ถอดสูตร ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
แม้บุคลิกจะเป็นคนชอบทำงานอยู่เบื้องหลัง แต่ชื่อ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ได้รับการยอมรับ เป็นหนึ่งในผู้รอบรู้และมีประสบการณ์โดดเด่นด้านบรรษัทบริบาล(CSR) และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ที่นำมาใช้กับภาคธุรกิจ เป็นภูมิคุ้มกันภัยให้กับองค์กรฝ่าวิกฤติได้ในทุกสภาวะ
และทำให้วันนี้สถาบันไทยพัฒน์ไม่เพียงกลายเป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมและโครงการซีเอสอาร์ แต่ยังมีรูปแบบการทำงานที่สะท้อนความเป็นตัวตนอย่างชัดเจน
"วิธีการดูแลพนักงานผมเน้นลักษณะเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วมในการคิดแผน แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เป็นการสั่ง ถ้าภาษาของเถ้าแก่สมัยก่อนก็จะบอกว่าเป็นรูปแบบครอบครัว แต่ของเราเป็นแบบครอบครัวที่ไม่ได้มีการนับญาติเป็นใหญ่ เพราะว่าจะเป็นการทำงานในเชิง Professional"
ขณะที่รูปแบบการทำงานภายนอกองค์กร จะเปิดโอกาสในการทำงานแบบ ร่วมมือกันหรือมีส่วนร่วมด้วยนวัตกรรม (Contribution by Innovation)
"ตั้งแต่เด็ก เพื่อนๆ จะพูดเหมือนกัน คือ ผมจะไม่ค่อยพูดหรือ เล่าเรื่องราวตัวเองก่อน แต่จะคอยฟัง ถ้าคิดว่าจะสามารถเพิ่มเติมหรือเสริมอะไรได้ก็จะทำ ซึ่งกลายเป็นอุปนิสัยทั้งของตัวผมเองและองค์กรที่จะคอยรับฟังแล้วดูว่าอะไรที่เราช่วยได้ก็จะเข้าไปเสริม"
ส่วนหนึ่งที่เป็นสิ่งกำหนดตัวตน ดร.พิพัฒน์ บอกว่า พื้นเพครอบครัวเป็นคนหัวหิน เรียนเก่ง และชอบอ่านหนังสือท่านพุทธทาสมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ไม่ค่อยให้ไปเที่ยวเล่นไกลต้องอยู่ในสายตาตลอด พอสอบเข้าเตรียมอุดมฯได้ ครอบครัวก็ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็ต่อวิศวกรรมไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิถีชีวิตที่ผ่านมาค่อนข้างเรียบง่ายเหมือนบุคลิกส่วนตัว โดยเริ่มต้นทำงานเป็นวิศวกรไฟฟ้าอยู่พักใหญ่พร้อมกับเรียนต่อปริญญาโทด้านไอทีที่จุฬาฯ หลังจากนั้นชีวิตจึงหักเหมาทำงานด้านไอทีกับ เอคเซนเจอร์ บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกพักหนึ่งจนกระทั่ง ปี 2543 ได้ไปเรียนต่อปริญญาเอกด้านพระพุทธศาสนา(Buddhist Studies) ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ดร.พิพัฒน์เผยว่าจุดเปลี่ยนเริ่มขึ้น ตอนเรียนปริญญาเอกได้เจอกับ อ.อภิชัย พันธเสน ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐศาสตร์และกำลังเขียนหนังสือ "พุทธเศรษฐศาสตร์" รู้สึกประทับใจจึงขอเข้าไปช่วยงานเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงด้านฐานข้อมูลวิจัย หลังๆ ได้รับความไว้วางใจให้ทำวิจัยและเป็นหัวหน้าทีมเอง
ตอนนั้นทำงานเป็นลูกจ้างเอคเซนเจอร์ เงินเดือนก็โอเค แต่ความรู้สึกแต่ละวันที่ตื่นมาทำงานมันเหมือนแห้งแล้งไม่ชุ่มชื่นหัวใจ แม้กระทั่งเพื่อนยังต้องแข่งกัน ก็รู้สึกว่าน่าจะมีแนวทางทำงานแบบที่ไม่ต้องสุดโต่ง คือทำงานเป็นครอบครัวและมีผลงานได้ด้วย จึงร่วมกับเพื่อนก่อตั้ง "ชมรมไทยพัฒน์" ภายหลังเปลี่ยนสถานภาพเป็น "สถาบันไทยพัฒน์" และอยู่ภายใต้มูลนิธิ ตั้งแต่นั้นมา
"แม้กลุ่มผู้ริเริ่มจะเป็นพุทธเศรษฐศาสตร์แต่เราไม่ได้ยึดติด หลักการทำงานเราจะเรียกรวมๆ ว่า แนวการดำเนินธุรกิจแบบกระแสรอง คล้ายๆ เศรษฐศาสตร์ทางเลือกไม่ใช่กระแสหลักที่เป็นทุนนิยม"
ดร.พิพัฒน์ อธิบายว่า ตอนเรียนพุทธศาสนาไม่ได้ตั้งใจเอามาใช้ในการงาน แต่เป็นความสนใจส่วนตัว เพียงแต่มีหลายสิ่งนำมาใช้ประโยชน์กับองค์กรได้ "ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะเอาตรงนี้มาเป็นอาชีพให้คำปรึกษา แต่มุ่งเรื่องการทำงานอย่างมีความสุข ไม่ต้องแข่งขันมาก พอได้รู้จักอาจารย์อภิชัย ซึ่งสอนเรื่องพุทธเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจพอเพียง และ ซีเอสอาร์ ที่เกี่ยวข้องกันก็เลยได้มาทำจริงจัง"
ซึ่งดร.พิพัฒน์เชื่อว่าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และซีเอสอาร์ องค์กรในเมืองใหญ่มีทำกันอยู่เพียงแต่ไม่รู้ว่าสิ่งนี้เรียกว่าอะไร จึงไปชี้ให้เห็นว่าที่ทำอยู่นั้นจัดอยู่หมวดหมู่ไหน "การทำซีเอสอาร์จริงๆ แล้ว สอดคล้องกับหลักธรรม เช่น การให้ทาน ซึ่งการให้ที่มีอานิสงค์ต้องดูทั้งผู้ให้ ของที่ให้และทั้งผู้รับด้วย"
จึงไม่ต่างจากหลักการทำงาน ที่ดร.พิพัฒน์ บอกว่า "ต้องเปิดด้วยความจริงใจ ซึ่งใช้เวลา และไม่มีสูตรสำเร็จ" อธิบายว่าวิถีการทำธุรกิจ ระหว่างแนวทางทุนนิยมและแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง หรือ พุทธเศรษฐศาสตร์ ล้วนมีความเชื่อที่ต่างกัน "ธุรกิจที่ทำวันนี้เหมือนมีความเชื่อว่าทำงาน ผลิตของเพื่อแลกกับเงิน แล้วเอาเงินไปแลกกับความสุข เป็นรูปแบบที่คนทำงานหาเงินไปซื้อความสุข แต่ความสุขที่ซื้อมาแต่ละวันเป็นความสุขจากที่ต้องทนทำงานแบบสุดโต่ง"
ขณะที่ทางพุทธเศรษฐศาสตร์ หรือ เศรษฐกิจพอเพียง จะให้ความสำคัญกับทุนที่เป็นคน มีจิตวิญญาณ ไม่ต้องสุดโต่งเพื่อแลกกับเงินมาซื้อความสุข แต่สามารถทำงานแล้วมีความสุขสบายใจไปด้วย
ซึ่งสอดรับกับหลักปรัชญาในการทำงาน ที่ ดร.พิพัฒน์ ยึดคติที่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก คือ "ทำแต่ความดี" และ "อย่าไว้ใจความคิดตัวเอง" เพราะว่ายิ่งเราประสบความสำเร็จ ยิ่งไม่ปลอดภัยจากการปรุงแต่งของจิตที่อคติ "การได้ทบทวนความคิดของเราบางทีช่วยให้ทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่"
ผ่านประสบการณ์ทำงานมาพอสมควร ดร.พิพัฒน์ ยังมีข้อคิดเสริมการทำงานคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวสู่การเป็นนักบริหารที่ดีว่า นอกเหนือจากการเปิดใจรับฟังเพื่อนร่วมงานแล้ว องค์ประกอบที่สำคัญอีกส่วนคือ ต้องมีความอดทน มีความเพียร อย่าเอาแต่โทษปัจจัยภายนอกโดยไม่มองตัวเอง
พร้อมกับอ้างถึงพระราชดำรัสในหลวงพระราชทานกับข้าราชการที่มักบ่นให้พระองค์ท่านฟังอ้างถึงการทำงานไม่ได้เพราะขาดงบประมาณ ขาดทรัพยากร ขาดการประสาน สิ่งที่พระองค์ท่านตรัสคำเดียวว่า "เราต้องทำงานบนความขาดแคลน คือถ้าไปรอให้ทุกอย่างพร้อม รับรองไม่ได้ทำ แต่ท่านเริ่มทำในสิ่งที่ท่านมีอยู่ตรงหน้าในปัจจุบันให้ดีที่สุด ทำไปแล้วมีคนมาเติมทรัพยากรให้ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่มีคนมาเติมให้ก็ต้องทำงานบนความขาดแคลน"
น่าจะเป็นคติที่เหมาะกับการบริหารธุรกิจที่วันนี้ต้องทำงานบนปัจจัยที่มีอยู่ตรงหน้า ถ้าจะรอให้เศรษฐกิจกระเตื้องก่อน ก็ไม่รู้ว่าจะต้องรอไปถึงกี่ปี
(จาก Section CEO Focus ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 29 ฉบับที่ 2,431 วันที่ 31 พ.ค.-3 มิ.ย. 2552)
Sunday, May 31, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment