ในรอบปี 2560 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป มีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมและเรื่องความยั่งยืน เริ่มจากการออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Code: CG Code) สำหรับบริษัทจดทะเบียน ฉบับใหม่ โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อตอบโจทย์ทั้งเรื่องการสร้างผลตอบแทนให้กับธุรกิจ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อม เทคโนโลยี รวมทั้ง ความคาดหวังต่อบริษัทจดทะเบียนในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น
CG Code ฉบับใหม่ ที่ออกมาใช้แทน CG Principles ฉบับปี 2555 ที่ออกโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมประเด็น เพื่อให้ครอบคลุมถึงแนวคิดและปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การเพิ่มความชัดเจนของบทบาทคณะกรรมการในการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการ และบูรณาการหลักความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจเข้าไปในชั้นวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักดังกล่าว เพื่อให้การสร้างคุณค่ากิจการอย่างยั่งยืนแทรกเป็นเนื้อเดียวกับการประกอบธุรกิจ
หลักปฏิบัติที่สำคัญอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งออกโดย ก.ล.ต. ในปี 2560 คือ หลักธรรมาภิบาลการลงทุน สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code: I Code) เพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันใช้เป็นแนวในการบริหารจัดการลงทุนอย่างรับผิดชอบ คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) นอกเหนือจากปัจจัยด้านผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุน
หลักปฏิบัติ I Code ฉบับนี้ ก.ล.ต. จัดทำขึ้น โดยปรับมาจาก Stewardship Code ของต่างประเทศ (โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรที่เป็นต้นแบบ) เพื่อใช้กับผู้ลงทุนสถาบันที่สมัครใจรับการปฏิบัติตาม I Code ทั้งผู้ลงทุนสถาบันที่ให้บริการจัดการเงินลงทุน (Asset Managers) ผู้ลงทุนสถาบันที่จัดการแทนเจ้าของทรัพย์สิน (Asset Owners) และผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง (Related Service Providers)
การออกหลักธรรมาภิบาลการลงทุนนี้ ก.ล.ต. เชื่อว่าจะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือของผู้ลงทุนสถาบันที่รับจัดการเงินลงทุนให้กับลูกค้า (ที่เป็นผู้ถือหน่วยลงทุน เจ้าของเงินลงทุน และผู้รับประโยชน์) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบของบริษัทและกิจการในตลาดทุนไทย
การประกาศ CG Code และ I Code ทั้งสองฉบับ มีผลให้บริษัทจดทะเบียนจำเป็นต้องศึกษา CG Code ฉบับใหม่ เพื่อนำไปปฏิบัติ (โดยใช้หลัก “Apply or Explain” ให้ปรับใช้ตามดุลยพินิจ หรืออธิบายเหตุผลหากไม่ดำเนินการ) รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลในแบบ 56-1 (ที่จะมีผลใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป) และในแบบ 69-1 (ที่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป)
รวมถึงกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันที่จะต้องทำความเข้าใจกับ I Code เพื่อพิจารณารับไปปฏิบัติ (โดยใช้หลัก “Comply or Explain” ให้เป็นไปตามข้อกำหนด หรืออธิบายเหตุผลหากไม่ดำเนินการ) รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประกาศรับการปฏิบัติตาม I Code และผลการปฏิบัติตาม I Code บนเว็บไซต์ของผู้ลงทุนสถาบันและจัดส่ง link (URL) ให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. รวมทั้งในรายงานประจำปี (ถ้ามี)
หลักปฏิบัติทั้งสองฉบับ เน้นการบูรณาการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เข้าไปอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน (CG Code) และกระบวนการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนสถาบัน (I Code) ตั้งแต่การกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ กระบวนการดำเนินงาน การติดตามและการรายงาน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเพื่อการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน
ในปี 2561 ความเข้มข้นของการขับเคลื่อนความยั่งยืนจะยกระดับขึ้นตามกฎเกณฑ์จากผู้กำกับดูแล (Regulatory Discipline) ด้วยหลักการ CG Code และแรงผลักดันจากผู้มีส่วนร่วมในตลาด (Market Force) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ลงทุนสถาบัน ด้วยหลักปฏิบัติ I Code นำไปสู่การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบของกิจการในตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น
จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ [Archived]
Monday, January 08, 2018
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment