การรับรู้ที่ตกต่ำลงเช่นนี้ ส่วนหนึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากการไม่ได้ทำ หรือทำได้ไม่ดี แต่มาจากความล้มเหลวในการสื่อสารที่ไม่ได้ทำให้สังคมเชื่อถือในสิ่งที่องค์กรได้ลงมือทำจริง ซึ่งนำไปสู่การลดทอนคุณค่าของ CSR ให้เหลือไว้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์
ขณะที่การเพิ่มขึ้นของความคาดหวังนั้น ก็ไม่ได้มีสาเหตุจากความถดถอยในการทำ CSR ของภาคธุรกิจเพียงถ่ายเดียว แต่ยังเกิดจากความล้มเหลวในการทำหน้าที่ของรัฐ รวมถึงประสิทธิภาพของบรรดาเอ็นจีโอต่างๆ ในการตอบสนองความต้องการของสังคมด้วย จึงทำให้สังคมคาดหวังให้ธุรกิจรับบทบาทในการทำ CSR เพิ่มขึ้น
ในรายงานฉบับล่าสุดนี้ ยังได้ระบุด้วยว่า
• | จำนวนผู้บริโภคที่ปฏิเสธองค์กรธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบและให้การยอมรับองค์กรธุรกิจที่มีความรับผิดชอบมีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในสหรัฐและแคนาดา รวมถึงในตลาดของประเทศที่กำลังพัฒนาขนาดใหญ่ |
• | พนักงานให้ความสำคัญกับคุณค่า CSR ในตัวของผู้บริหารเพิ่มมากขึ้น โดยมองว่า CSR สามารถเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานและความภักดีให้แก่องค์กร |
• | นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า การลงทุนในองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมีความเสี่ยงน้อยกว่าองค์กรที่ขาดภาพลักษณ์ในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม |
สิ่งสำคัญหนึ่งที่องค์กรธุรกิจยังมิได้ตระหนักในเรื่องของ CSR เท่าใดนัก คือ การเชื่อมโยง CSR เข้ากับกิจกรรมหลักทางธุรกิจ มิใช่การทำ CSR ที่แยกต่างหากจากกระบวนการทางธุรกิจ หรือมิใช่การใส่เสื้อคลุม CSR เพื่อปกปิดหรืออำพรางความเลวร้ายทางธุรกิจในแบบฉาบฉวย ซึ่งมักจะถูกเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง หรืออยู่ได้ไม่นาน ตรงกันข้ามกับกิจการที่สามารถผนวกเรื่อง CSR เข้ากับธุรกิจได้อย่างเป็นแก่นสาร จะสร้างให้เกิดขีดความสามารถทางการแข่งขันได้อีกทางหนึ่ง
การที่ภาคธุรกิจลุกขึ้นทำ CSR และกำลังพัฒนาตนเองอย่างขะมักเขม้นนั้น ภาครัฐและเอ็นจีโอก็อย่าลืมสำรวจตนเองด้วยว่า เราได้ทำหน้าที่ตามที่ควรหรือไม่ หรือได้ยกระดับประสิทธิภาพการทำงานในการตอบสนองความคาดหวังหรือแก้ปัญหาสังคมได้ดีมากน้อยเพียงใดด้วย
เพราะการปล่อยให้ภาคธุรกิจฝึกฝนฝีมือจนทำหน้าที่ทั้งหมวกธุรกิจและสังคมได้อย่างชำนิชำนาญแล้ว อนาคตข้างหน้า ที่ยืนขององค์กรภาครัฐและเอ็นจีโอในสังคมอาจเหลือน้อยลงทุกที!!...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
No comments:
Post a Comment