Thursday, February 25, 2016

ไขความเข้าใจ Social Business

สัปดาห์ที่แล้ว (19 ก.พ.) สถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับ Yunus Center AIT และ บริษัท อิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ลงนามความร่วมมือในการก่อตั้ง "Thailand Social Business Initiative (TSBI)" เพื่อส่งเสริมความริเริ่มด้าน Social Business หรือ ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย ตามแนวคิดของ ศ.มูฮัมมัด ยูนุส สำหรับใช้พัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมด้วยรูปแบบทางธุรกิจ ในลักษณะที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (non-loss, non-dividend) ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ของ Social Business


ความตั้งใจของทีเอสบีไอในช่วงแรก ต้องการที่จะสื่อสารและสร้างความเข้าใจในเรื่อง Social Business ในฉบับที่เป็นต้นตำรับของยูนุสให้ถูกต้องถ่องแท้ เพื่อที่จะได้นำแนวคิดดังกล่าว มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมให้เกิดผลอย่างเต็มที่

เริ่มจากการแก้ความกำกวม ที่เชื่อว่ายังมีหลายท่านหลายหน่วยงานเข้าใจไปว่า Social Business กับ Social Enterprise คือเรื่องเดียวกัน ไม่ได้มีความแตกต่าง สามารถใช้เรียกแทนกันได้ ซึ่งอันที่จริงแล้ว มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ถามต่อว่า แล้วทำไมถึงต้องเป็น Social Business แล้วโมเดลหรือตัวแบบอื่นไม่ตอบโจทย์หรือ ต้องเรียนว่าทุกตัวแบบที่มีการนำไปใช้และดำรงคงอยู่ แสดงว่าต้องมีจุดที่สร้างคุณค่าบางอย่างในตัวแบบนั้น และให้ประโยชน์ที่สอดคล้องกับความมุ่งประสงค์ (Purpose) ของผู้ที่นำไปใช้

Social Business เป็นการประกอบการที่ตั้งอยู่บนความมุ่งประสงค์เดียว (Sole Purpose) คือ การแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

ถ้าอิงตามนิยามนี้ กิจการที่เป็นมูลนิธิหรือองค์กรสาธารณกุศล เชื่อแน่ว่าเป็นการประกอบการที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคม แต่หากหมดเงินบริจาคหรือขาดผู้อุปถัมภ์เมื่อใด แล้วมูลนิธิอยู่ไม่ได้ แสดงว่า ไม่ใช่ Social Business

กิจการที่เป็นบริษัทหรือธุรกิจปกติ เชื่อแน่ว่าเป็นการประกอบการด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่เป็นไปเพื่อความมุ่งหมายที่จะแสวงหากำไรและนำมาแบ่งปันกันระหว่างผู้ถือหุ้น จึงไม่ใช่ Social Business

ส่วนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ตั้งขึ้นเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหลักแบบมูลนิธิ แต่มีหนทางที่เลี้ยงตัวเองได้แบบบริษัท โดยยังคงสามารถแบ่งปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้ด้วย เข้าข่ายเป็นลูกผสมระหว่างมูลนิธิกับบริษัท แสดงว่า มิได้มีความมุ่งประสงค์เดียว (Sole Purpose) ในกรณีนี้ จึงไม่ใช่ Social Business (วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่มีนโยบายปันผลกำไร ถึงจะจัดเป็น Social Business)

ด้วยความที่ยูนุสต้องการสร้างโมเดลทางธุรกิจที่โฟกัสในจุดที่เน้นการแก้ไขปัญหาสังคมจริงๆ โดยไม่ให้ผู้ประกอบการวอกแวก หรือไม่เปิดช่องให้มีการชั่งใจเลือกระหว่าง “ประโยชน์ส่วนรวม” กับ “ปันผลส่วนตัว”

เพราะมีฐานคิดว่า ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้น ความโน้มเอียงจะไปในทางที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก่อน แล้วประโยชน์ส่วนรวมค่อยมาทีหลัง (กรณีนี้ เกิดขึ้นแล้วกับโมเดล Community Interest Company หรือ CIC ในประเทศอังกฤษ จนถึงกับต้องแก้กฎหมายเพื่อขอขยายเพดานการปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น)

มาถึงตรงนี้ ต้องขยายการอธิบายความ ไม่ใช่ว่า โมเดล Social Enterprise จะด้อยกว่า Social Business เพราะอย่างที่เรียนตอนต้นว่า แต่ละโมเดลมีจุดที่สร้างคุณค่าบางอย่างไม่เหมือนกัน มีความเหมาะสมแตกต่างกันตามจริตของผู้ที่นำไปใช้

ผู้ประกอบการที่มาจากสายธุรกิจ และต้องการขยายบทบาทมาสู่การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสังคม อาจจะถูกจริตกับโมเดล Social Enterprise มากกว่า เพราะยังคงสามารถรับรู้กำไรผ่านปันผลที่พึงได้

ขณะที่ ผู้ประกอบการสังคม สายเอ็นจีโอ ที่ไม่ต้องการถูกครหาว่า มีประโยชน์ส่วนตัวบนการแก้ไขปัญหาชุมชนหรือการช่วยเหลือสังคมส่วนรวม อาจจะถูกจริตกับโมเดล Social Business มากกว่า

หรือกรณีที่ ภาครัฐ เชิญชวนเอกชนให้เข้าร่วมแก้ไขปัญหาสังคมในรูปแบบความร่วมมือทวิภาคี หรือรัฐร่วมเอกชน อะไรก็แล้วแต่ โดยภาคเอกชนต่างออกมาขานรับว่า ยินดีที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากงบประมาณของรัฐ หรือคิดที่จะหาประโยชน์แอบแฝงกับโครงการช่วยเหลือชุมชนใดๆ ทั้งสิ้น ในกรณีนี้ โมเดลที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการนำไปใช้ คือ Social Business

สำหรับธุรกิจปกติทั่วไป เมื่ออ่านถึงจุดนี้ อาจจะด่วนสรุปความว่า ถ้างั้น โมเดล Social Business คงไม่เหมาะกับตนเอง และนำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ก็ต้องขอเรียนว่า ผิดครับ เพราะถ้าธุรกิจท่านมีการทำ CSR-after-process ในรูปของการบริจาคหรือการกุศลอยู่ทุกปี Social Business จะเป็นทางเลือกใหม่ในการทำ CSR แบบที่ท่านเคยทำในรูป Philanthropy โดยไม่สูญเงินต้น!

ไว้จะได้ขยายความให้ฟัง ในโอกาสต่อไปครับ

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: