ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะเคยได้ยินเรื่อง CSR มาบ้างแต่ก็คิดว่า CSR เป็นเรื่องของการทำกิจกรรมเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตนเองโดยตรง และเมื่อมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่ตนเองจะต้องรับรู้ และเข้าไปมีส่วนร่วม
ยิ่งไปกว่านั้น หากหน่วยงานหรือแผนกที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่อง CSR ไม่ได้ให้ความรู้ความเข้าใจ และให้พนักงานเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำ CSR และรับรู้ถึงสิ่งที่องค์กรกำลังทำ ก็ย่อมจะส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนิน CSR ขององค์กร และต่อการบรรลุถึงเป้าประสงค์ด้าน CSR โดยรวม
แม้ว่าเงื่อนไขความสำเร็จของการดำเนินงาน CSR จะต้องเกิดจากการที่ผู้บริหารเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนภารกิจด้าน CSR อย่างจริงจังและต่อเนื่อง แต่ความสำเร็จในงาน CSR ได้อย่างเต็มรูปแบบ จำเป็นที่จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากพนักงานในทุกระดับอย่างแข็งขันด้วย
องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาในการขับเคลื่อนงาน CSR มักมีสาเหตุมาจากการขาดช่องทางหรือพื้นที่สำหรับให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วม ข้อค้นพบในหลายกรณี ชี้ให้เห็นว่า แม้องค์กรธุรกิจหนึ่งๆ จะได้ดำเนินกิจกรรม CSR สู่ภายนอกจนได้รับรางวัลต่างๆ นานา หากแต่พนักงานในองค์กรมิได้มีความรู้สึกภาคภูมิใจหรือมีส่วนในความสำเร็จร่วมกับองค์กรนั้นๆ ด้วย
การคำนึงถึงกลยุทธ์การดำเนินงานในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม จากการทำเฉพาะแผนก สู่การปรับแนวการทำให้ขยายทั่วทั้งองค์กร หรือ From “Department” to “Alignment” จึงเป็นสิ่งจำเป็น การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมควรจะต้องเกี่ยวเนื่องอยู่ในทุกระดับ ทุกแผนก ตลอดจนถึงพนักงานทุกคนในองค์กร โดยการสื่อสารให้ผู้บริหารระดับสูงไปจนถึงพนักงานระดับล่างมีความรู้ ความเข้าใจไปในแนวทางเดียวกัน ตั้งแต่รวมทั้งเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำ CSR ขององค์กรอย่างทั่วถึง
การพิจารณา CSR ในมิติที่เป็นระดับปัจเจกนี้ ก็คือเรื่องของการทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบ หรือหากพิจารณาในระดับองค์กร ก็หมายถึง การดำเนินธุรกิจแสวงหากำไรอย่างรับผิดชอบ ดังนั้นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่แท้จริง จึงต้องเกี่ยวข้องกับทุกคนในทุกส่วนงาน ทุกแผนก ทุกฝ่ายขององค์กร
เมื่อพนักงานมีความรู้ ความเข้าใจ และได้มีส่วนร่วมในการทำ CSR ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงการปลูกฝังให้พนักงานมีคุณธรรม จริยธรรม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเคารพในสิทธิส่วนบุคคล และทำงานในหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มความสามารถ รวมไปถึงการช่วยเหลือชุมชน ดูแลสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ประโยชน์ที่ได้รับก็จะตกกับสังคม รวมไปถึงพนักงานไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ในขณะเดียวกันองค์กรก็จะได้รับประโยชน์ที่นอกจากการเป็นองค์กรที่ประสบผลสำเร็จในด้านการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือ ความไว้วางใจ และเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย
ปัจจุบัน ได้มีสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกันรณรงค์ให้องค์กรธุรกิจได้จัดกิจกรรมวันซีเอสอาร์ หรือ CSR DAY ขึ้น “ในสถานประกอบการ” เพื่อมุ่งให้เกิด “กระบวนการมีส่วนร่วมของพนักงาน” ในกิจกรรม CSR ขององค์กร และมีเป้าประสงค์ที่จะทำให้ “ทุกๆ วันของการทำงาน เป็นวัน CSR”
โครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนขององค์กรธุรกิจชั้นนำที่ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน อาทิ ดีแทค บางจาก และแคท เทเลคอม และนับจนถึงวันนี้ได้มีสถานประกอบการต่างๆ เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมแล้วกว่า 100 องค์กร โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วทั้งสิ้นราว 4,500 คน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.csrday.com)
ที่สุด เมื่อการขับเคลื่อน CSR เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร ธุรกิจก็จะได้รับอานิสงส์จากการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในด้านของภาพลักษณ์องค์กร ความยอมรับจากชุมชนและสังคม ความไว้วางใจจากผู้บริโภค ความภาคภูมิใจในหมู่พนักงาน รวมถึงโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากที่สังคมจะได้รับประโยชน์จากกิจกรรม CSR เหล่านั้นโดยตรง...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR)

No comments:
Post a Comment