การเริ่มต้นสร้างครอบครัวไม่ ต่างจากการเริ่มต้นธุรกิจและเกี่ยวพันกันยิ่งขึ้นหากเป็นธุรกิจครอบครัว เพราะผู้เริ่มต้นย่อมคาดหวังความยั่งยืนของกิจการ จึงพยายามค้นหาความอยู่รอดให้สามารถสืบทอดได้ถึงลูกหลาน “รุ่นแรกสร้าง รุ่นสองเติบโต รุ่นสามล้มเหลว” คือเหตุการณ์ที่เถ้าแก่ชาวจีนมักกังวล ว่าตระกูลของตนจะสามารถรักษาธุรกิจให้ก้าวสู่รุ่นที่ 3 อย่างราบรื่นได้อย่างไร จึงปรากฏเป็นวัฒนธรรมพร่ำสอนทุกแห่งทุกที่ที่สบโอกาส โดยไม่ผ่านตำราแต่อาศัยประสบการณ์และการบอกเล่าของหลงจู๊ประจำตระกูล
พัฒนาการของธุรกิจไทยนับจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองกับการเปลี่ยนแปลงอย่าง สิ้นเชิงเมื่อโลกทุนนิยมแผ่อิทธิพลครอบงำการเมืองและเศรษฐกิจ ก่อให้เกิด พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ปี 2497 โดยจอมพล ป.พิบูลสงครามลุกขึ้นมาปกป้องด้วยนโยบายชาตินิยม ประเทศไทยเพื่อคนไทยเท่านั้นแต่กลับก่อให้เกิดกลุ่มทุนใหม่ที่มีอิทธิพลของ กลุ่มพ่อค้าจีนเข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ กลับกลายว่า นโยบายกีดกันคนจีนให้พ้นไปจากวงจรกลับเปลี่ยนเป็นนโยบาย "คุ้มครองธุรกิจคนจีน" ที่โครงสร้างมีจุดเริ่มต้นและรากฐานที่ฝังลึกอยู่กับความเป็น "ธุรกิจครอบครัว" ให้เติบใหญ่และมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทุนธนาคารที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ก่อเกิดวัฒนธรรมการเกื้อกูลกับฝ่ายการเมือง แต่จะเห็นได้ว่าความแรงของกระแสการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของโลกก็ได้ผลักให้ หลายกิจการตกเวทีไปได้เช่นกันเห็นได้จากหลายกิจการต้องปิดหรือเปลี่ยนมือไป เมื่อเกิดแรงกระเพื่อมของกระแสโลกาภิวัตน์ ผู้ประกอบการจึงได้เรียนรู้คำว่า Change หรือความพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ในความคิดตลอดเวลา
ในโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองการบริหารธุรกิจครอบครัวกับ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs (Family Business and SMEs Study Center) เพื่อวางแผนการผลิตเนื้อหารายการ “เตี่ยกับเสี่ย” ต้องสะดุดกับข้อมูลจากกลุ่มวิจัย 106 ซึ่งอาจารย์เป็นรองประธานที่มีผลการศึกษาพบว่า อัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวจากรุ่นแรกส่งต่อรุ่นที่ 2 อยู่รอดเพียง 30% ที่เหลืออีก 70 แห่งเลิกกิจการ จากรุ่นที่ 2 ส่งต่อไปยังรุ่นที่ 3 จะอยู่รอดเพียง 12% หมายถึงเลิกกิจการ 60% และจากรุ่น 3 ไปยังรุ่นที่ 4 จะเหลืออยู่รอดเพียง 3% และ 75% ไม่สามารถอยู่รอดได้ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง และทายาทที่ก้าวมาแทนรุ่นก่อนอาจไม่สนใจในกิจการ แต่ต้องรักษาตำแหน่งไว้เพราะเป็นธุรกิจของบรรพบุรุษ
การศึกษาตำนานความสำเร็จธุรกิจครอบครัวระดับโลกอย่าง WallMart ที่มียอดขายปีหนึ่งๆ สูงกว่า GDP ของไทยถึง 2 เท่า สามารถก้าวสู่บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของโลกหลายปีซ้อน Sam ผู้ก่อตั้งลงมือสร้างกิจการด้วยจิตวิญญาณของเถ้าแก่ (Entrepreneurship) ผนวกกับวิสัยทัศน์ผู้นำ (Leadership Vision) และเปี่ยมล้นด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่น ช่างท้าทายความเชื่อว่าเขาสามารถอยู่รอดท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของ Supermarket อย่าง Saveway, Kroger ซึ่งครอบครองพื้นที่การค้าเกือบทุกมลรัฐของอเมริกา แล้วยังรายล้อมด้วยค้าปลีกขนาดยักษ์อย่าง K-Mart J.C Penny, Sear ที่ต่างได้รับความนิยมสูงยิ่งได้
สำหรับบริษัทชั้นนำของไทยที่กำลังอยู่ระหว่างการกุมบังเหียรรุ่นที่ 3 อย่างโดดเด่น เห็นจะเป็นกลุ่ม ซี.พี. เซ็นทรัล และสหกรุ๊ป ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่ากลไกของตระกูลที่ยังคงความเหนียวแน่นของโครงสร้าง ธุรกิจระบบครอบครัวได้นั้นนอกจากผู้ก่อตั้งเป็นสำคัญแล้ว
ความสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจเป็นอย่างดีด้วยวิสัยทัศน์ ของผู้บริหารแต่ละรุ่น ประกอบกับการปลูกผังทัศนะคติที่พัฒนาเป็นวิสัยทัศน์ขององค์กร ได้แก่ ความสามัคคีของพี่น้องร่วมตระกูล เคารพในอาวุโสและความสามารถ ให้ความสำคัญกับความเป็นมืออาชีพในการบริหารโดยเปิดรับคนนอกและเปิดกว้าง สำหรับที่ปรึกษา ภายใต้การประสานผลประโยชน์ร่วม (Stakeholder) ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญ
เมื่อลงมือถ่ายทำรายการธุรกิจระดับตำนานไม่ว่าจะเป็น กิจการอายุเกินศตวรรษ สืบทอดมาถึง 5 รุ่นยาวนาน 140 ปี อย่างห้างทองตั้งโต๊ะกัง และ 108 ปี อย่างบริษัท คันกี่น้ำเต้าทอง จำกัด “น้ำเต้าทอง” หรือจะเป็นระดับกึ่งศตวรรษอย่างชาระมิงค์ 60 ปีแห่งนครพิงค์กับคน 3 รุ่นตระกูลวังวิวัฒน์, บริษัท ห้าตะขาบ จำกัด 3 รุ่น 70 ปี รวมถึงบริษัท สื่อสากล จำกัด ที่คุณขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ปลุกปั้นมากว่า 30 ปีที่ถึงเวลาของพี่น้อง 2 หนุ่มสาวกำลังรับช่วงต่อ อะไรคือเครื่องมือส่งมอบของกิจการเหล่านี้
ตำราธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภูมิคุ้มกันให้กิจการ แต่ตำราเล่มเดียวกันอาจไม่สำเร็จทุกกรณี การกำหนดเป้าหมายธุรกิจว่าคือส่วนเติมเต็มของชีวิต ภายใต้เงื่อนไขความสมดุลของเถ้าแก่ต่างหาก ที่จะทำให้การเดินทางของกิจการย่างก้าวได้อย่างมั่นคง
การสนทนาในรายการบริหารธุรกิจแนวพุทธจากวิทยากรคนสำคัญ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อภิณัฏฐ์ กิติพันธ์ นักวิชาการภูมิปัญญาตะวันออก และดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มากกว่า 200 ตอน พบว่าหลักบริหารธุรกิจให้สมดุล คือ การบริหารด้วยหลักธรรมะหรือธรรมชาติ หากผู้ประกอบการสามารถนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาตน ให้ทำประโยชน์ต่อส่วนรวมใน 4 ระดับ คือ ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติและโลก
โดยเริ่มตั้งแต่ครอบครัวเป็นพื้นฐานที่สมาชิกต่างมีภารกิจสำคัญ 2 ประการ
1. | การที่ครอบครัวในฐานะสถาบันจะต้องมีความเป็นปึกแผ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และ |
2. | เมื่อสมาชิกเกิดขึ้นมาใหม่ ก็จะต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูให้มีคุณภาพตามที่ประสงค์ย่อมเป็นสะพานเชื่อม การส่งต่อกิจการได้อย่างราบรื่น |
หลักพึงยึดถือปฏิบัติเพื่อรากฐานครอบครัวเริ่มต้นที่การครองตนของผู้ครอง เรือน ที่สามารถใช้เป็นรากฐานให้สามารถครองกิจการได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยเป็นหลักธรรม 4 ประการเหตุที่ทำให้ตระกูลมั่งคั่ง (Kula-ciratthiti-dhamma: reasons for lastingess of a wealthy family) ได้แก่ "กุลจิรัฏฐิติธรรม 4" ซึ่งประกอบด้วย
1. | นัฏฐคเวสนา : ของหาย ของหมด รู้จักหามาไว้ (Natthagavesana : seeking for what is lost) |
2. | ชิณณปฏิสังขรณา : ของเก่า ของชำรุด รู้จักบูรณะซ่อมแซม (Jinnapatisankharana: epairing what is worn out) |
3. | ปริมิตปานโภชนา : รู้จักประมาณในการกินการใช้ (Parimitapanabhojana: moderation in spending) |
4. | อธิปัจจสีลวันตสถาปนา : ตั้งผู้มีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน (Adhipaccasilavantathapana : putting in authority a virtuous woman or man) |
หลักธรรมที่กล่าวมานี้จะสามารถนำพากิจการของท่านจากรุ่นสู่รุ่นได้หรือไม่ ติดตามรายละเอียดได้ในสัปดาห์หน้า...(จาก ผู้จัดการ 360°)
No comments:
Post a Comment