ได้เข้าร่วมสัมมนางานวิจัย "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน" ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยหน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน แนวคิดการจัดการความรู้ที่นำมาใช้ในโครงการวิจัยนี้ คือ แนวคิดที่เปรียบเทียบการจัดการความรู้เหมือนกับปลาทู (Plato Model)
ส่วนหัวปลา หมายถึง ส่วนที่เป็นวิสัยทัศน์ หรือเป็นทิศทางของการจัดการความรู้ เป็นการตอบคำถามว่า เราทำการจัดการความรู้ไปเพื่ออะไร (Knowledge Vision) ส่วนกลางลำตัวปลา เป็นส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นส่วนสำคัญและยากที่สุด เนื่องจากกระบวนการต้องอาศัยคนที่พร้อมจะเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ เป็นการจัดการที่จะทำให้เกิดเหตุปัจจัยและสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้คนพร้อมที่จะแบ่งปันและเรียนรู้ร่วมกัน (Knowledge Sharing) ส่วนหางปลา หมายถึง เนื้อหาความรู้ที่เก็บสะสมไว้ที่คลังความรู้ (Knowledge Assets)
ในส่วนของกระแสน้ำนั้น เป็นสิ่งที่ชุดโครงการวิจัยได้เพิ่มเติมเข้ามา เนื่องจากในการดำเนินการเพื่อให้องค์กรการเงินชุมชนเข้มแข็งนั้น ปลาทู (ซึ่งเปรียบเสมือนกับ องค์กรการเงินชุมชน) มิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่จะต้องว่ายฝ่ากระแสน้ำ ซึ่งในที่นี้หมายถึง กระแสการพัฒนา นโยบาย/กฎหมาย กลไกสนับสนุน รวมทั้งสภาพชุมชนด้วย
คณะวิจัยได้นำแบบจำลองปลาทูมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมจัดการความรู้ โดยเริ่มต้นจากการให้คณะกรรมการร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์ ตั้งเป้าหมายที่ต้องการจะไปให้ถึง (หัวปลา) ใช้หลักการของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันสำหรับการพัฒนาเครือข่าย กลุ่ม และสมาชิก (ลำตัวปลา) และดำเนินการจัดทำคลังความรู้ของเครือข่าย กลุ่ม และสมาชิก ในรูปของเอกสารที่เป็นองค์ความรู้ของกลุ่ม (หางปลา)
ผมขอเพิ่มเติม "น้ำพริก" เข้าไปในแบบจำลองนี้ กลายเป็น "น้ำพริก ปลาทู โมเดล" โดยนัยของน้ำพริกในกรณีนี้ หมายถึง การนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ (Knowledge Appreciation) หลังจากที่ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จนเกิดเป็นองค์ความรู้ขึ้น เครือข่าย กลุ่ม และสมาชิก สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในแต่ละสภาพชุมชนที่อาจมีความแตกต่างกันทางภูมิสังคม เปรียบเสมือนกับมีน้ำพริกได้หลายชนิด การบริโภคปลาทู ในที่นี้จึงหมายถึง การแปรสภาพความรู้ให้เกิดประโยชน์ นอกเหนือจากการเก็บไว้เป็นคลังความรู้
แหล่งศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม :
- เว็บ : หน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน
- บล็อก : สถาบันจัดการความรู้เพื่อชุมชน
Friday, September 22, 2006
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment