Monday, January 01, 2018

มองทิศทาง CSR 2018: รับ-รุก-ร่วม-รวม สู่ SDGs

นับตั้งแต่มีการรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และการประกาศใช้เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals -SDGs) ซึ่งเป็นทิศทางของการพัฒนาโลกต่อไปอีก 15 ปี นับตั้งปี 2559-2573

โดย SDGs สานต่อภารกิจการทำงานที่ยังไม่บรรลุผลตามเป้าหมายแห่งการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals-MDGs) เพื่อมุ่งขจัดความยากจนในทุกมิติ และทุกรูปแบบ และสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการพัฒนาใน 3 มิติที่เอื้อต่อกัน และแบ่งแยกมิได้ จนทุกประเทศนำไปใช้เป็นกรอบของการพัฒนาประเทศ และไม่เพียงแต่ภาครัฐบาล ภาคประชาสังคมเท่านั้น

หากรวมไปถึงภาคเอกชน ภาคธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม และการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ ในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศชาติต่อไป

ทั้งนั้น เพื่อเป็นการสะท้อนถึงทิศทางการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม และแนวทางการขับเคลื่อน SDGs ในปี 2561 “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ถึงทิศทาง และแนวโน้มในเรื่องดังกล่าว

“ดร.พิพัฒน์” กล่าวว่า จากการที่ SDGs มีการประกาศใช้ไปเมื่อปี 2015 และในขณะนี้ผ่านมาแล้ว 2 ปีเต็ม นานาประเทศ รวมถึงประเทศไทย ทุกภาคส่วนมีการนำเอา SDGs มาใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

“ในส่วนของภาครัฐมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(กพย.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมด้วยอนุกรรมการอีก 3 คณะ ทำหน้าที่เป็นกลไกระดับชาติ ในการกำหนดนโยบาย กรอบทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดย กพย.จัดทำ roadmap ในการขับเคลื่อน SDGs 17 เป้าหมาย ประกอบด้วยแนวทางดำเนินงานในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมทั้งการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความเหลื่อมล้ำมากและยังขาดความพร้อม กลุ่มที่มีศักยภาพพร้อมต่อการขับเคลื่อน และกลุ่มที่มีความเข้มแข็งและขยายผลได้”

“โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงาน SDGs มีทั้งในระดับ Macro ซึ่งเป็นระดับชาติ ระดับภาค และกลุ่มจังหวัด และในระดับ Micro คือระดับจังหวัด ท้องถิ่น และชุมชน และในส่วนของภาคเอกชน มีองค์กรธุรกิจอย่างน้อย 124 แห่ง

มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับ SDGs โดยจากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ พบว่าองค์กรส่วนใหญ่ มีการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อ SDGs สูงสุด 3 อันดับแรก คือ เป้าหมายด้านการศึกษา มากสุดที่ร้อยละ 57.5 รองลงมาคือ เป้าหมายด้านอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ร้อยละ 40.1 และเป้าหมายด้านความเท่าเทียมทางเพศ ร้อยละ 31.0 ตามลำดับ


“ขณะที่ภาคประชาสังคมมีองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ทั้งระดับพื้นที่ และเครือข่ายในระดับภูมิภาครวมตัวกันเป็นภาคีร่วมสังเกตการณ์ ดำเนินการ และติดตามการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย เพื่อตอบสนองต่อคนทั้งประเทศ และเป็นความยั่งยืนของสังคมโลก ที่จะไม่ทิ้งคนส่วนใหญ่ไว้ข้างหลัง”

“ดร.พิพัฒน์” กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการสำรวจของ GLOBESCAN และ Sustainability ต่อการประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินงาน SDGs ในปี 2017 จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านความยั่งยืน 511 คน ใน 74 ประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคบริการและสื่อ และภาคอื่น ๆ พบว่า องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ประกอบการสังคม เป็นกลุ่มที่มีส่วนผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าต่อเรื่อง SDGs มากที่สุด ในขณะที่รัฐบาลในแต่ละประเทศ มีส่วนผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าต่อเรื่อง SDGs น้อยที่สุด


“คนที่ยังเข้าใจว่า SDGs เป็นเรื่องของสหประชาชาติ เป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาโลก ไม่เกี่ยวกับตนเอง หรือกิจการของตนเท่าใดนัก ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าทุกเป้าหมายของ SDGs ที่เมื่อแต่ละประเทศเข้าร่วมดำเนินการ ผลลัพธ์จะตกอยู่กับชุมชนหรือสังคมที่เราอาศัยอยู่ หรือในอาณาเขตที่กิจการของเรามีสถานประกอบการหรือแหล่งดำเนินงานอยู่”

“ข้อมูลการสำรวจของ GLOBESCAN และ Sustainability ต่อการประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินงาน SDGs ชุดเดียวกัน ในหัวข้อที่องค์กรธุรกิจมีส่วนในการสนับสนุน หรือมีแผนงานที่จะสนับสนุนการบรรลุ SDGs อย่างไรนั้น ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 51 ของผู้ทรงคุณวุฒิด้านความยั่งยืนในภาคธุรกิจ 104 คน มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการเพื่อสนองตอบต่อการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับ SDGs

“รองลงมาเป็นการพัฒนาหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานรัฐ-เอกชน หรือการทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย เพื่อสนับสนุนการส่งมอบผลลัพธ์ตามแผนงาน ร้อยละ 35 และการนำ SDGs มาใช้เป็นแนวในการกำหนดเป้าประสงค์/ กลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ร้อยละ 33 ขณะที่อีกร้อยละ 9 ระบุว่าไม่มีส่วนในการสนับสนุน หรือไม่มีแผนงานที่จะสนับสนุนการบรรลุ SDGs”


สำหรับภาคธุรกิจ รูปแบบการดำเนินงานในการตอบสนองต่อ SDGs ที่ควรจะเป็นคือการผนวกเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่เป็นปกติประจำวัน (Day-to-day business operations) มากกว่าการจัดทำเป็นกิจกรรมในลักษณะ event หรือเป็นโครงการเพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อมที่แยกต่างหากจากกระบวนการทางธุรกิจ ซึ่งไม่ได้เป็นไปแบบยั่งยืนอย่างแท้จริง

ในขณะที่รายงาน Better Business, Better World ของคณะกรรมาธิการด้านธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ระบุว่า การขับเคลื่อนเพื่อที่จะบรรลุ SDGs จะเปิดโอกาสทางการตลาดที่มีมูลค่าสูงถึง 12 ล้านล้านเหรียญ ในระบบเศรษฐกิจ 4 หมวดสำคัญ ได้แก่ อาหารและเกษตรกรรม เมือง, พลังงานและวัสดุ สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี หรือคิดเป็นสัดส่วนอยู่ราวร้อยละ 60 ของภาคเศรษฐกิจจริง (real economy) และส่งผลอย่างสำคัญต่อ SDGs

“ดร.พิพัฒน์” บอกว่าจากข้อมูลที่ได้กล่าวมาข้างต้น สถาบันไทยพัฒน์จึงทำการประมวลทิศทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจให้สอดคล้องกับ SDGs ไว้ 4 ทิศทาง คือ รับ-รุก-ร่วม-รวม ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกระบวนการ-โครงสร้าง-ความสัมพันธ์-โมเดลทางธุรกิจ ตามลำดับ

“เริ่มจากการที่องค์กรธุรกิจ รับเอา SDGs มาเป็นปัจจัยนำเข้า เพื่อทบทวนกระบวนการดำเนินงานของตน ในการที่จะขจัดหรือลดผลกระทบเชิงลบทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการ ถือเป็นการจัดกระบวนการทางธุรกิจ (business process) ใหม่ ให้ตอบสนองต่อ SDGs

ถัดมาเป็นการนำ SDGs มาใช้เป็นแนวในการกำหนดเป้าประสงค์ และกลยุทธ์เชิงรุกด้านความยั่งยืน เพื่อพัฒนาความริเริ่มใหม่ ๆ ในอันที่จะสร้างคุณค่าร่วม หรือสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ (business structure) ให้ตอบสนองต่อ SDGs”

“จากนั้นจึงเป็นการขยายการทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย หรือเป็นการพัฒนาหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานรัฐ-เอกชน เพื่อเพิ่มผลลัพธ์หรือผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ถือเป็นการจัดภาวะความสัมพันธ์ทางธุรกิจ (business relationship) ในการขยายบทบาทหรืออิทธิพลไปสู่หน่วยงานที่อยู่รายรอบ ให้ตอบสนองต่อ SDGs”

“จนนำมาสู่การบูรณาการ หรือการผนวกรวม การแก้ไขปัญหาทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ไว้ในตัวผลิตภัณฑ์/บริการ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือธุรกิจมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการที่ผู้บริโภคสามารถซื้อหาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และใช้แก้ปัญหาที่สอดคล้องกับ SDGs ไปในตัว ถือเป็นการพัฒนาโมเดลทางธุรกิจ (business model) ใหม่ให้ตอบสนองต่อ SDGs”

ดังนั้น การขับเคลื่อนของภาคธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อ SDGs จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการดำเนินงานที่เป็นไปอย่างรับผิดชอบ ในการที่จะดูแลผลกระทบเชิงลบเพื่อมิให้เกิดเป็นความเดือดร้อนเสียหายขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแสวงหาโอกาส (find opportunities) ในการสร้างเป็นผลกระทบเชิงบวก ทั้งแก่ธุรกิจและสังคมควบคู่ไปพร้อมกันต่อไป


จากเซกชัน 'ซีเอสอาร์-เอชอาร์' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: