม กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับองค์กร ความห่วงใยต่อผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสายอุปทาน เป็นต้น เพื่อการตัดสินใจและนำไปสู่การปฏิบัติ
ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจในเรื่อง CSR ขององค์กรที่ไม่ควรมองข้าม ได้แก่ ความเข้าใจที่ตรงกันและนัยสำคัญของเรื่องหลักต่างๆ ต่อองค์กร ความสามารถในการโน้มน้าวเชิงบวก และการเรียงลำดับความสำคัญของปัญหาตามเรื่องหลักและประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม
หัวข้อหลักสำหรับการบูรณาการเรื่องCSRสู่องค์กร ประกอบด้วยเนื้อหาในส่วนที่เป็นการสร้างเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าสู่องค์กร การกำหนดทิศทางขององค์กรที่คำนึงความรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนการสร้างการรับรู้และขีดความสามารถในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
ในเรื่องการสื่อสารเรื่องCSR นอกเหนือจากบทบาทของการสื่อสารในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว องค์กรควรคำนึงถึงคุณลักษณะของข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับความรับผิดชอบต่อสังคมที่ใช้ในการสื่อสาร ซึ่งควรจะสามารถเข้าใจได้ (Understandable) มีการตอบสนองที่ดี (Responsive) มีความแม่นยำ (Accurate) มีความสมดุลรอบด้าน (Balanced) ทันต่อเหตุการณ์ (Timely) และนำมาใช้ได้ (Available) ตลอดจนการสื่อสารเกี่ยวกับการทำงานขององค์กร รวมทั้งการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างสม่ำเสมอ
การเพิ่มความเชื่อถือได้ในการดำเนินCSRขององค์กร จะเริ่มตั้งแต่การพิจารณาวิธีการเพิ่มความน่าเชื่อถือ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยกันระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสีย และการส่งเสริมความน่าเชื่อถือของการสื่อสารเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม อาทิ การจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม หรือการอ้างอิงผลการดำเนินงานซึ่งเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม
นอกจากนี้ องค์กรควรมีการทบทวนและปรับปรุงการปฏิบัติดำเนินงานที่เกี่ยวกับ CSR เป็นระยะๆ ซึ่งรวมถึงการสอดส่องดูแลกิจกรรมCSR การทบทวนความคืบหน้าและผลการปฏิบัติงานด้านCSRขององค์กร การเพิ่มความเชื่อถือได้ของการเก็บรวบรวมและการจัดการข้อมูลและรายละเอียด เพื่อนำมาสู่การปรับปรุงผลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการริเริ่มกิจกรรมCSRโดยสมัครใจ องค์กรอาจมีการพิจารณาดำเนินงานCSRร่วมกับองค์กรอื่นๆ หรือเป็นผู้ริเริ่มชักนำให้องค์กรข้างเคียงดำเนินกิจกรรมCSRร่วมกับองค์กรตนเอง หรือมีความพร้อมถึงขั้นที่จะพัฒนาโครงการสาธารณะเพื่อยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมในวงกว้าง
แนวการดำเนินงานCSRเชิงระบบที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นข้อแนะนำที่อ้างอิงมาจาก “Integrating social responsibility into an organization” ที่ระบุอยู่ในร่างมาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000) ซึ่งในปัจจุบัน สถานะของมาตรฐานฉบับนี้อยู่ในขั้น Draft International Standard (DIS) แล้วครับ...(จากคอลัมน์ บริหารธุรกิจ-บริบาลสังคม) [Archived]
Monday, June 29, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment