Sunday, January 28, 2018

มาแล้ว ประชารัฐ 2.0 (เวอร์ชัน ไทยนิยม)

ตั้งแต่ที่ คสช. ซึ่งนั่งควบบริหารราชการแผ่นดินในรัฐบาลชุดนี้ ได้ประกาศแนวทาง “ประชารัฐ” เป็นธงนำในการพัฒนา ผมยังจำได้ว่า มีการทำโฆษณา สื่อสารกับสังคมขนานใหญ่ ว่าแนวทางดังกล่าว ต่างจาก “ประชานิยม” อย่างไร

หากนับจากที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อ สนช. ไว้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2557 ต้องยอมรับว่า การผลักดันแนวทางประชารัฐ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ที่เคลื่อนจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและสังคมพึ่งพิงรัฐ (ที่นิยามว่าเป็น ประชานิยม) มาสู่การขจัดปัญหาเชิงฐานรากและการผนึกกำลังของสามภาคส่วน (ที่นิยามว่าเป็น ประชารัฐ)ได้ในห้วงระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมา

การนำเสนอแนวทาง “ไทยนิยม” ในห้วงเวลานี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า จุดขาย ประชารัฐ ได้ดำเนินมาถึงสุดทางแล้ว จ๊อกกี้กำลังเปลี่ยนม้าที่ชื่อ ประชารัฐ ไปเป็น ม้าชื่อ ไทยนิยม โดยหวังจะอาศัยม้าในชื่อใหม่นี้ ควบเข้าสู่เส้นชัย ที่เหลือระยะทางอีกรอบปีกว่าๆ นับจากนี้

หากมองด้วยสายตาของนักการตลาด สำนักคอตเลอร์ ที่ได้เข็นหลักคิดทางการตลาดไว้ถึง 4 เวอร์ชัน สำหรับการนำไปใช้ในธุรกิจแขนงต่างๆ รวมไปถึงการประยุกต์ใช้ในบริบทของการตลาดภาครัฐ แต่ในที่นี้ ผมจะขอนำมาประยุกต์กับการตลาดภาคการเมือง เพื่อใช้คาดการณ์คำตอบบางอย่างล่วงหน้าครับ

เริ่มจากหลักคิดของการตลาด 1.0 (Product-centric) ในทางการเมือง คือ ขายด้วยนโยบาย การตลาด 2.0 (Consumer-oriented) ขายด้วยความพึงพอใจและการรักษาฐานคะแนนเสียง การตลาด 3.0 (Values-driven) ขายด้วยค่านิยมที่ทำให้ประเทศน่าอยู่ขึ้น และการตลาด 4.0 (Social-factor) ขายด้วยความเห็นของคนหมู่มาก

ส่วนกลยุทธ์ที่ใช้ในการตลาด 1.0 คือ การพัฒนานโยบายให้ตรงกับความต้องการของประชาชน กลยุทธ์สำหรับการตลาด 2.0 คือ การสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในใจของประชาชน ขณะที่กลยุทธ์สำหรับการตลาด 3.0 คือ การสร้างให้เป็นค่านิยมในระดับจิตวิญญาณของประชาชน และกลยุทธ์สำหรับการตลาด 4.0 คือ การสร้างปัจจัยเอื้อที่สามารถชี้นำหรือครอบงำความเห็นของประชาชน

รัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ต้องใช้การตลาด 1.0 เพราะไม่จำเป็นต้องเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก เพื่อจะได้เข้ามาบริหารประเทศ และสามารถก้าวข้ามการตลาด 2.0 เพราะไม่ได้ต้องการสืบทอดอำนาจ หรือให้ได้คะแนนนิยม เพื่อจะได้สมัครรับเลือกตั้งเข้ามาในสมัยต่อไป หรือไม่อย่างไร

การตลาด 3.0 เป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับรัฐบาลชุดปัจจุบันที่สุด และเชื่อว่า ในต้นสมัยของการเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ก็ได้ถูกวางแนวทางไว้เช่นนั้น

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า สิ่งที่คิด กับสิ่งที่เกิดขึ้น มิได้ไปในทิศทางเดียวกัน เอาแค่ประเด็นเรื่องความโปร่งใสและการต่อต้านทุจริต เรื่องนาฬิกาหรูของรัฐมนตรีร่วม ครม. (ที่สำคัญมากกว่า คือ ท่าทีของผู้นำรัฐบาลต่อเรื่องดังกล่าว) เรื่องการไม่ร่วมเผยแพร่ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ทุจริต โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ด้วยเหตุผลบางประการ เป็นต้น

ทำให้การปลูกฝังค่านิยม (ที่ดี) ในจิตวิญญาณของประชาชน เป็นอันไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเครดิตที่สูญเสียไป และเกิดวิกฤตศรัทธาในกลุ่มคนที่เคยให้การสนับสนุน ดังที่ท่านรัฐบุรุษ ได้แสดงความห่วงใยว่า กองหนุนกำลังหมดแล้ว

เมื่อการตลาด 3.0 ใช้ไม่ได้แล้ว การตลาด 4.0 กลายเป็นทางบังคับเลือกของรัฐบาล คือ การสร้างปัจจัยเอื้อที่สามารถชี้นำความเห็นของประชาชน

ซึ่งในทางทฤษฎีบอกว่า ต้องเข้าใจและนำเรื่องอิทธิพลของ O Zone (Own + Other + Outer Influence) มาใช้

แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาล กำลังถอยกลับไปใช้ การตลาด 2.0 ที่พยายามขายด้วยความพึงพอใจและการรักษาฐานคะแนนเสียง โดยสังเกตจากองคาพยพของ ไทยนิยม ที่ทยอยประกาศออกมา

ทำให้ข้อสงสัยในใจของหลายคนก่อนหน้านั้น ว่าคสช.กำลังต้องการสืบทอดอำนาจ หรือกำลังสร้างคะแนนนิยม เพื่อจะได้รับเลือกเข้ามาในสมัยต่อไป หรือไม่อย่างไร ยังคงเป็นที่คาใจ

ตามมาด้วยคำถามอีกว่า ด้วยสรรพกำลังของทีมแวดล้อมรัฐบาลนั้น มีสมรรถภาพและทรัพยากรในตัว พอต่อการสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในใจของประชาชนได้จริงหรือ

ฤาจะเดินตามรอย ประชานิยม ที่รัฐบาลสมัยหนึ่งเคยประทับความทรงจำในใจของประชาชนได้อย่างแน่นแฟ้น อย่างนี้แล้วจะประกาศว่า เป็นความแตกต่างได้อย่างไร

หากกุนซือรัฐบาลไม่สามารถตีโจทย์การตลาดมวลชนให้แตกครานี้ การนำเสนอแนวทางไทยนิยม คงไม่ได้ต่างจาก ประชานิยมของรัฐบาลยุคก่อน และไม่ได้มีพัฒนาการที่ดีกว่าประชารัฐ 1.0 ซึ่งได้ประกาศไว้ เมื่อ 3 ปีก่อนมากนัก

เมื่อถึงเวลานั้น ไม่เพียงแต่ม้าที่ชื่อ ไทยนิยม จะไม่ได้ไปต่อ เจ้าของคอก ก็อาจเปลี่ยนตัวจ๊อกกี้ ในสนามหน้า ก็เป็นได้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link

No comments: