Thursday, June 11, 2015

ต้านโกงภาคปฏิบัติ

เมื่อวันจันทร์ (8 มิ.ย.) ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประกาศเจตนารมณ์ “ต่อต้านการทุจริต สร้างจิตสำนึกไทยไม่โกง” ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ โดย พล.อ.ประยุทธ์​กล่าวในตอนหนึ่งว่า “วันนี้เป็นวันสำคัญ ซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเรามีความจำเป็นต้องพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เพื่อเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ มีทั้งเหตุการณ์ที่ดีและไม่ดี อยากให้ทุกคนศึกษาปัญหาและร่วมกันหาทางออกตามหลักพระพุทธศาสนาอริยสัจสี่ รู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไรและแก้ที่ตรงไหน อย่างเช่นข้าราชการก็ต้องมีคำว่า “How to do” ไม่ใช่ประกาศเจตนารมณ์วันนี้แล้วก็จบ”


ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption - UNCAC) ค.ศ.2003 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตที่เป็นสากลและมีเนื้อหาครอบคลุมทุกด้านของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ได้รับการรับรองโดยที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ ปัจจุบัน มีภาคีสมาชิกที่ร่วมลงนาม 140 ประเทศ

ในส่วนของภาคธุรกิจ สามารถพัฒนาแนวดำเนินการตามความตกลงดังกล่าวในการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของกิจการต่อการต่อต้านการทุจริตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและการยกระดับการดำเนินการต่อต้านการทุจริตในสาขาอุตสาหกรรมที่ประกอบการอยู่ให้มีความทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยเริ่มจากการดำเนินการต้านทุจริตในภาคปฏิบัติ (Anti-corruption in Practice) กับองค์กรของตน และเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้ลงมือปฏิบัติตาม จนสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นบริษัทต้นแบบที่มีแนวปฏิบัติอย่างจริงจังและสร้างวัฒนธรรมการไม่ทุจริตในภาคธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับแนวทางการต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจ สามารถจัดแบ่งกระบวนงานออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย

Commit: สิ่งที่ควรดำเนินการ ได้แก่ การเปิดเผยคำมั่นที่จะดำเนินการต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ การจัดทำแนวนโยบายให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสื่อสารและการดำเนินการให้เป็นแบบอย่างโดยผู้นำองค์กร

Establish: สิ่งที่ควรดำเนินการ ได้แก่ การกำหนดนโยบายการต่อต้านทุจริตที่ระบุระดับการดำเนินการของบริษัท การประเมินความเสี่ยงของธุรกิจ เพื่อระบุการดำเนินงานของบริษัทหรือบริษัทย่อยที่มีความเสี่ยงว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต การจัดทำนโยบายละเอียดสำหรับส่วนงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดทุจริต การกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อควบคุมป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการเกิดทุจริต การสื่อสารและฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตแก่พนักงานในทุกระดับ การสร้างช่องทางในการแจ้งเบาะแส และกลไกการติดตามสำหรับการรายงานข้อกังวลหรือขอรับคำแนะนำ การวางกระบวนการดูแลติดตามและประเมินผลการต่อต้านการทุจริต การทบทวนผลการดำเนินการและการปรับปรุงนโยบายให้มีความเหมาะสมตามสถานการณ์

Extend: สิ่งที่ควรดำเนินการ ได้แก่ การจัดทำนโยบายที่ครอบคลุมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ การผลักดันให้คู่ค้าดำเนินการตามคำมั่น การเข้าเป็นแนวร่วมต้านทุจริตในสาขาอุตสาหกรรมที่ธุรกิจสังกัดอยู่หรือเรื่องที่ธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้อง การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตรวจสอบเพื่อให้ความเชื่อมั่นอย่างเป็นอิสระจากหน่วยงานภายนอก

ประโยชน์ที่องค์กรธุรกิจจะได้รับจากการดำเนินแนวทางการต้านทุจริตดังกล่าว ประการแรกเป็นการเพิ่มความถูกต้องชอบธรรม (Integrity) จากการที่องค์กรสามารถยกระดับการรับรู้เรื่องการต้านทุจริตในหมู่พนักงาน และฝ่ายบริหารมีเครื่องมือและกติกาในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงาน ประการที่สองเป็นการเพิ่มความสำนึกรับผิดชอบ (Accountability) จากการดำเนินบทบาทการต้านทุจริตขององค์กรซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงธุรกิจและในวงสังคม และประการที่สามเป็นการเพิ่มความโปร่งใส (Transparency) จากการที่องค์กรมีบรรทัดฐานในการติดตามและรายงานการปฏิบัติงานและการดำเนินการต้านทุจริตในภาษาเดียวกัน

อนึ่ง แนวทางการต้านทุจริตที่กล่าวมาข้างต้น อ้างอิงจากหลักการและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตที่พัฒนาขึ้นโดยข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International)

องค์กรธุรกิจที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจเข้าร่วมขับเคลื่อนการต่อต้านทุจริตในภาคปฏิบัติ สามารถศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์เครือข่ายหุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย หรือ Partnership Against Corruption for Thailand (PACT) ได้ที่ http://www.pact.network ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: