การเข้าช่วยเหลือจากอาสาสมัครมีอย่างท่วมท้น ไม่แพ้ปริมาณน้ำที่เอ่อท่วมแม้แต่น้อย ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า คนไทยจะสามารถฝ่าวิกฤตการณ์ที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงครั้งนี้ให้ผ่านพ้นไปได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี ด้วยปริมาณความช่วยเหลือที่มาจากทั่วสารทิศ และไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้เช่นนี้ หากองค์กรที่เป็นแกนในการให้ความช่วยเหลือหลัก ขาดความสามารถในการบริหารจัดการด้วยการวางกลไกและระบบรองรับให้มีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงที ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในอีกมิติหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในเอกสาร “Integrated Flood Risk Management in Asia” ที่จัดทำขึ้นโดย ADPC (Asian Disaster Preparedness Center) และ UNDP ได้ให้ข้อแนะนำในการเข้าให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินแก่องค์กรหรือภาคีต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ และคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งแก่องค์กรที่เป็นแกนในการให้ความช่วยเหลือหลัก และองค์กรเข้าร่วมให้ความช่วยเหลือในระดับต่างๆ ไม่มากก็น้อย จึงนำมาเรียบเรียงเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้
Do | Don't |
พิจารณาบริจาคตามคำร้องขอถึงสิ่งที่ต้องการ และหลีกเลี่ยงการบริจาคสิ่งที่ไม่ต้องการ | อย่าสันนิษฐานถึงสิ่งที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือเอาเอง |
คิดให้ถ้วนถี่ถึงความสามารถที่จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างมีประสิทธิผล ตามคำขอความช่วยเหลือที่เป็นไปตามการประเมินความต้องการขั้นต้น | อย่าตอบสนองเพื่อหวังโฆษณาออกสื่อ |
กรณีที่ประสงค์จะช่วยเหลือ จัดเตรียมการตอบสนองให้ทันต่อเวลา | อย่าไปถึงล่าช้า โดยเฉพาะการค้นหาผู้ประสบภัยและให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ เป็นกรณีที่ต้องรีบดำเนินการในช่วงแรกของภาวะฉุกเฉิน |
จดบันทึกการให้ความช่วยเหลือต่างๆ พร้อมสำหรับการชี้แจงถึงการตัดสินใจและการดำเนินการ | อย่าใช้ภาวะฉุกเฉินเป็นช่องทางในการโฆษณาหรือส่งเสริมการดำเนินการขององค์กร เช่น การจำลองเหตุการณ์ช่วยเหลือเพื่อการประชาสัมพันธ์ |
ทำการประเมินและวิจัยที่นำไปสู่โครงการซึ่งตอบความต้องการและอยู่ในวิสัยที่องค์กรสามารถดำเนินการ | อย่าจัดให้มีกิจกรรมความช่วยเหลือตามสิ่งจูงใจที่เป็นตัวเงินจากองค์กรผู้บริจาค และองค์กรที่บริจาคไม่ควรแข่งขันกันเพียงเพื่อสนองความต้องการที่เห็นเด่นชัดสุดในพื้นที่ |
สร้างโครงข่ายและสื่อกลางสำหรับการติดต่อสื่อสารและสนทนาสองทาง | อย่ากันผู้ประสบภัยออกจากการวางแผนกิจกรรมให้ความช่วยเหลือและการฟื้นฟู |
พิจารณาผลกระทบโครงการที่มีต่อสิ่งแวดล้อม จัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) | อย่าทำลายสิ่งแวดล้อม |
คำนึงถึงความสัมพันธ์และโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ในชุมชน | อย่าสร้างมูลเหตุแห่งความตึงเครียดในชุมชน ด้วยการละเลยโครงสร้างเชิงสังคม |
ให้แน่ใจว่าโครงการ ตอบสนองความต้องการของผู้รับ มิใช่ความต้องการของผู้บริจาค | อย่าเร่งรัดให้ดำเนินโครงการ โดยปราศจากการประเมินอย่างเข้มงวด |
เข้าร่วมรับฟังหารือระดับองค์กรกับภาคีต่างๆ ขึ้นทะเบียนกับองค์กรช่วยเหลือหลักเมื่อมีคำขอ แลกเปลี่ยนข่าวสาร รวมทั้งการให้ความร่วมมือ การทำงานร่วมกัน และการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนดำเนินงานในส่วนที่เป็นไปได้ | อย่าเพิกเฉยคำขอของภาครัฐ และองค์กรช่วยเหลือหลักในพื้นที่ประสบภัย |
เคารพในวิถีแห่งวัฒนธรรม และพิจารณาถึงข้อกระทบที่มีกับโครงการ อาทิ การออกแบบศูนย์อพยพ รูปแบบที่พักพิง | อย่าละเลยบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม อาทิ เครื่องแต่งกายที่เหมาะสม จารีตทางศาสนา และวิถีชีวิตตามประเพณี |
คำนึงถึงความเป็นอยู่ของบุคลากรผู้ให้ความช่วยเหลือ ในด้านการพักผ่อน สุขภาพจิต อาหาร น้ำ | อย่าให้บุคลากรผู้ให้ความช่วยเหลือ ตรากตรำทำงานจนเกินขีดจำกัด |
ตระเตรียมปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินงานจำเพาะหน้าให้ลุล่วง เช่น การนำอุปกรณ์ที่ถูกต้องและบุคลากรที่มีทักษะเหมาะสม เข้าให้ความช่วยเหลือ | อย่าหลงลืมว่าการจัดหาหรือให้ความช่วยเหลือนั้น เป็นจุดมุ่งหมายหลักที่มีต่อผู้ประสบภัย |
...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
No comments:
Post a Comment