Sunday, June 23, 2019

งาน Social Business Day ที่ไม่ควรพลาด

ไม่บ่อยนัก สำหรับแวดวงการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย ที่จะได้มีโอกาสเป็นเจ้าบ้านต้อนรับงานใหญ่ระดับนานาชาติ ที่มีผู้คนทั้งในภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษาทั่วโลก มารวมตัวกันอยู่ในงานเดียว


งานที่พูดถึงนี้ คือ งาน Social Business Day ครั้งที่ 9 ที่กรุงเทพฯ ในสัปดาห์นี้ (28-29 มิถุนายน) โดยมีผู้จัดหลัก คือ Yunus Centre ศูนย์ที่ก่อตั้งโดย ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ผู้ที่เป็นต้นตำรับแนวคิด Social Business

Social Business เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งมีความแตกต่างจากธุรกิจปกติที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด และไม่ใช่องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ที่อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคหรือเป็นองค์กรการกุศล แต่เป็นการประกอบธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

ยูนุสได้บุกเบิกการทำงานตามแนวทางดังกล่าวด้วยตัวเอง มาเป็นเวลากว่า 30 ปี เกิดเป็นตัวอย่างกว่า 40 ธุรกิจ เฉพาะในบังกลาเทศที่เป็นบ้านเกิดของยูนุส และในจำนวนนั้น มีธุรกิจที่พัฒนาเติบโตจนติดอยู่ในกลุ่มกิจการขนาดใหญ่สุดของประเทศ จนสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และองค์การระหว่างประเทศทั้งในสังกัดภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ต่างให้การยอมรับแนวคิด Social Business นี้อย่างกว้างขวาง

เป้าหมายของธุรกิจเพื่อสังคม คือ การแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิธีการทางธุรกิจ ที่ครอบคลุมถึงการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการ ดังตัวอย่างของ กรามีน-ดาน่อน ที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการ ด้วยการผลิตโยเกิร์ตที่เติมธาตุอาหารเสริมจำหน่ายแก่ผู้มีรายได้น้อย หรือ กรามีน-วีโอเลีย ที่ช่วยแก้ปัญหาของผู้อยู่อาศัยในแหล่งที่มีการปนเปื้อนของสารหนูในน้ำดื่ม ด้วยการจำหน่ายน้ำดื่มบริสุทธิ์ในราคาถูกตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก หรือ บีเอเอสเอฟ-กรามีน ที่ต้องการควบคุมโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ ด้วยการผลิตและจำหน่ายมุ้งเคลือบสารกันยุงในแหล่งที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค เป็นต้น

เท่าที่ผมได้รับข้อมูลจากผู้จัดงาน จนถึงวันที่เขียนบทความชิ้นนี้ งาน Social Business Day ครั้งที่ 9 นี้ มียอดผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1,300 คน จาก 41 ประเทศ 7 ทวีป (มีมาจาก ทวีปแอนตาร์กติกา ด้วย!)

ผู้จัดยังบอกด้วยว่า งาน #SBD2019 ในครั้งนี้ เป็น Social Business Day ที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นอีเวนท์ Social Business ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ที่เคยจัดมา

ในงาน 2 วัน มีการประชุมกลุ่มย่อย (Breakout Session) 9 กลุ่ม การประชุมกลุ่มประเทศ (Country Forum) 7 กลุ่ม การประชุมกลุ่มเยาวชน (Youth Workshop) 6 กลุ่ม และการประชุมคู่ขนานสำหรับภาคการศึกษา (Academia Conference) ในช่วงบ่ายของงานวันที่สอง

โดยงานในปีนี้ ใช้ธีมว่า “Making Money is Happiness, Making Other People Happy is Super Happiness” (การทำเงินเป็นความสุข แต่การทำให้ผู้อื่นมีความสุข เป็นความสุขยิ่ง)

หัวข้อที่จะมีการพูดคุยในงาน ครอบคลุมทั้งเรื่องการศึกษา เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร สุขภาวะ การเงิน สิ่งแวดล้อม พลังงานสีเขียว ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ธุรกิจเพื่อสังคมกับการกีฬา กิจการขนาดใหญ่กับธุรกิจเพื่อสังคม เทคโนโลยีกับธุรกิจเพื่อสังคม ภาวะผู้นำเยาวชนกับธุรกิจเพื่อสังคม สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์กับธุรกิจเพื่อสังคม ฯลฯ ซึ่งจะนำการสนทนาโดยวิทยากรจากทั่วโลกกว่า 100 คน

ในงานครั้งนี้ Yunus Centre ยังถือโอกาสใช้เป็นเวทีในการเปิดตัว Corporate Action Tank Thailand แพลตฟอร์มการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนความริเริ่มด้านธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยด้วย

Corporate Action Tank ที่กำลังจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่สี่ นับจากที่ Yunus Centre ได้ก่อตั้งมาแล้วที่ประเทศฝรั่งเศส อินเดีย และบราซิล

องค์กรธุรกิจที่จะเข้าร่วมใน Corporate Action Tank จะมีการนำหลักการของ Social Business มาใช้แก้ปัญหาสังคมในประเด็นที่อยู่ในความสนใจขององค์กร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมาย ด้วยการนำธุรกิจแกนหลัก (Core Business) ของตน มาดำเนินการ

เท่าที่ทราบอย่างไม่เป็นทางการ มีกิจการที่ตอบรับเข้าร่วมใน Corporate Action Tank แล้ว ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มบริษัท บางจาก (โปรดติดตามประกาศจากผู้จัดในวันงานอีกครั้งหนึ่ง)

งานใหญ่ระดับโลกนี้ ได้มาจัดอยู่ในบ้านเราเอง (ที่เซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์) ผู้ที่อยู่ในแวดวงการทำงานธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: