Saturday, April 19, 2025

อ่านทาง ทีมนโยบายเศรษฐกิจ 'ทรัมป์'

จากสัญญาณที่ทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งนำโดย สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ฮาวเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สื่อสารออกมาให้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปนั้น นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วยเรื่อง พิกัดอัตราภาษี (Tariffs) การปฏิรูปภาษี (Tax Cuts) และการลดกฎเกณฑ์ (Deregulation) เพื่อจุดหมายในการลดหนี้ที่มีอยู่ราว 36 ล้านล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 123% ของจีดีพี


ในแผนระยะที่หนึ่งซึ่งรัฐบาลทรัมป์ ได้ดำเนินการแล้ว คือ การวางแนวทางเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) และการทยอยลดรายจ่ายในภาครัฐด้วยการยุบหน่วยงาน ลดบุคลากร ตัดงบประมาณ ฯลฯ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อภาวะเงินเฟ้อ และไม่ไปกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการลดภาษีในแผนระยะที่สอง จะช่วยให้ประชาชนมีเงินเหลือในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการผ่อนคลายกฎระเบียบในแผนระยะที่สาม จะช่วยเร่งการเติบโตในภาคการผลิต ซึ่งไปเพิ่มโอกาสการจ้างงานของภาคเอกชน (ที่ช่วยชดเชยการเลิกจ้างในภาครัฐด้วย)

แม้นโยบายการเก็บภาษีต่างตอบแทน จะถูกมองเป็นสัญญาณลบต่อเศรษฐกิจโลก และผลักให้นานาประเทศอยู่ฝั่งตรงข้ามของโต๊ะเจรจา ทีมเศรษฐกิจทรัมป์ ประเมินแล้วว่า ประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ จะไม่กล้าผลีผลามเพิกเฉยข้อเสนอเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ โดยตามข่าวระบุว่า ไทยก็อยู่ในกลุ่ม 14 ประเทศแรกที่สหรัฐฯ หวังว่าจะบรรลุข้อตกลงระหว่างกันได้ในกรอบระยะเวลา 90 วัน ที่มาตรการภาษีดังกล่าวถูกพักการบังคับใช้ชั่วคราว

เป็นที่รับรู้กันว่า หัวข้อการค้าหลักที่อยู่หน้าโต๊ะเจรจา คือ 1) เพิ่มยอดซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อลดตัวเลขขาดดุล และ 2) เพิ่มการลงทุนตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้ถูกเรียกเก็บภาษี (และยังจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีการลงทุนเพิ่มตามแผนระยะที่สอง) ขณะที่หนึ่งในข้อเรียกร้องที่น่าจะอยู่หลังโต๊ะเจรจา คือ มาตรการจำกัดวงล้อมจีนในทางเศรษฐกิจ โดยไม่ให้จีนส่งออกสินค้าผ่านประเทศคู่ค้าซึ่งต้องการบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ที่จะได้รับยกเว้นภาษีต่างตอบแทน

เรียกว่า สหรัฐฯ ใช้วิธียืมมือประเทศคู่ค้าตีกรอบล้อม (Contain) จีน มิให้ใช้ประเทศที่สามเป็นทางผ่านส่งออกสินค้ามายังตลาดสหรัฐฯ เพื่อให้กำแพงภาษีที่มีต่อจีน ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ (ส่วนสินค้าจีนจะทะลักสู่ตลาดของประเทศคู่ค้าหรือไม่นั้น ไม่ใช่ปัญหาของสหรัฐฯ)

ในแง่ของตลาดสินค้าในสหรัฐฯ แน่นอนว่า นโยบายการเก็บภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านำเข้าที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับราคาที่เพิ่มขึ้น (หรือไม่ก็จำต้องบริโภคน้อยลงหรือหยุดการบริโภคสินค้านั้น ๆ เลย) และยังทำให้มีตัวเลือกสินค้าในตลาดลดลง (เพราะผู้นำเข้า ไม่นำเข้าสินค้า ด้วยกังวลว่าจะขายไม่ได้) รวมทั้งมีโอกาสที่ทำให้สินค้าเดียวกันที่ผลิตในประเทศขึ้นราคาโดยผู้ขายที่ฉวยประโยชน์แบบกินเปล่า (Freeloader)

ในแง่ตลาดเงิน หากนานาประเทศเริ่มขาดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อสหรัฐฯ จะทยอยลดการถือครองสกุลเงินดอลลาร์ เพื่อลดความเสี่ยง ผลที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้น คือ การเทขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ไปกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ซึ่งก็ตรงตามเป้าหมายของทีมเศรษฐกิจทรัมป์ที่ต้องการให้สินค้าส่งออกของสหรัฐฯ ในตลาดโลก มีราคาที่ถูกลง และสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาแข็งแกร่งจากการผลิตที่ทำรายได้เข้าประเทศ (ไม่ใช่เติบโตด้วยการบริโภคและก่อหนี้) ในระยะยาว ประเทศต่าง ๆ ยังคงต้องรักษาการถือครองสกุลเงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองอยู่เหมือนเดิม

ในแง่ตลาดตราสารหนี้ ทีมเศรษฐกิจทรัมป์ เชื่อว่า ไม่มีประเทศใดที่ต้องการทำลายเสถียรภาพในตลาดพันธบัตร ซึ่งเป็นที่พักพิง (Safe Haven) หรือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยของผู้ลงทุน เพียงเพื่อหวังผลทางการเมือง แม้กระทั่งชาติมหาอำนาจที่เป็นคู่แข่งสำคัญอย่างประเทศจีน เพราะการเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ ทิ้ง เท่ากับว่าจีนได้เงินสกุลดอลลาร์เพิ่ม ซึ่งหากไม่อยากถือเงินดอลลาร์ไว้ จีนก็ต้องขายดอลลาร์และถือเป็นเงินสกุลหยวน ก็ยิ่งทำให้เงินหยวนแข็งค่า ซึ่งไปสวนทางกับนโยบายที่จีนต้องการ จึงไม่เห็นว่าการที่จีนจะเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ ทิ้งในเวลานี้ จะมีประโยชน์ใด ๆ ในทางเศรษฐกิจต่อจีนเอง

สำหรับตลาดตราสารทุน ทีมเศรษฐกิจทรัมป์นั้น ให้ความสำคัญกับ Mainstreet (ที่เป็นภาคเศรษฐกิจจริง) มาก่อน Wallstreet (ที่เป็นภาคการเงิน) เพราะเชื่อว่า ในระยะยาว หากภาคเศรษฐกิจหรือภาคการผลิตจริงมีความแข็งแกร่ง ย่อมจะส่งผลสู่ภาคการเงินในทิศทางเดียวกัน แม้ในระยะสั้น ตลาดทุนอาจจะมีความผันผวนสูง จากผลสะท้อนของมาตรการต่าง ๆ ที่ทีมเศรษฐกิจทรัมป์ นำมาใช้ในแต่ละช่วง

อันที่จริง ทีมเศรษฐกิจทรัมป์ อาจมีความต้องการที่เลยไปถึงการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยี (Tech Sector) ที่ได้อานิสงส์จากค่าแรงต่ำและชิ้นส่วนราคาถูกจากนอกประเทศมาเป็นเวลานาน ทำให้บริษัทเหล่านี้ได้กำไรจากส่วนต่างเป็นจำนวนมหาศาล จนสามารถสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารอย่างเป็นกอบเป็นกำ

การดึงบริษัทเหล่านี้กลับมาตั้งฐานการผลิตในประเทศ (Reshoring) จะช่วยให้เกิดการปรับการกระจายรายได้ (Redistribution of Income) กลับไปสู่ผู้ส่งมอบและแรงงานภายในประเทศ จากการจ้างงานและการซื้อในห่วงโซ่อุปทานที่ผู้ประกอบการและพลเมืองสหรัฐฯ ได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการปรับโครงสร้างดังกล่าว

อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างธุรกิจในแนวทางนี้ มิใช่เรื่องง่าย เพราะจะเจอแรงเสียดทานทั้งจากบริษัทที่ไม่ต้องการมีต้นทุนเพิ่มหรือมีการจัดสรรรายได้ในทางที่ทำให้กำไรของกิจการลดลง และจากผู้ลงทุนที่ต้องการตัวเลขผลตอบแทนสูง ๆ รวมทั้งจากผู้บริโภคที่ไม่ต้องการให้สินค้าเดิมที่เคยซื้อมีราคาแพงขึ้น

ต้องติดตามว่า ระหว่างเวลาที่รอให้นโยบายเศรษฐกิจส่งผล กับเวลาที่รัฐบาลทรัมป์มีเหลือในการทำงาน อันแรกจะเกิดขึ้นก่อนหรืออันหลังจะหมดก่อน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, April 05, 2025

รู้ทันนโยบายภาษีทรัมป์ ?

การลงนามคำสั่งของฝ่ายบริหารโดยประธานาธิบดีทรัมป์ ต่อการใช้นโยบายภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) เพื่อหวังจะลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.2 ล้านล้านเหรียญ (ตัวเลขปี ค.ศ. 2024) ได้สร้างความกังวลให้กับประเทศคู่ค้าที่มีตัวเลขการค้าเกินดุล รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีตัวเลขการค้าเกินดุลอยู่ในอันดับ 8 ที่จำนวน 4.56 หมื่นล้านเหรียญ (คิดเป็น 3.8% ของยอดขาดดุลรวมของสหรัฐฯ)


สำหรับประเทศไทย สหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีนำเข้าต่างตอบแทนไว้ที่ 36% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 เป็นต้นไป

ตัวเลขดังกล่าวมาจาก การนำยอดขาดดุลการค้ากับไทย (4.56 หมื่นล้านเหรียญ) หารด้วยยอดนำเข้าสินค้าจากไทยทั้งหมด (6.33 หมื่นล้านเหรียญ) ซึ่งเท่ากับ 72% และ สหรัฐฯ เรียกเก็บครึ่งเดียว จึงเท่ากับ 36%

ตามข่าว มีการประเมินว่า ไทยจะมีมูลค่าความเสียหายอยู่ราว 8 แสนล้านบาท (ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขจริง) ตัวเลขนี้น่าจะมาจากการนำยอดส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ (6.33 หมื่นล้านเหรียญ) คูณกับอัตราภาษีนำเข้าต่างตอบแทนที่สหรัฐฯ จะจัดเก็บ (ในอัตรา 36%)

ในความเป็นจริง อัตราภาษี 36% เป็นภาษีนำเข้า เรียกเก็บจากผู้นำเข้าสินค้าจากไทย (ซึ่งอยู่ในสหรัฐฯ) มิได้เก็บจากผู้ประกอบการไทยที่เป็นผู้ส่งออก หมายความว่า เดิมสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มีราคา 100 บาท ภายใต้นโยบายภาษีต่างตอบแทนนี้ รัฐบาลทรัมป์จะได้ค่าภาษี 36 บาท เพื่อชดเชยการขาดดุล ขณะที่ผู้นำเข้าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 36 บาท และจะผลักต้นทุนนี้ไปยังผู้ซื้อหรือผู้บริโภค ทำให้สินค้าไทยที่จำหน่ายในสหรัฐฯ มีราคาแพงขึ้น (ซึ่งก็เป็นเป้าหมายของรัฐบาลทรัมป์ ที่ต้องการให้สินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ มีราคาที่สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับสินค้านำเข้า)

แต่ในหลักเศรษฐศาสตร์ เรื่องอุปสงค์-อุปทาน ความต้องการซื้อสินค้า มิได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านราคาอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นที่ใช้ตัดสินใจซื้อ อาทิ คุณภาพ ความชอบ หรือตราสินค้า ดังนั้น การเก็บภาษีต่างตอบแทน มิได้เป็นปัจจัยที่ทำให้สินค้านำเข้าขายไม่ได้เลย และที่สำคัญผู้ซื้อหรือผู้บริโภคในสหรัฐฯ ต่างหากที่เป็นผู้จ่ายภาษีดังกล่าวให้รัฐบาลตนเอง (กรณีนี้ ผู้ประกอบการไทยยังส่งออกสินค้าได้ไม่ต่างจากเดิม เพราะอุปสงค์ยังคงอยู่)

ยิ่งถ้าเป็นสินค้าขั้นกลางหรือเป็นวัสดุชิ้นส่วนเพื่อใช้ประกอบการผลิต ที่มิใช่สินค้าสำเร็จรูป (finished goods) ยังมีปัจจัยเพิ่มเติมเรื่องสายการผลิตและการปรับแต่งกรรมวิธีการผลิต หากต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้ส่งมอบที่มิใช่ผู้นำเข้าสินค้ารายเดิม

ผลที่ตามมาอีกเรื่องหนึ่ง หากสินค้าโดยรวม ยกแผงกันขยับราคาขึ้น (โดยผู้ผลิตในสหรัฐฯ ร่วมวงขึ้นด้วย เพราะธุรกิจย่อมแสวงหากำไรเพิ่มเท่าที่ทำได้) ในขณะที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเท่าเดิม จะกดดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น แม้จะมิได้มีการพิมพ์เงินใหม่เติมเข้าในระบบเศรษฐกิจก็ตาม

ใช่ว่ารัฐบาลทรัมป์จะไม่ทราบข้อเท็จจริงนี้ จึงมีผู้วิเคราะห์ว่า การประกาศใช้นโยบายภาษีต่างตอบแทน จุดประสงค์ที่แท้จริง คือ ต้องการให้แต่ละประเทศคู่ค้าเข้ามาเจรจาเพื่อปรับสมดุลทางการค้าระหว่างกัน โดย 1) เสนอซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมให้เท่าหรือใกล้เคียงกับยอดที่สหรัฐฯ ขาดดุลอยู่ และ 2) เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการไม่ถูกเรียกเก็บภาษีต่างตอบแทนดังกล่าว (รัฐบาลทรัมป์เองก็ไม่อยากให้พลเมืองของตนเป็นผู้จ่าย)

ทั้งการซื้อเพิ่มและการลงทุนใหม่จากประเทศคู่ค้า เป็นกลวิธีที่สหรัฐฯ ใช้ลดการขาดดุลการค้าของจริง มิใช่ภาษีต่างตอบแทน ที่สหรัฐฯ นำมาใช้เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับเปิดการเจรจา (ซึ่งสหรัฐฯ เชื่อว่า จะมีหลายประเทศ ยอมดำเนินตาม)

นอกจากนี้ รัฐบาลทรัมป์ยังมีอีกหนึ่งแนวคิดที่สอดรับกับการใช้นโยบายภาษีต่างตอบแทน คือ การจัดตั้งหน่วยงานสรรพากรเพื่อจัดเก็บรายได้จากนอกประเทศ (External Revenue Service: ERS) ซึ่งมาจากจุดที่ว่า ไม่เพียงแต่ขนาดจีดีพีของประเทศที่ 29 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งใหญ่สุดในโลก สหรัฐฯ ยังมีมูลค่าการบริโภคสูงถึง 20 ล้านล้านเหรียญต่อปี เป็นผู้ซื้อใหญ่สุดในโลก ฉะนั้น ประเทศใดที่ต้องการขายสินค้าให้สหรัฐฯ จากนี้ไป ต้องสมัครเป็นประเทศสมาชิกคู่ค้า และมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสมาชิก (membership fee) โดยจะมอบหมายให้หน่วยงาน ERS เป็นผู้จัดเก็บ

วิธีนี้ เป็นการลบข้อจำกัดของนโยบายภาษีต่างตอบแทนที่โดยโครงสร้างแล้ว ผู้ซื้อในประเทศเป็นผู้จ่ายภาษี แต่เมื่อเป็นค่าธรรมเนียมสมาชิก ตามการออกแบบ ผู้ขายนอกประเทศจะเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งโดยหลักการ (ที่คาดว่าจะให้รัฐบาลประเทศสมาชิกเป็นผู้จ่าย) จะไม่ทำให้ต้นทุนสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้น เหมือนในกรณีของภาษีต่างตอบแทน

แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องเรียกเก็บค่าสมาชิกจากกลุ่มผู้ส่งออกสินค้า เพราะไม่ต้องการนำภาษีประชาชนมาอุดหนุนธุรกิจเฉพาะกลุ่ม ทำให้ท้ายที่สุด ผู้ส่งออกต้องบวกค่าธรรมเนียมสมาชิกเข้าเป็นต้นทุนค่าสินค้าที่ส่งออกอยู่ดี

โดยหากแนวคิดนี้ ถูกนำมาใช้เป็นนโยบายจริง เราจะได้เห็นการรวมกลุ่มการค้าที่จะมีขนาดใหญ่สุดของโลก จากนานาประเทศที่ไม่ต้องการพึ่งพาค้าขายกับสหรัฐฯ ที่แม้จะเป็นประเทศผู้ซื้อใหญ่สุดในโลกก็จริง แต่ก็มีขนาดเพียง 1 ใน 4 ของมูลค่าการบริโภคทั้งโลกต่อปี เมื่อคำนวณจากขนาดจีดีพีโลกที่ 110 ล้านล้านเหรียญ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, March 23, 2025

รู้จักกรอบการรายงานความยั่งยืนเฉพาะกิจ ตระกูล TxFD

การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์กำลังผลักให้โลกเผชิญกับปัญหาทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสื่อมโทรมเชิงนิเวศ และความเหลื่อมล้ำทางสังคม

โลกกำลังเผชิญกับการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพในทุกตัวชี้วัดคิดเป็น 2-6% ในทุก ๆ 10 ปี ตลอดห้วงเวลา 30-50 ปีที่ผ่านมา ที่ซึ่งประชากรกว่าครึ่งโลกได้รับผลกระทบ โดยตัวเลขการพึ่งพาธรรมชาติและบริการจากระบบนิเวศ ในปี ค.ศ. 2023 มีมูลค่าสูงถึง 58 ล้านล้านเหรียญ หรือมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับมูลค่าจีดีพีโลก หากมนุษย์ยังเพิกเฉยหรือชะลอการหยุดยั้งความสูญเสียในความหลากหลายทางชีวภาพ มูลค่าความสูญเสียในระยะ 10 ปี จะสูงเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ใช้ในการดำเนินการทันที

ในทางตรงข้าม หากภาคธุรกิจมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจที่เป็นผลบวกต่อธรรมชาติ จะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจคิดเป็นมูลค่า 10 ล้านล้านเหรียญ และเกิดการสร้างงานราว 395 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ภายในปี ค.ศ. 2030 (IPBES Transformative Change Assessment, 2024)

ในแง่ของความเหลื่อมล้ำทางสังคม จากฐานข้อมูลความเหลื่อมล้ำโลก (WID) ในปี ค.ศ. 2023 ระบุว่า รายรับของผู้มีรายได้สูงสุดในกลุ่ม 10% ของประชากรโลก กินสัดส่วนถึง 53.5% ของค่าตอบแทนรวมโลก ขณะที่รายรับของผู้มีรายได้ในกลุ่ม 50% ล่างสุด มีสัดส่วนอยู่เพียง 8% ของค่าตอบแทนรวมโลก

จะเห็นว่า ทั้งประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ และประเด็นความเหลื่อมล้ำ ได้กลายเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ส่งสัญญาณมายังภาคธุรกิจให้มีมาตรการที่ต้องดำเนินการทันที ในฐานะนิติพลโลก (Global Corporate Citizen) ซึ่งมีส่วนที่สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญทั้งในทางบวกและทางลบ ในการที่จะต้องร่วมกันรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิค่าเฉลี่ยโลกให้ต่ำกว่า 1.5 °C เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการหยุดยั้งและฟื้นคืนความสูญเสียทางธรรมชาติ ปรับวิถีการดำเนินธุรกิจให้มีความสอดคล้องปรองดองกับธรรมชาติ ตลอดจนการเจือจุนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน สวัสดิภาพ ความหลากหลาย ความเป็นธรรม การมีส่วนร่วมและมีความเป็นเจ้าของ


ประเด็น เป้าหมาย และความริเริ่มด้านภูมิอากาศ ธรรมชาติ และความเป็นธรรม

หนึ่งในมาตรการสำหรับดำเนินการทันทีของภาคธุรกิจ ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทั้งสามประเด็นข้างต้น ซึ่งเป็นที่มาของความริเริ่มในการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับธรรมชาติ (TNFD) และคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสังคมและความเหลื่อมล้ำ (TISFD)

คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) ได้พัฒนากรอบการรายงานความยั่งยืนเฉพาะกิจเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเผยแพร่ในปี ค.ศ. 2017 เพื่อให้ข้อเสนอแนะการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันได้ถูกบรรจุเป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ฉบับที่ 2 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (IFRS S2) ภายใต้มาตรฐาน IFRS (International Financial Reporting Standards) ที่จะมีการทยอยบังคับใช้โดยหน่วยงานกำกับดูแลในแต่ละประเทศตามความเหมาะสมและความพร้อมที่แตกต่างกัน

คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับธรรมชาติ (Task Force on Nature-related Financial Disclosures: TNFD) ได้พัฒนากรอบการรายงานความยั่งยืนเฉพาะกิจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ เผยแพร่ในปี ค.ศ. 2023 เพื่อให้ข้อเสนอแนะการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สอดรับกับกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM-GBF) ซึ่งได้ถูกรับรองในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (CBD COP 15) เพื่อใช้เป็นกรอบให้ประเทศภาคีจำนวน 196 ประเทศ นำไปจัดทำเป้าหมายชาติ และแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ

คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสังคมและความเหลื่อมล้ำ (Taskforce on Inequality and Social-related Financial Disclosures: TISFD) ได้พัฒนากรอบการรายงานความยั่งยืนเฉพาะกิจเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสังคมและความเหลื่อมล้ำ โดยจะมีการออกกรอบการเปิดเผยข้อมูลฉบับแรกในปี ค.ศ. 2026

สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำหนังสือกรอบการรายงานความยั่งยืนเฉพาะกิจ: ตระกูล TxFD ความหนา 38 หน้า ขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลให้องค์กรธุรกิจได้รู้เท่าทันความเคลื่อนไหวในบริบทของการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวกับความยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

องค์กรธุรกิจและผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดหนังสือฉบับดังกล่าว (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ทางเว็บไซต์ https://thaipat.org ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, March 08, 2025

ใช้ ISSB มาตรฐานเดียว ไม่พอตอบโจทย์ความยั่งยืน

กิจการที่ต้องการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมิได้สนใจเฉพาะข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน ยังคงมีการจัดทำรายงานความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI เพื่อให้ครอบคลุมตามอุปสงค์ของผู้ใช้ข้อมูลกลุ่มดังกล่าว

ความจำกัดของข้อมูลทางการเงินที่กิจการเปิดเผยในรายงานทางการเงิน (Financial Statement) ที่ไม่สามารถให้ภาพที่สมบูรณ์เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน เนื่องเพราะเป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานในอดีต เป็นเหตุให้หน่วยงานผู้จัดทำมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการรายงานทางการเงิน (IFRS) โดยคณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนระหว่างประเทศ (ISSB) จำเป็นต้องออกมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน (Sustainability-related Financial Disclosure) เพิ่มเติม เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลให้ทันกับสถานการณ์และปัจจัยการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไป

โดยมาตรฐานฉบับที่ ISSB ประกาศใช้แล้ว ประกอบด้วย มาตรฐานการรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ฉบับที่ 1 เรื่อง ข้อกำหนดทั่วไปสำหรับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน (IFRS S1) และฉบับที่ 2 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (IFRS S2)

มาตรฐาน IFRS S1 มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้กิจการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญ ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้ใช้รายงานทางการเงินเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปเมื่อผู้ใช้งบการเงินประเมินมูลค่าของกิจการ และตัดสินใจว่าจะจัดหาทรัพยากรให้กิจการหรือไม่ ทั้งนี้ กิจการที่เสนอรายงานต้องเปิดเผยข้อมูลที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยในการประเมินความมีสาระสำคัญของรายการต้องประเมินในบริบทความจำเป็นของผู้ใช้รายงานทางการเงินเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปในการประเมินมูลค่าของกิจการ

มาตรฐาน IFRS S2 มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้กิจการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่มีนัยสำคัญ ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้ใช้รายงานทางการเงินเพื่อให้เข้าใจวิธีที่กิจการใช้ทรัพยากรและปัจจัยต่าง ๆ กิจกรรม ผลได้ และผลลัพธ์ที่สนับสนุนการตอบสนอง และกลยุทธ์เพื่อจัดการโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่มีนัยสำคัญ รวมทั้งเพื่อใช้ประเมินความสามารถของกิจการในการปรับแผนโมเดลธุรกิจ และการดำเนินงานตามความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่มีนัยสำคัญ

และเพื่อช่วยให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน IFRS ได้ออกเอกสารชี้แนะด้านความเสี่ยงและโอกาสเกี่ยวกับความยั่งยืน และการเปิดเผยข้อมูลสาระสำคัญ ที่มีชื่อว่า Sustainability-related risks and opportunities and the disclosure of material information สำหรับให้บริษัทใช้พิจารณาข้อเชื่อมโยงระหว่างรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน กับรายงานทางการเงินของบริษัท เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว

ส่วนบริษัทที่ต้องการเปิดเผยข้อมูลสำหรับผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง ในเอกสารได้ให้ข้อพิจารณาในการใช้มาตรฐาน ISSB ควบคู่กับมาตรฐาน ESRS หรือมาตรฐาน GRI เพิ่มเติม

ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังอยู่ระหว่างจัดทำหลักการแนวทางการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตาม ISSB (International Sustainability Standards Board) หรือ ISSB Roadmap โดยมีแนวคิดที่จะกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตาม IFRS S1 และ S2 ด้วยวิธีการนำไปใช้เป็นลำดับและสัดส่วน (Phased-in Approach) พร้อมมาตรการผ่อนปรนช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition Reliefs) เพื่อให้สอดรับกับบริบทของประเทศไทย รวมถึงความพร้อมของภาคเอกชน โดยคาดว่าจะเริ่มใช้บังคับในรอบปีบัญชี 2569 เป็นต้นไป (เริ่มจากบริษัทในกลุ่ม SET50 ก่อน) ทั้งนี้ บริษัทที่มีความพร้อม สามารถดำเนินการ แบบ Voluntary Early Adoption ได้ก่อนปีที่มีการใช้บังคับ

ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ISSB Roadmap เพื่อนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ ไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ เมื่อช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา หน่วยงาน UN PRI ซึ่งเกิดจากโครงการภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ ที่ให้คำแนะนำเรื่องการนำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน และมีภาคีผู้ร่วมลงนามกว่า 5,200 รายทั่วโลก ได้ให้ความเห็นต่อแนวทางการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของไทย ตามมาตรฐาน IFRS S1 และ IFRS S2 ที่สำนักงาน ก.ล.ต. จัดทำขึ้น โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า ความต้องการข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืนต่อการประเมินความเสี่ยงและโอกาสของบริษัทเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ลงทุนโดยรวม แต่ผู้ลงทุนอีกส่วนหนึ่งยังต้องการข้อมูลสำหรับใช้ประเมินผลกระทบของบริษัทและความเชื่อมโยงที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์และขีดระดับด้านความยั่งยืน

แม้มาตรฐาน ISSB ได้เอื้อให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ในบางส่วน แต่ยังจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลด้านผลกระทบ (Impacts) และการพึ่งพา (Dependencies) ของบริษัท ดังนั้น เพื่อให้สอดรับกับแนวทาง “Building Blocks” ของ ISSB สำนักงาน ก.ล.ต. ควรคำนึงถึงการขยายกรอบการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมไปถึงผลกระทบและการพึ่งพาของบริษัท ตามที่ควรจะเป็น ด้วยมาตรฐาน GRI คล้ายกับแนวทางที่กำหนดโดยคณะกรรมาธิการยุโรป และกระทรวงการคลังจีน (อ้างอิง: https://www.unpri.org/consultations-and-letters/pri-response-to-thailand-sec-consultation-on-the-issb-roadmap/12969.article)


ISSB Building Block Approach

จะเห็นว่า ISSB Building Block เริ่มต้นจากการรายงานทางการเงินส่วนที่เป็นงบการเงิน (ตามมาตรฐาน IASB) ซึ่งเน้นสำหรับผู้ใช้รายงานที่เป็นผู้ลงทุน และเพิ่มเติมด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน (ตามมาตรฐาน ISSB) ซึ่งยังคงเน้นสำหรับผู้ใช้รายงานที่เป็นผู้ลงทุน โดยหากกิจการต้องการรายงานข้อมูลความยั่งยืนส่วนที่เป็นผลกระทบ (ทั้งทางบวกและทางลบ) จากการดำเนินงานที่มีต่อผู้คน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งเน้นสำหรับผู้ใช้รายงานที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง ควรใช้ข้อบังคับที่กำหนดโดยรัฐ (อาทิ มาตรฐาน ESRS) และ/หรือมาตรฐาน GRI

ด้วยการเปิดเผยข้อมูลในรายงานทางการเงินให้แก่ผู้ลงทุนเป็นพื้นฐาน และเพิ่มเติมมาสู่การเตรียมเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืนตามมาตรฐาน IFRS S1 และ IFRS S2 เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้ลงทุนในยุคปัจจุบัน กิจการที่ต้องการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมิได้สนใจเฉพาะข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน ยังคงมีการจัดทำรายงานความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI เพื่อให้ข้อมูลที่เปิดเผยครอบคลุมถึงการพึ่งพาและผลกระทบสู่โลกภายนอกตามอุปสงค์ของผู้ใช้ข้อมูลกลุ่มดังกล่าว


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, February 22, 2025

แนวโน้ม ESG ปี 2568 ในโลกที่เอียงขวา

ESG มิใช่เครื่องมือที่ใช้เพียงจัดการความเสี่ยง แต่สามารถใช้เพื่อสร้างโอกาสที่มากับปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) จากที่เป็นการขับเคลื่อนในแวดวงตลาดทุนที่มีความมุ่งประสงค์ให้บริษัทที่ลงทุน ดำเนินกิจการให้มีกำไรที่ดีพร้อมกันกับดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นไปด้วย ได้ก่อกำลังขึ้นจนพัฒนาเป็นวาระที่มีความเกี่ยวโยงกับฝ่ายการเมือง เนื่องจากการกำหนดนโยบายมหภาคด้าน ESG มีผลต่อทิศทางความเป็นไปของเศรษฐกิจโดยรวม

จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มาจากพรรคฝ่ายขวา ประกาศจุดยืนชัดเจนต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการยกเลิกและปรับรื้อกฎระเบียบทางสิ่งแวดล้อมหลายเรื่อง รวมทั้งหันกลับมาสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือการออกนโยบายรับรองเพศสภาพเพียงสองเพศ ซึ่งส่งผลต่อแนวทางความหลากหลาย ความเป็นธรรม และไม่ปิดกั้น (DEI) ทางสังคม หรือการออกคำสั่งให้อัยการสูงสุดยุติการบังคับใช้กฎหมายการทุจริตในต่างประเทศ (FCPA) ซึ่งเป็นความเสี่ยงทางธรรมาภิบาลที่กระทบต่อธุรกิจเป็นลูกโซ่ เป็นต้น

สำหรับในสหภาพยุโรป นับจากผลการเลือกตั้งสภายุโรปเมื่อกลางปีที่แล้ว ที่พรรคขวากลางได้ครองที่นั่งมากสุดและพรรคขวาจัดได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น ก็มีสัญญาณการปรับนโยบายทางสิ่งแวดล้อมจากเขียวเข้มมาเป็นเขียวอ่อน ในรูปแบบของการเลื่อนหรือชะลอการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การเลื่อนใช้ข้อบังคับว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการทำลายป่า (EUDR) หรือการลดความเข้มงวดของกฎหมาย เช่น การผ่านบทบัญญัติว่าด้วยการตรวจสอบสถานะความยั่งยืนของกิจการ (CSDDD) ที่ปรับลดจำนวนและเงื่อนไขของกิจการที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามลง

ล่าสุด สภายุโรปกำลังจะออกข้อบังคับสารพัน (Omnibus Regulation) ที่จะควบรวมกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ ข้อบังคับอนุกรมวิธานแห่งสหภาพยุโรป (EU Taxonomy) ที่ประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ. 2020 ซึ่งใช้แบ่งหมวดหมู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน บทบัญญัติว่าด้วยการรายงานความยั่งยืนของกิจการ (CSRD) ที่ประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ. 2022 ซึ่งใช้กำหนดรูปแบบการรายงานที่มิใช่ทางการเงินของบริษัท และบทบัญญัติว่าด้วยการตรวจสอบสถานะความยั่งยืนของกิจการ (CSDDD) ที่ประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ. 2024 ซึ่งกำหนดให้บริษัทต้องตรวจสอบผลกระทบทางลบด้านสิทธิมนุษยชนและด้านสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่คุณค่า พร้อมกับการออกแนวทางที่จะทำให้การปฏิบัติตามกฎหมายทั้งสามฉบับนี้ง่ายลงด้วย

สถานการณ์ที่ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ต่างกำลังปรับรื้อนโยบายและกฎหมายให้เอื้อประโยชน์และมุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันแก่ประเทศของตน บีบคั้นให้รัฐบาลจีน ต้องหันมากระชับความร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่สัญชาติจีนที่มีทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีซึ่งสามารถต่อกรกับประเทศตะวันตก โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ จีนได้มีการจัดเวทีพบปะระหว่างผู้นำรัฐบาลกับผู้นำภาคเอกชน เพื่อรวมกำลังกันในการพัฒนาเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ด้วยข้อได้เปรียบในระบบสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของจีน

เมื่อโลกมิได้เสรี ด้วยอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน แรงงาน เทคโนโลยี และข้อมูลได้ดังเดิม แต่เกิดการแบ่งขั้วภูมิภาค การปกป้องเทคโนโลยี การแยกห่วงโซ่การผลิต โดยมีประโยชน์ (ทางเศรษฐกิจและสังคม) ของประเทศตนเป็นที่ตั้ง ทำให้ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อโลกโดยรวม (โดยเฉพาะทางสิ่งแวดล้อม) จะถูกลำดับความสำคัญให้เป็นเรื่องรองอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ภาคธุรกิจ โดยสัญชาตญาณ มิได้ต้องการที่จะอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างขั้ว หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ฉุดรั้งการเติบโตของธุรกิจ หรือเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหากำไร ฉะนั้น การปรับตัวเพื่อให้กิจการมีโอกาสในการสร้างรายได้ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ใด จึงเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจมุ่งหมายให้เกิดขึ้น

โดย 3 แนวโน้มสำคัญด้าน ESG ที่จะเกิดขึ้น นับจากปี ค.ศ. 2025 ได้แก่

1) หลายธุรกิจจะได้อานิสงส์จากการผ่อนคลายกฎระเบียบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะไปลดภาระการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้กิจกรรมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องทำเพื่อสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มลดลง

2) ธุรกิจจะต้องมีความสามารถในการจัดทำกลยุทธ์องค์กรที่คำนึงถึงการเติบโตซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ และพัฒนาขีดความสามารถในการเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานโลกที่ไม่จำกัดขั้ว

3) การนำประเด็น ESG มาใช้เพิ่มโอกาสในการสร้างมูลค่าจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย นอกเหนือจากการหารายได้กับกลุ่มลูกค้าจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการที่คำนึงถึงประเด็น ESG เพื่อนำไปสู่การสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้น


เห็นได้ว่า ESG มิใช่เครื่องมือที่ใช้เพียงจัดการความเสี่ยง แต่สามารถใช้เพื่อสร้างโอกาสที่มากับปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และความสามารถในการทำกำไร (Profitability) จากการใช้ประโยชน์ในประเด็นด้าน ESG ที่สอดคล้องกับบริบทของกิจการ เกิดเป็นผลดีทั้งกับกิจการและผู้มีส่วนได้เสียในลักษณะ “Who cares earns” (ยิ่งใส่ใจ ยิ่งได้รับ)

การดำเนินการดังกล่าว จำเป็นที่ธุรกิจต้องมีกระบวนทัศน์ (Paradigm) สำหรับใช้วางแนวขับเคลื่อนองค์กร ที่ซึ่งกิจการสามารถผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้าเป็นเนื้อเดียวกับการดำเนินธุรกิจ โดยสถาบันไทยพัฒน์จะได้นำเสนอกรอบความคิดและทิศทาง ESG ที่ใช้ในการปรับแนวและจุดเน้นขององค์กรให้สอดรับกับขีดความสามารถของกิจการ เพื่อขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนอย่างมีสมรรถภาพในโอกาสต่อไป


3 แนวโน้มสำคัญด้าน ESG ปี 2568



จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, February 08, 2025

ข้อมูลความยั่งยืน มีสองเวอร์ชัน

องค์กรที่มีความคุ้นเคยกับการประเมินสาระสองนัย หรือทวิสารัตถภาพอยู่แล้ว จะนิยมใช้มาตรฐาน IFRS ควบคู่กับมาตรฐาน GRI เพื่อให้ข้อมูลความยั่งยืนในทั้งสองเวอร์ชัน

ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องความแตกต่างของข้อมูลความยั่งยืนที่ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยกันอยู่ในเวลานี้ เราในฐานะผู้ใช้ข้อมูลความยั่งยืนดังกล่าว ควรต้องทราบความแตกต่างระหว่างรายงานทางการเงิน (Financial Statement) รายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (Sustainability-related Financial Disclosure) และรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) เป็นพื้นฐานก่อน

รายงานทางการเงิน หรืองบการเงิน เป็นการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ หนี้สิน ทุน รายรับ และรายจ่ายของกิจการ ในรอบระยะเวลาหนึ่ง ๆ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินกิจการที่ผ่านมาแล้วในอดีต

รายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เป็นการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่อยู่นอกเหนือข้อมูลที่ปรากฏในงบการเงิน ซึ่งช่วยให้ผู้มีส่วนได้เสียเห็นภาพรวมของปัจจัยความยั่งยืนอันส่งผลทางการเงิน (Financial Effect) ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยปัจจัยดังกล่าวเป็นได้ทั้งความเสี่ยงและโอกาสของกิจการ (เป็นข้อมูลความยั่งยืนฝั่งขาเข้า หรือ Outside-in)

รายงานความยั่งยืน เป็นการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลกระทบอันเกิดจากการดำเนินงานของกิจการ ที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (เป็นข้อมูลความยั่งยืนฝั่งขาออก หรือ Inside-out)

สารัตถภาพหรือความเป็นสาระสำคัญ (Materiality) ของข้อมูลในงบการเงิน และในรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ต่างกันตรงที่ ประการแรก หากกิจการเห็นว่ามีความเสี่ยงและโอกาสที่สามารถส่งผลทางการเงิน จะถือว่าข้อมูลนั้นมีสาระสำคัญที่ต้องเปิดเผยในรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ขณะที่ข้อมูลชุดเดียวกันนั้น ยังไม่ถือว่าเข้าเกณฑ์สาระสำคัญที่ต้องเปิดเผยในงบการเงิน (เพราะเหตุการณ์นั้น ๆ ยังไม่ได้เกิดขึ้น)

ความแตกต่างประการที่สอง คือ ความเสี่ยงและโอกาสที่สามารถส่งผลทางการเงินต่อกิจการ อาจเกิดขึ้นโดยความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เช่น จากคู่ค้าในห่วงโซ่คุณค่าทั้งฝั่งต้นน้ำและฝั่งปลายน้ำ ที่ยังคงนับว่าข้อมูลนั้นมีสาระสำคัญที่ต้องเปิดเผยในรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ขณะที่ข้อมูลชุดเดียวกันนั้น ไม่ถือว่าเข้าเกณฑ์สาระสำคัญที่ต้องเปิดเผยในงบการเงิน (เพราะไม่ใช่ข้อมูลที่เกี่ยวกับกิจการ)

ข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสที่สามารถส่งผลทางการเงินต่อกิจการ และมีสาระสำคัญที่ต้องเปิดเผยในรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน รวมเรียกว่า ข้อมูลที่มี “สารัตถภาพเชิงการเงิน” (Financial Materiality)

ส่วนข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกิจการ ทั้งจากสถานประกอบการที่กิจการเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจควบคุม จากห่วงโซ่คุณค่าทั้งฝั่งต้นน้ำและฝั่งปลายน้ำ จากผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดถึงจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจ จะถือว่ามีสาระสำคัญเมื่อพิจารณาจากเกณฑ์ความรุนแรง (Severity) ที่ส่งผลต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม โดยที่มีกิจการเป็นต้นเหตุ (Caused) มีส่วนสนับสนุน (Contribute) หรือเกี่ยวโยงโดยตรง (Directly linked)

ข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกิจการ และมีสาระสำคัญที่ต้องเปิดเผยในรายงานความยั่งยืน เรียกว่า ข้อมูลที่มี “สารัตถภาพเชิงผลกระทบ” (Impact Materiality)

ผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกิจการ ยังสามารถเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงและโอกาสของกิจการที่มีสาระสำคัญซึ่งสามารถส่งผลกระทบทางการเงินได้อีกทอดหนึ่ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น กิจการจะต้องเปิดเผยความเสี่ยงและโอกาสที่เกิดจากผลกระทบดังกล่าวในรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนด้วย

การวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยง (Risks) และโอกาส (Opportunities) ที่สามารถส่งผลทางการเงินต่อกิจการ ควบคู่กับข้อมูลผลกระทบ (Impacts) ที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกิจการ เพื่อประเมินความเป็นสาระสำคัญของข้อมูลสำหรับการรายงาน เรียกว่า สาระสำคัญสองนัย (Double Materiality) หรือใช้ในอีกชื่อหนึ่งว่า “ทวิสารัตถภาพ”

ทวิสารัตถภาพ เป็นหลักการที่ถูกบรรจุอยู่ในมาตรฐานระหว่างประเทศ อาทิ มาตรฐาน ESRS (European Sustainability Reporting Standards) ที่กำหนดให้กิจการซึ่งอยู่ในข่าย ต้องดำเนินการประเมินประเด็นที่เป็นสาระสำคัญทั้งนัยทางการเงินและนัยของผลกระทบ โดยไม่ต้องการให้จำกัดเฉพาะการประเมินสารัตถภาพที่คำนึงถึงแต่ตัวกิจการเพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้ เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งความยั่งยืนของกิจการผ่านตัวชี้วัดที่ส่งผลทางการเงิน และความยั่งยืนของส่วนรวมผ่านตัวชี้วัดที่ส่งผลกระทบสู่ภายนอก ควบคู่ไปพร้อมกัน


ภูมิทัศน์ของการรายงานที่มุ่งเน้นผู้ลงทุน กับการรายงานที่มุ่งเน้นผู้มีส่วนได้เสีย

สำหรับองค์กรที่มีความคุ้นเคยกับการประเมินสาระสองนัย หรือทวิสารัตถภาพอยู่แล้ว จะนิยมใช้มาตรฐาน IFRS (International Financial Reporting Standards) สำหรับอ้างอิงการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่เป็นความเสี่ยงและโอกาสทางการเงินในรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน และใช้มาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) สำหรับอ้างอิงการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่เป็นผลกระทบจากการดำเนินงานของกิจการในรายงานความยั่งยืน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, January 25, 2025

แก้ไขโลกรวน อย่าให้เป็นเรื่องจวนตัว

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประชาคมโลกได้เห็นพ้องร่วมกันตามความตกลงปารีส ที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิค่าเฉลี่ยโลกให้ต่ำกว่า 1.5 °C (เทียบกับระดับอุณหภูมิยุคก่อนอุตสาหกรรม) เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จากข้อมูลสภาพภูมิอากาศซึ่งเก็บจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ 6 แหล่ง พบว่า ปี ค.ศ. 2024 อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกได้เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 1.55 °C (± 0.13 °C) เกินกว่าระดับอุณหภูมิยุคก่อนอุตสาหกรรมเป็นปีแรก และเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

แม้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่สูงกว่า 1.5 °C ในปี ค.ศ. 2024 ยังมิใช่เครื่องชี้ว่า เป้าหมายตามความตกลงปารีสได้ถูกทำลายลง เพราะเป้าหมาย 1.5 °C หมายถึง อุณหภูมิค่าเฉลี่ยโลกในระยะ 20 ปี แต่ก็นับเป็นสัญญาณอันตราย หากยังปล่อยให้มีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในระดับนี้ต่อไป

งานวิจัยจากข้อมูลเชิงประจักษ์ของสถาบันพ็อทซ์ดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบทางภูมิอากาศ (PIK) ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 2024 ระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการลดลงของรายได้ 19% ในอีก 25 ปีข้างหน้า จากผลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้เกิดขึ้นแล้ว แม้จะหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดนับจากวันนี้ก็ตาม โดยตัวเลขความเสียหายจากผลกระทบทางภูมิอากาศมีมูลค่าอยู่ที่ 38 ล้านล้านเหรียญต่อปีโดยประมาณ ซึ่งมากกว่าเม็ดเงินที่จำเป็นต้องใช้ในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 2 °C อยู่ถึง 6 เท่า

ในภาคธุรกิจ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก จำแนกออกได้เป็น 3 ขอบข่าย คือ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานขององค์กร (ขอบข่ายที่ 1) กิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงาน (ขอบข่ายที่ 2) และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่คุณค่า (ขอบข่ายที่ 3)

จากรายงาน Scope 3 Upstream Report ของ CDP (Carbon Disclosure Project) เมื่อปี ค.ศ. 2024 ระบุว่า ปริมาณการปล่อยมลอากาศที่มีสัดส่วนมากสุดเกิดขึ้นในขอบข่ายที่ 3 จากกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 26 เท่าของปริมาณการปล่อยมลอากาศในขอบข่ายที่ 1 และขอบข่ายที่ 2 รวมกัน

ฉะนั้น การที่องค์กรจะวางแผนจัดการเฉพาะมลอากาศจากการดำเนินงานและจากการใช้พลังงาน เพื่อนำไปสู่การบรรลุ Net Zero Emission หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย หากปราศจากการวางแผนบริหารมลอากาศในห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งครองสัดส่วนปริมาณมลอากาศที่มากสุดในบรรดากิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้น

จึงเป็นเหตุให้ในมาตรฐาน Corporate Net Zero ของ SBTi ที่ประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ. 2024 กำหนดให้กิจการที่มีสัดส่วนมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 เกินกว่า 40% ของปริมาณมลอากาศที่ปล่อยทั้งหมด จะต้องตั้งเป้าหมายระยะใกล้ (5-10 ปี) สำหรับการลดมลอากาศลงให้ได้สองในสาม (67%) ของปริมาณมลอากาศที่ปล่อยในขอบข่ายที่ 3 และสอดคล้องกับกรอบเพดานอุณหภูมิไม่เกิน 2 °C เป็นอย่างน้อย ขณะที่การตั้งเป้าหมายระยะยาว (ปี ค.ศ. 2050) ต้องครอบคลุมการลดมลอากาศที่ปล่อยในขอบข่ายที่ 3 ให้ได้ 90% และสอดคล้องกับกรอบเพดานอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 °C

แม้จะมีความไม่ลงรอยในเป้าหมายด้านภูมิอากาศระหว่างประเทศ อันเป็นผลของการแทรกแซงจากการเมืองภายในประเทศ และการรักษาผลประโยชน์ของรัฐเป็นที่ตั้ง ซึ่งมีฐานความเชื่อในเรื่องโลกร้อนที่แตกต่างกัน กระทั่งทำให้เกิดฝ่ายที่ไม่ต้องการดำเนินการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เพราะเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ กับฝ่ายที่เห็นควรให้มีการดำเนินการกับผลกระทบทางภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์อย่างเร่งด่วน เกิดเป็นความต่างขั้วทางภูมิอากาศ (Climate Polarization)

ผู้เขียนมีความเห็นว่าการร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคนละไม้คนละมือ ตามวิสัยที่ตนดำเนินการได้ในกิจกรรมซึ่งส่งผลบวกต่อภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ ย่อมดีกว่าการรอเวลาให้ธรรมชาติเป็นเครื่องพิสูจน์โดยที่ไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ซึ่งอาจสายเกินไปเมื่อเวลานั้นมาถึง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, January 11, 2025

ตั้งศูนย์อุณหภิบาล หนุนธุรกิจรับมือโลกรวน

จากรายงานของ CDP (Carbon Disclosure Project) เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 ได้ทำการสำรวจกิจการทั่วโลกกว่า 23,000 แห่ง ผ่านการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า ตัวเลขค่าใช้จ่ายประมาณการที่บริษัทต้องใช้เผชิญกับความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในห่วงโซ่อุปทานมียอดรวมอยู่ที่ 1.62 แสนล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 2.9 เท่า เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายจำนวน 5.6 หมื่นล้านเหรียญ ที่บริษัทใช้ในการจัดการหรือป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว

แสดงให้เห็นว่า หากบริษัทมีกลยุทธ์เพื่อจัดการหรือป้องกันความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ จะประหยัดงบประมาณได้มากกว่าจำนวนที่ต้องใช้จ่ายเพื่อเผชิญกับความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในห่วงโซ่อุปทาน

ทั้งนี้ ความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ที่มีผลกระทบทางการเงินสูง ได้แก่ กฎระเบียบด้านภูมิอากาศที่ออกใหม่ ส่วนปัจจัยความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญทางการเงิน ได้แก่ กลไกราคาคาร์บอน (29%) พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป (22%) ข้อบังคับและกฎเกณฑ์ในตัวผลิตภัณฑ์และบริการที่จำหน่าย (22%)

ขณะที่ ตัวเลขยอดลงทุนของกิจการที่ถูกสำรวจจำนวน 1.97 หมื่นล้านเหรียญ สามารถสร้างให้เกิดโอกาสเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในห่วงโซ่อุปทานที่มูลค่าประมาณ 1.65 แสนล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 8.4 เท่า เมื่อเทียบกับยอดเงินที่ลงทุนไป

นอกจากนี้ ในบรรดากิจการที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศกับ CDP มีกิจการจำนวน 56% ที่ระบุถึงความริเริ่มในการลดมลอากาศของกิจการ ซึ่งมียอดเงินรวมที่ประหยัดได้ราว 3.22 หมื่นล้านเหรียญ ขณะที่มีกิจการจำนวน 15% ที่ระบุเจาะจงถึงการลดมลอากาศในห่วงโซ่คุณค่า แต่ยอดเงินรวมที่ประหยัดได้กลับมีสูงถึง 1.36 หมื่นล้านเหรียญ

แสดงให้เห็นว่า โครงการลดมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 ตามข้อมูลที่กิจการรายงาน สามารถช่วยลดรายจ่ายในอัตราที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับยอดเงินรวมที่ประหยัดได้จากความริเริ่มทั้งหมด

ผลการสำรวจข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า การบริหารมลอากาศในห่วงโซ่คุณค่า จะช่วยให้กิจการประหยัดงบประมาณได้มากกว่าจำนวนที่ต้องใช้จ่ายเพื่อเผชิญกับความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ เช่น กฎระเบียบด้านภูมิอากาศที่ออกใหม่ อีกทั้งยังสามารถสร้างให้เกิดโอกาสเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลก เช่น การเข้าถึงตลาดใหม่จากความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ร่วมกับภาคธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี เล็งเห็นความจำเป็นในการพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือเพื่อช่วยองค์กรธุรกิจในการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางกฎระเบียบ มาตรฐานและกรอบการดำเนินงานที่เป็นทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ โดยเน้นที่การกำกับดูแลให้กิจการสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ยุคคาร์บอนต่ำ ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า

ในปี พ.ศ. 2568 นี้ สถาบันจึงได้มีการจัดตั้ง ศูนย์อุณหภิบาล หรือ Climate-Aligned Governance Center (CAG Center) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ภาคธุรกิจในการรวบรวมข้อมูลมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 เพื่อนำไปสู่การบริหารมลอากาศในห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเป็นความท้าทายของกิจการส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่คุณค่า เกี่ยวพันกับคู่ค้าที่ซึ่งกิจการไม่มีอำนาจควบคุมหรือไม่มีความเป็นเจ้าของในการสั่งการ อีกทั้งต้นทุนในการรวบรวมข้อมูลมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการดำเนินกิจกรรมการลดมลอากาศของตัวกิจการเอง

สำหรับกิจการที่มีความริเริ่มหรือโครงการลดมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 ก้าวหน้าระดับหนึ่งแล้ว ศูนย์อุณหภิบาล จะเน้นเพิ่มศักยภาพการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นผลกระทบจากการดำเนินงานเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ครอบคลุมทั้งในมิติสังคมและมิติสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่เป็นสากล

องค์กรธุรกิจที่ต้องการพัฒนาขีดความสามารถด้านการบริหารมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 และเพิ่มศักยภาพการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศตามมาตรฐานสากล สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและเข้าเป็น "แนวร่วมอุณหภิบาล" กับสถาบันไทยพัฒน์ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]