Monday, August 08, 2016

ดัชนียั่งยืนองค์กร

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDG) 17 ข้อ ที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 193 ประเทศ ได้มีฉันทามติร่วมกัน ภายใต้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ได้ถูกนำมาใช้เป็นเป้าหมายอ้างอิงต่อการพัฒนาทั้งในภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ที่สามารถยอมรับร่วมกัน โดยได้รับการเห็นพ้องทั้งในระดับระหว่างองค์กรและระหว่างประเทศ

แต่เดิมหน่วยงานที่เข้าเป็นภาคีหรือหุ้นส่วนการพัฒนาในมิติต่างๆ ต้องใช้เวลาและทรัพยากรไปกับการรวบรวม กลั่นกรอง และเห็นพ้องในเป้าหมายร่วมกันก่อนการดำเนินงาน และบ่อยครั้ง ก็ไม่สามารถได้ข้อสรุปร่วม เป็นเหตุให้การดำเนินงานในลักษณะหุ้นส่วนความร่วมมือในหลายเวที ไม่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์

การอ้างอิงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นธงในการพัฒนาของแต่ละภาคส่วน จะช่วยขจัดและลดการสูญเสียเวลาและทรัพยากรที่ใช้ไปกับการได้มาซึ่งข้อตกลงก่อนการดำเนินงาน ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย ได้อย่างกว้างขวางนับจากนี้ไป

จากรายงานการศึกษา “SDG Index and Dashboards - Country Profiles” ที่จัดทำโดยมูลนิธิเบอร์เทลสแมนน์ (Bertelsmann Stiftung) ร่วมกับเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ประเทศไทย มีการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในอันดับที่ 61 ของโลก จากการสำรวจทั้งหมด 149 ประเทศ โดยเป้าหมาย SDG หลัก 3 ลำดับแรก ที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญในการปรับปรุงพัฒนา ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 หมวดอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน เป้าหมายที่ 12 แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 16 หมวดสันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง

เป้าหมาย SDG 3 ลำดับแรก ที่ไทยควรให้ความสำคัญในการปรับปรุงพัฒนา

สำหรับภาคเอกชน ขั้นตอนในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถเริ่มจากการพิจารณาสิ่งที่องค์กรตนเองได้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยการประมวลและเพิ่มเติมการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานขององค์กร ให้มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากนั้น องค์กรธุรกิจจึงค่อยพิจารณาเพิ่มเติมการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องหรือตอบสนองต่อ SDG ในข้อที่มีการดำเนินการบ้างแล้ว แต่ยังทำไม่ได้เต็มที่ และในข้อที่ยังมิได้มีการดำเนินการ ตามลำดับ

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า องค์กรธุรกิจทุกแห่ง จะต้องดำเนินการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนครบทั้ง 17 ข้อ แต่กิจการต้องสามารถเลือกเรื่องที่มีความเกี่ยวเนื่องต่อการสร้างคุณค่า เป็นเรื่องซึ่งมีนัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องที่ถูกให้ลำดับความสำคัญโดยองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

และเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีกรอบในการใช้ปรับแนวการดำเนินธุรกิจ ในทิศทางที่สอดคล้องกับ SDG สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่ทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2548 ได้ริเริ่มโครงการจัดทำ ดัชนีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับองค์กร (Corporate SDG Index) สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการแปลงเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน มาเป็นโจทย์ในการดำเนินงานในระดับองค์กร ซึ่งจะช่วยเปิดมุมมองให้ภาคเอกชนได้เห็นภูมิทัศน์ใหม่ทางธุรกิจ และเอื้อให้เกิดการสร้างโอกาสทางธุรกิจไปพร้อมๆ กัน

องค์กรธุรกิจที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ http://www.sdgindex.com ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: