Thursday, June 09, 2016

ได้เวลาของธุรกิจเพื่อสังคมสูงวัย

ตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ราว 10.42 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15.6 ของประชากรทั้งหมด จึงถือว่า เราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุจำนวน 1 ใน 5 หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านกำลังแรงงาน จะมีผู้สูงอายุเข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น จากผลการสำรวจ พบว่า ในจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด มีผู้สูงอายุที่ทำงาน 3.78 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 36.3 จำแนกเป็นเพศชาย 2.23 ล้านคน (ร้อยละ 59.0) และเพศหญิง 1.55 ล้านคน (ร้อยละ 41.0)

โดยสถานภาพการทำงานของผู้สูงอายุที่ทำงานในสี่อันดับแรก เป็นการประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างร้อยละ 63.1 เป็นการช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างร้อยละ 18.2 เป็นลูกจ้างเอกชนร้อยละ 12.8 และมีผู้สูงอายุที่ทำงานเป็นนายจ้างอยู่ร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ซึ่งนับวันแรงงานสูงอายุเหล่านี้จะมีความสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2558)

ภาคเอกชนสามารถดำรงบทบาทเป็นแหล่งรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ ทั้งในรูปของการจ้างงานผู้สูงวัยในตำแหน่งที่เหมาะสมกับวัยวุฒิ ประสบการณ์ และสมรรถภาพของร่างกาย และการจัดซื้อจัดหาสินค้าและบริการซึ่งมาจากกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เป็นฝั่งอุปทาน (Supply) ขณะเดียวกัน ภาคเอกชน ยังสามารถตอบสนองความต้องการของประชากรสูงวัยที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจในตลาดผู้สูงอายุ ที่เป็นฝั่งอุปสงค์ (Demand) ด้วยเช่นกัน


ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสในกลุ่มผู้สูงอายุ สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำแพลตฟอร์ม “ธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ” หรือ “Age-Friendly Business” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรธุรกิจทั่วไปที่มีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ในกระบวนการทำงานหลักของกิจการ มีการพัฒนากระบวนงานทางธุรกิจให้พร้อมรองรับความต้องการของผู้สูงอายุ อาทิ การจ้างงานผู้สูงอายุ การพัฒนาสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ ในลักษณะที่เป็น CSR-in-process และเพื่อให้องค์กรธุรกิจในกลุ่มที่มีความพร้อม พัฒนาธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ อาทิ การส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ก่อตั้งโดยพนักงานเกษียณอายุ การแปลงสภาพชมรมผู้สูงอายุในสังกัดของหน่วยงานให้เป็นกิจการที่เลี้ยงตัวเองได้ ในลักษณะที่เป็น Social Enterprise

แพลตฟอร์มดังกล่าว ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่ทำงานได้ใช้ศักยภาพ ภูมิปัญญา ความรู้และประสบการณ์ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม รวมทั้งสามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่ต่อเนื่องหลังเกษียณอายุ โดยจะเริ่มจากการศึกษาและประมวลแนวคิดและทิศทางในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในรูปแบบ CSR-in-process และ Social Enterprise การรับฟังความคิดเห็นต่อรูปแบบและแนวทางในการขับเคลื่อน และการนำร่ององค์กรที่มีความพร้อมในการพัฒนา ‘ธุรกิจเพื่อสังคมสูงวัย’ รวมทั้งการเผยแพร่กรณีตัวอย่าง ตลอดจนผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยกิจกรรมแรก จะเป็นการระดมความคิดและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่ต้องการพัฒนากระบวนงานทางธุรกิจเดิมหรือพัฒนาธุรกิจใหม่เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งในรูปแบบ CSR-in-process และ Social Enterprise เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน Focus Group: Sustainability Forum for Older Persons ซึ่งสถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะจัดขึ้นในวันพฤหัสที่ 23 มิถุนายนนี้ เวลา 13.00 น. - 16.00 น. ณ ห้องบอลรูม ฟอร์เย่ ชั้น 2 โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

ภาคเอกชนที่ประสงค์จะเข้าร่วมเป็นเครือข่ายธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (Age-Friendly Business) หรือสนใจเข้าร่วมหารือในเวที Focus Group ดังกล่าว (เฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้า) สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://agefriendly.biz ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: