องค์กรไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดวิสัยทัศน์เฉพาะด้านซีเอสอาร์ขึ้นใหม่ เพราะธรรมชาติของการดำเนินซีเอสอาร์จะต้องถูกผนวกเข้ากับการดำเนินธุรกิจ วิสัยทัศน์ขององค์กรจึงควรสะท้อนสิ่งสำคัญๆ ที่องค์กรต้องการมุ่งไปสู่ในอนาคต ซึ่งรวมถึงเรื่องซีเอสอาร์สำหรับองค์กรที่ได้กำหนดให้เป็นวาระสำคัญในลำดับต้นๆ
ทั้งนี้ แต่ละองค์กรอาจมีการเลือกประเด็นทางสังคม (Social Issues) และพื้นที่การดำเนินงานซีเอสอาร์ที่แตกต่างกัน อันเนื่องมาจากวิสัยทัศน์และพันธกิจของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกันนั่นเอง
โดยทั่วไปการพัฒนาซีเอสอาร์ขององค์กรธุรกิจจะต้องครอบคลุมใน 3 ด้านหลัก ที่มุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ให้มีความสมดุล ภายใต้ชื่อที่เรียกต่างๆ กัน เช่น ESG ซึ่งมาจาก Environment-Social-Governance หรือ PPP ซึ่งมาจาก Planet-People-Profit หรือ TBL ซึ่งย่อมาจาก Triple Bottom Line ที่ขยายการให้ความสำคัญของบรรทัดสุดท้ายในทางธุรกิจ ที่เป็นกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน ไปสู่การคำนึงถึงผลประกอบการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
ในแง่ขององค์กร ซึ่งมีความเข้าใจดีถึงภารกิจหลักว่าการดำเนินงานขององค์กรได้คำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แม้จะมิได้ปรากฏอยู่ในข้อความ (statement) ของวิสัยทัศน์และพันธกิจ แต่พึงระลึกว่า สำหรับบุคคลหรือหน่วยงานภายนอก อาจมิได้ล่วงรู้เจตนารมณ์ขององค์กรดีเท่ากับผู้ที่อยู่ในองค์กร การที่บุคคลหรือหน่วยงานภายนอกจะพิจารณาว่า องค์กรได้ให้ความสำคัญในเรื่องซีเอสอาร์มากน้อยเพียงใด จำต้องอาศัยจากข้อมูลเอกสารที่ปรากฏเผยแพร่ ฉะนั้นการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์อย่างเป็นรูปธรรมทางหนึ่ง ก็คือ การระบุในข้อความที่เป็นวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร
แนวปฏิบัติสำหรับการวิเคราะห์วิสัยทัศน์และพันธกิจสำหรับการพัฒนาซีเอสอาร์ ได้แก่
• | การจัดทำวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร (ถ้ายังไม่มี) |
• | พิจารณาความครอบคลุมของวิสัยทัศน์ที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม |
• | ปรับปรุงวิสัยทัศน์ให้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ด้านซีเอสอาร์ตามความเหมาะสม |
• | ตรวจสอบและปรับปรุงขอบข่ายการดำเนินงานในพันธกิจให้มีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ |
• | วางเป้าประสงค์การดำเนินซีเอสอาร์ขององค์กรที่นำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ |
• | กำหนดนโยบายการดำเนินซีเอสอาร์ให้เชื่อมโยงสู่เป้าประสงค์ที่วางไว้ |
ตัวอย่างวลีในวิสัยทัศน์และพันธกิจที่บ่งชี้ถึงเจตนารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับซีเอสอาร์ อาทิ “...อย่างยั่งยืน” “...ชั้นนำและเป็นที่ยอมรับของสังคม” “...และมีความรับผิดชอบต่อสังคม” “.....ควบคู่กับการ.....สังคมและสิ่งแวดล้อม” “...เป็นบรรษัทพลเมืองที่ดี”
สำหรับข้อความที่ระบุถึงเป้าประสงค์การดำเนินซีเอสอาร์ขององค์กร เช่น “การส่งเสริมสมรรถนะความรับผิดชอบต่อสังคม ที่สอดคล้องกับความสามารถและทรัพยากรของกิจการ เพื่อยกระดับสู่การเป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง (High Performance Organization) ในการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม” หรือ “มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการแข่งขัน ใช้ทรัพย์สินที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด พัฒนาองค์กรสู่ความเป็นผู้นำของภูมิภาค และมีความรับผิดชอบต่อสังคม”...(จากคอลัมน์ บริหารธุรกิจ-บริบาลสังคม) [Archived]
No comments:
Post a Comment