โลกได้เข้าสู่ยุคที่มีการเชื่อมโยงติดต่อสื่อสารได้อย่างง่ายดายขึ้นมาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซีกโลกหนึ่ง สามารถรับรู้ได้อย่างฉับพลันทันทีในทุกมุมของโลก และสามารถมีอิทธิพลต่อจิตใจและพฤติกรรมของเราได้ ทั้งโดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
การเตรียมพร้อมรองรับวิถีการดำเนินชีวิตในโลกยุคใหม่ จำต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ในหลายๆ เรื่องให้กับตัวเอง เพื่อรับมือกับอุบัติการณ์ทางสังคมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น เงินดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ชีวภาพ หรือเทคโนโลยีเสมือนซ้อนจริง (Augmented Reality) ฯลฯ
หลักคิดที่สามารถนำไปใช้ได้ง่ายๆ คือ “เปิดรับ-ปรับใช้-ไตร่ตรอง” เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีและวิทยาการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีประโยชน์และทำให้การดำเนินชีวิตสะดวกสบายขึ้น เราไม่สามารถปิดกั้นตัวเองจากสังคมภายนอกและโลกที่กำลังดำเนินเปลี่ยนแปลงไป การเปิดรับเป็นสิ่งที่ทำได้และควรทำ เพียงแต่ต้องมีการใช้วิจารณญาณหรือมีความแยบคายในการปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตน ขณะที่อุบัติการณ์บางอย่าง อาจก่อให้เกิดโทษ หากนำมาใช้ผิดวิธี เราจึงจำเป็นต้องมีขีดความสามารถในการไตร่ตรองหรือคัดกรองก่อนที่จะนำมาใช้ด้วย
สำหรับประเทศไทยที่พัฒนามาถึงจุดนี้ได้ เราอาศัยบุญเก่า ที่ได้เปรียบด้านภูมิประเทศทำเลที่ตั้ง อุดมด้วยวัฒนธรรม ประเพณี และมรดกทางสังคม ที่บรรพบุรุษเราสร้างและรักษาไว้ให้
แต่นับจากนี้ต่อไป คนไทยรุ่นปัจจุบันและในรุ่นใหม่ จำเป็นต้องคิด ออกแบบ และสร้างบุญใหม่ให้แก่ประเทศ โดยไม่ใช้บุญเก่าที่มีอยู่อย่างเดียว หากบุญเก่าเราไม่รักษา บุญใหม่เราไม่สร้างเพิ่ม ประเทศไทยวันข้างหน้า ก็คงจะตั้งอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความเจริญรุ่งเรืองได้อย่างยากลำบาก
แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสำหรับคนไทยที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อนำมาขับเคลื่อนประเทศไทย ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้พัฒนาควบคู่ไปด้วยกัน
ในระดับโลก องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ไว้จำนวน 17 ข้อ โดยมีระยะเวลาครอบคลุมการดำเนินงาน 15 ปี จวบจนปี พ.ศ.2573 ประเทศไทยในฐานะหนึ่งใน 193 ประเทศสมาชิก ได้รับเอาเป้าหมายดังกล่าว มาพิจารณาดำเนินการเพื่อพัฒนาประเทศของเราเองให้มีความยั่งยืน สอดคล้องกับบริบทโลก
จึงเป็นโจทย์ที่คนไทยทั้งในรุ่นปัจจุบันและในรุ่นใหม่ จะต้องรับมาเป็นวาระในการขับเคลื่อนประเทศไทยร่วมกัน ภายใต้บทบาทหน้าที่รับผิดชอบในงานของตนเอง
ด้วยเหตุที่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ถูกใช้เป็นวาระแห่งการพัฒนาในระดับโลก แบบแผนการศึกษาของประเทศ เพื่อรองรับสังคมในอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงควรถูกวางให้เป็น “การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ให้สอดรับกัน เนื่องเพราะการศึกษาเป็นพื้นฐานของการพัฒนา หากขาดซึ่งการศึกษาที่มีคุณภาพ ประเทศก็จะไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งทิศทางของการจัดการศึกษา มีส่วนสำคัญในการชี้นำทิศทางการพัฒนาประเทศเช่นกัน
กรอบคิดในการออกแบบระบบการศึกษาที่ควรจะเป็น คือ การปรับเปลี่ยนจากการศึกษาเพื่อพัฒนา โดยการคำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในลักษณะแยกส่วนหรือแบบเสาหลัก (pillars) มาเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนา ในลักษณะบูรณการหรือแบบมิติ (dimensions) ที่คำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างมิติในทุกระดับของการพัฒนา
การกำหนดผลลัพธ์ของการจัดการศึกษา เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรมีการปรับเปลี่ยนชุดความคิด (mindset) หรือมีการปฏิรูปจากหลักการพัฒนาเพื่อให้เป็นเลิศในกลุ่ม (best in class) มาสู่การพัฒนาบ่มเพาะผู้เรียน บัณฑิต หรือผู้สำเร็จการศึกษา เพื่อให้เป็นเลิศแก่กลุ่ม (best for class) ซึ่งจะทำให้ผลผลิตทางการศึกษาของประเทศ ยกระดับไปสู่การมีบุคลากรที่เป็นเลิศแก่สังคม แทนการแข่งขันเพื่อเป็นเลิศในสังคม
(เรียบเรียงจาก “80 วิสัยทัศน์ ถอดรหัสอนาคต” เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา)
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
Sunday, February 11, 2018
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment