ในวันนี้เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ Corporate Social Responsibility - CSR ได้แผ่ขยายเข้าไปในหลายธุรกิจ จนทำให้ผู้บริหารองค์กรต่างต้องทำการศึกษารับมือ เพื่อค้นหาแนวทางในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ที่เหมาะสมสำหรับองค์กรของตนเองกันอย่างขนานใหญ่
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การที่ท่านเพิ่งศึกษาหรือรับทราบเรื่องราว CSR จากภายนอก มิได้หมายความว่า ที่ผ่านมาองค์กรของท่านมิได้มีเรื่อง CSR อยู่ในองค์กร หากแต่สิ่งที่ท่านทำอยู่ ยังไม่ได้เรียกหรือสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจในภาษา CSR เท่านั้นเอง
แท้ที่จริงแล้ว ในทุกองค์กรธุรกิจ ล้วนแล้วแต่มีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้วทั้งสิ้น จะต่างกันก็ตรงความเข้มข้นของการดำเนินงานที่มีมากน้อยไม่เหมือนกัน องค์กรหนึ่งอาจมีความสำนึกรับผิดชอบสูงกว่า ขณะที่อีกองค์กรหนึ่งอาจมีการใช้ทรัพยากรในการดำเนิน CSR ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่า หรือองค์กรหนึ่งอาจสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวางกว่า หรือองค์กรอีกแห่งหนึ่งอาจส่งมอบผลลัพธ์จากการดำเนิน CSR ให้แก่สังคมได้ประสิทธิผลมากกว่า ฉะนั้น การพิจารณาเรื่อง CSR ในองค์กรหนึ่งๆ จึงต้องคำนึงถึงทั้ง ‘กระบวนการ-ผลลัพธ์’ ควบคู่กันไป
เป็นเรื่องจริงที่องค์กรธุรกิจหนึ่งๆ แม้จะดำเนินกิจกรรม CSR สู่ภายนอกจนได้รับรางวัลต่างๆ นานา แต่กลับพบว่า พนักงานในองค์กรมิได้มีความรู้สึกภาคภูมิใจหรือมีส่วนในความสำเร็จร่วมกับองค์กรนั้นๆ ด้วยเลย แสดงว่าองค์กรธุรกิจนี้ อาจต้องไปปรับปรุง “กระบวนการ” ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมภายในองค์กรเอง
การส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของพนักงาน เป็นเงื่อนไขสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรม CSR ขององค์กร ยังมีหลายองค์กรที่เข้าใจผิดคิดว่า การให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินกิจกรรม CSR จะทำให้เสียเวลางานหรือมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ จึงใช้วิธีว่าจ้างหน่วยงานภายนอกดำเนินงานให้ โดยมีการตั้งผู้รับผิดชอบหรือมอบหมายให้ฝ่ายงานใดฝ่ายงานหนึ่งมาคอยกำกับดูแลกิจกรรม CSR ดังกล่าว
การให้บริการลูกค้าอย่างซื่อสัตย์และเต็มใจ การปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างซื่อตรงและเป็นธรรม การดูแลสวัสดิภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยในการทำงาน หรือการไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่มิชอบ กิจกรรมที่ยกมาเป็นตัวอย่างเหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งสิ้น และไม่สามารถมอบหมายให้บุคคลภายนอกมาดำเนินการแทนได้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังให้แก่พนักงานในองค์กรโดยตรง...(อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ บริหารธุรกิจ-บริบาลสังคม) [Archived]
Wednesday, May 27, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment