Tuesday, February 06, 2007

เรื่องที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับทักษิโณมิกส์

สัปดาห์ที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงสัปดาห์นี้ มีการพูดถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในทำนองที่พยายามไปเปรียบเทียบกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และทักษิโณมิกส์ ซึ่งเรื่องหลังผมไม่ถือว่าเป็นระบบเศรษฐกิจด้วยซ้ำ เป็นได้แค่ระบบธุรกิจในสนามการเมือง โดยมองประเทศไทยเป็นเสมือนบริษัท ที่ใช้นโยบายของซีอีโอที่เรียกว่า ทักษิโณมิกส์ มาบริหารบริษัท (ประเทศไทย) จำกัด

เมื่อเป็นเช่นนี้ คณะกรรมการบริษัท จึงต้องการผลตอบแทนในการบริหารจัดการ และต้องการถือหุ้นใหญ่ผ่านทางการเล่นแร่แปรธาตุรัฐวิสาหกิจเพื่อครอบครองทรัพยากรของประเทศ มีการเจรจาการค้าเอฟทีเอกับบริษัท (ประเทศคู่ค้า) จำกัด โดยแลกผลประโยชน์ให้ตกแก่ผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากและบรรดาคณะกรรมการบริษัททางอ้อม มีการขายหุ้นบริษัท (ประเทศไทย) บางส่วนให้แก่ผู้ถือหุ้นต่างสัญชาติ เพื่อทำกำไรในระหว่างทาง แต่ที่ยังที่ทำไม่สำเร็จ คือ การเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาคมโลกหรือการนำหุ้นบริษัท (ประเทศไทย) เข้าตลาดโลก ซึ่งเคยมีการทำหนังสือชี้ชวนไปครั้งหนึ่งแล้วในโครงการลงทุนขนาดใหญ่หรือโปรเจค Modernize Thailand มูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท ถ้ายังพอจำกันได้

คณะกรรมการของบริษัท (ประเทศไทย) จำกัดนี้ ยังมองว่าคนไทยส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อย และเป็นผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อยที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารอีกต่างหาก ประธานกรรมการจึงสามารถใช้วิธีทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้รูปแบบการให้เงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยในแพ็คเกจประชานิยม เพื่อขจัดการก่อหวอดสร้างความวุ่นวาย จนมั่นใจว่าจะได้รับเลือกเข้ามาเป็นคณะกรรมการอีกหลายสมัย

และเพื่อให้การบริหารงานเป็นไปด้วยความราบรื่นไร้อุปสรรค คณะกรรมการบริหารยังได้มีการดูแลอุปถัมภ์คณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) ของบริษัท เพื่อให้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดเป็นความสมานฉันท์ระหว่างคณะกรรมการบริหารกับคณะกรรมการตรวจสอบ แม้จะมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นหรือมีการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันต่อผู้มีส่วนได้เสียเสียงข้างน้อยของกิจการก็ตาม

รูปแบบการบริหารจัดการข้างต้น สามารถเห็นได้เป็นปกติในองค์กรธุรกิจทั่วไป ซึ่งในทางธุรกิจไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย จะโดนตำหนิบ้างก็ในส่วนที่บริษัทนี้อาจขาดเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) เราถึงได้ยินคำอ้างเสมอๆ จากคณะกรรมการชุดนี้ว่า “ไม่ผิดกฎหมาย” แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง คือ ประเทศไทย มิใช่สนามธุรกิจที่สามารถใช้แนวปฏิบัติทางธุรกิจมาบริหารจัดการได้ ปรัชญาในการดำเนินรัฐกิจมิใช่การแสวงหากำไรสูงสุดเหมือนกับปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมในการบริหารประเทศจึงมีความแตกต่างจากวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมในการบริหารธุรกิจ

หากเราจินตนาการว่า ถ้าปล่อยให้คณะกรรมการชุดนี้บริหารต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น ผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยและส่วนใหญ่จะเป็นคนกลุ่มเดียวกับคณะกรรมการก็จะร่ำรวยขึ้นมากมายมหาศาล ทั้งจากมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นและค่านายหน้า (ที่ในสนามธุรกิจ ไม่ถือเป็นเรื่องผิด แต่ในสนามรัฐกิจนั้น ผิดกฎหมาย) จากโครงการต่างๆ จนเมื่อทรัพยากรต่างๆ ถูกนำมาใชัในการสร้างมูลค่าจนไม่เหลือแล้ว ก็จะเทขายทิ้งทำกำไร และจากไปด้วยวลีที่หอมหวานว่า ผมได้สร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศนี้มาพอสมควรแล้ว ถึงเวลาที่จะให้คนรุ่นใหม่ได้มารับหน้าที่นี้บ้าง พร้อมๆ กับการลดลงของมูลค่าจนหุ้นของบริษัท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ไม่ต่างกับหุ้นเน่าๆ ตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์โลก และยังอาจตามมาด้วยวรรคทองทำนองว่า ในประวัติศาสตร์ชาติไทย คงไม่มีใครที่สร้างความรุ่งเรืองได้เช่นนี้อีกแล้ว

แม้คณะกรรมการชุดนี้จะยังบริหารได้ไม่ครบวาระ เพราะถูกปลดเสียก่อน แต่ดูเหมือนวิวาทะที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ระหว่างอดีตประธานกรรมการคนก่อนกับคณะบริหารชุดปัจจุบัน ก็พุ่งเป้าโจมตีไปที่เรื่องของเศรษฐกิจซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญในช่วงเวลานี้ เราได้เห็นความพยายามในการทุบราคาหุ้นบริษัท (ประเทศไทย) ด้วยการสื่อสารผ่านทางเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท (ประเทศคู่ค้า) จำกัด ที่อยู่นอกประเทศ ได้เห็นความพยายามในการสื่อสารกับผู้ถือหุ้นรายย่อยในประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากแพ็คเกจประชานิยม อีกทั้งบรรดาคู่ค้าและพันธมิตรเก่าของคณะกรรมการที่อยู่ในประเทศเพื่อตั้งคำถามกับคณะบริหาร ตลอดจนความพยายามในการสื่อสารกับพนักงาน (ข้าราชการ) ของบริษัท (ประเทศไทย) เพื่อลดทอนความเชื่อมั่นต่อคณะบริหารชุดปัจจุบัน จนเกิดอาการใส่เกียร์ว่างกันตามๆ กัน

คำถามที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ คือ คณะบริหารชุดปัจจุบัน จะใช้ยุทธวิธีการดำเนินรัฐกิจหรือธุรกิจ ถ้าท่านใช้การดำเนินรัฐกิจ ซึ่งผมเชื่อว่าต้องเป็นคำตอบนี้อยู่แล้ว คำถามต่อไปคือ ท่านจะมีวิธีในการสื่อสารกับบริษัท (ประเทศคู่ค้า) จำกัด ที่อยู่นอกประเทศ ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เป็นเจ้าของประเทศ คู่ค้าและพันธมิตรเก่า และพนักงาน (ข้าราชการ) ที่ยังเข้าใจประเทศไทยว่าเป็นบริษัท (ประเทศไทย) อย่างไร

หากยังตอบคำถามนี้ไม่ได้ชัดนัก อาจจะลองหยิบยืมกลวิธีในการบริหารธุรกิจมาใช้ประกอบการพิจารณาก็ได้ เพราะในเมื่อผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้นยังมีมุมมองเช่นนั้นอยู่ การสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจสำหรับคนกลุ่มนี้ จึงอาจจะต้องใช้วิธีการหรือช่องทางที่คนเหล่านี้มีความคุ้นเคยอยู่แล้วก็เป็นได้

ข้อเสนอแนะนี้ มิได้ต้องการให้เปลี่ยนจากคณะบริหารประเทศ มาเป็นคณะกรรมการบริษัท (ประเทศไทย) และจำนนต่อระบบธุรกิจการเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากเศรษฐกิจทุนนิยม การยืนยันในจุดยืนของคณะบริหารอย่างหนักแน่นมั่นคงเป็นเรื่องที่พึงกระทำอย่างยิ่ง แต่รูปแบบและวิธีการในการสื่อสารถึงจุดยืนดังกล่าวต่างหาก ที่ต้องสามารถพลิกแพลงยืดหยุ่น และปรับให้เข้ากับบริบทและสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ตกเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว

การให้น้ำหนักกับการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กับการทำงานหรือการลงมือทำจริง ในระยะเวลาที่มีอันสั้นของคณะบริหารชุดนี้ คงไม่สามารถทำงานทั้งหมดเองโดยลำพังได้ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลอย่างน้อยก็สองเรื่อง กล่าวคือ ประการแรก จะทำให้งานที่ทำโดยคนภายในอยู่นั้น ไม่ติดขัดหรือไม่ถูกรบกวนจากความวุ่นวายต่างๆ ประการที่สอง จะทำให้ปริมาณงานหรือเนื้องานที่ทำได้เพิ่มมากขึ้น ด้วยความร่วมมือจากคนภายนอก

ในสัปดาห์หน้า จะเป็นเรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

No comments: