การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development (SD) เป็นการพัฒนาที่คำนึงถึงมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบกันอย่างสมดุล เกิดจากการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่เฉพาะเพียงภาคธุรกิจเอกชน
ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวม มุ่งหมายที่จะบรรลุถึงสถานะแห่งความยั่งยืนของสังคมโลก ไม่ใช่เพื่อความยั่งยืนหรือความสามารถในการอยู่รอดขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ซึ่งหมายรวมถึง วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน และแหล่งทรัพยากรที่ยั่งยืน
เมื่อไล่เรียงพัฒนาการในกระบวนทัศน์ (Paradigm) การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรธุรกิจ โดยใช้กรอบผู้มีส่วนได้เสียของกิจการเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา จะสามารถจับคู่กระบวนทัศน์การพัฒนาที่สัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย ได้เป็น 5 คู่ความสัมพันธ์ ได้แก่ CG กับผู้ถือหุ้น, ESG กับผู้ลงทุนสถาบัน, CSR กับผู้มีส่วนได้เสียรอบกิจการ, SD กับสังคม, และ Sustainability กับองค์กร
กระบวนทัศน์เรื่องธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการ (CG) จัดเป็นหลักการเบื้องต้นที่ธุรกิจคำนึงถึงการรักษาประโยชน์ของผู้ถือหุ้นผ่านทางตัวแทนที่เป็นคณะกรรมการบริษัท ธรรมาภิบาลถือเป็นโครงสร้างและกระบวนการภายในกิจการ ที่จัดให้มีขึ้นสำหรับการกำหนดทิศทางและสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานของกิจการให้มีความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เจริญรุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายของกิจการ พร้อมกันกับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง
เนื่องจาก CG เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขั้นพื้นฐานของกิจการ ที่คำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย และดูแลผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องภายใต้สิทธิที่พึงได้รับตามที่กฎหมายกำหนด กระนั้นก็ตาม องค์กรที่มี CG ดี อาจไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม หรือได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการจากสังคม (License to operate) เพียงเพราะได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
กระบวนทัศน์เรื่อง ESG เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในแวดวงผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ที่ตระหนักถึงการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ โดยให้น้ำหนักความสำคัญทั้งในแง่ผลประกอบการทางการเงิน และผลกระทบจากการประกอบการที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินในประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environmental, Social and Governance)
ขณะที่กระบวนทัศน์เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR เป็นกลไกการดำเนินงานในกิจการที่เชื่อมโยงสู่การปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียรอบกิจการ ที่องค์กรจัดให้มีขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างประโยชน์แก่กิจการและผู้มีส่วนได้เสียบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การสงเคราะห์ช่วยเหลือตามกำลังและความสามารถของกิจการ อันจะนำไปสู่การยอมรับจากสังคมและความยั่งยืนของกิจการ
CSR จึงเป็นการดูแลรักษาไม่เฉพาะในส่วนที่เป็นกิจการ แต่ยังแผ่ขยายกว้างออกไปครอบคลุมในส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดที่อยู่โดยรอบกิจการ ด้วยเงื่อนไขของความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะนิติพลเมือง (Corporate Citizen) โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกกิจการอย่างเป็นธรรม เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่มากกว่าการคำนึงถึงเพียงการปฏิบัติตามกฎหมาย
สำหรับบทบาทของธุรกิจต่อกระบวนทัศน์เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (SD) คือ การดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปพร้อมกัน ในอันที่จะช่วยเสริมหนุนการทำงานของภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม ให้เกิดเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวม
เนื่องจาก การประกอบธุรกิจ มีเป้าประสงค์ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ความคาดหวังที่จะให้ภาคธุรกิจ ดำเนินงานด้านการพัฒนาสังคมหรือการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงไม่อยู่ในวิสัยที่ธุรกิจจะดำเนินงานในแบบเต็มตัว
กลยุทธ์ SD ที่ธุรกิจนำมาใช้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จึงเป็นการจำกัดความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นการประกอบธุรกิจหรือการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากกลยุทธ์ CSR แต่ประการใด (กลายเป็นว่า กลยุทธ์ SD = CSR)
ขณะที่เรื่องความยั่งยืน หรือ Sustainability เป็นอีกหนึ่งคำ ที่ภาคธุรกิจหยิบฉวยมาใช้ เพื่อแสดงถึงสถานะของผลการดำเนินงาน ที่สามารถนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนของสังคมโดยรวม หรือความยั่งยืนในระดับองค์กร ตามแต่กลยุทธ์ที่นำมาใช้
กระบวนทัศน์เรื่องความยั่งยืน ตามนัยที่ภาคธุรกิจนำมาใช้ เป็นการจัดการในระดับองค์กรหรือระดับห่วงโซ่ธุรกิจ ที่มุ่งหมายให้องค์กรเกิดความยั่งยืนเป็นหลัก โดยมุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับการเติบโตทางธุรกิจ (Carrying Capacity) ซึ่งอาจเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการก็ได้
กลยุทธ์ความยั่งยืนที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจหรือประโยชน์ขององค์กร ในกรณีนี้ จึงมีขอบเขตที่แคบกว่ากลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมที่ใช้เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังหรือประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง (กลายเป็นว่า กลยุทธ์ Sustainability < CSR)
หวังว่า คงจะช่วยให้ท่านผู้อ่านคลายความสับสนต่อคำเรียกหลายคำที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้นะครับ
จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Thursday, February 04, 2016
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment