ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่เริ่มต้นเข้ามาในแวดวงความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจที่มีต่อสังคม หรือ CSR ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า การทำ CSR คือ การช่วยเหลือสังคม หลังจากที่ธุรกิจทำมาค้าขายหากำไรได้ ในรูปของการตอบแทนหรือคืนกำไรส่วนหนึ่งให้แก่สังคม เช่น การให้ทุนการศึกษาแก่เด็กยากไร้ การบริจาคเพื่อสาธารณกุศล การมอบสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นให้แก่ผู้ประสบภัย
ความเข้าใจ CSR ที่ว่านี้ ถูกต้องเพียงส่วนเดียว เพราะหากเราตั้งคำถามใหม่ว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น กิจกรรม CSR จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อธุรกิจต้องมีกำไรก่อนเท่านั้นหรือ
ในความจริง ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะไม่ว่าธุรกิจจะมีหรือไม่มีกำไรก็ตาม ธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบในการประกอบการเพื่อแสวงหารายได้ โดยที่มิให้เกิดผลกระทบเดือดร้อนเสียหายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องรอบข้าง ซึ่งในที่นี้ เรียกว่า ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) อันประกอบไปด้วย พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน (รวมถึง สิ่งแวดล้อม) ที่อยู่รายรอบแหล่งดำเนินงาน เป็นต้น
การทำ CSR จึงไม่ได้จำกัดว่า จะต้องเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นแยกต่างหากจากการประกอบการ หรือเกิดภายหลังการดำเนินธุรกิจแล้ว ซึ่งเรียกกันว่า CSR-after-process ในรูปของการตอบแทนคืนสังคมเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในระหว่างการประกอบการ หรือในกระบวนการทางธุรกิจ ซึ่งเรียกกันว่า CSR-in-process ด้วย ตั้งแต่ การคัดสรรวัตถุดิบที่มีความโปร่งใสเป็นธรรมต่อคู่ค้า การผลิตและการจำหน่ายที่ไม่เอารัดเอาเปรียบลูกค้า การขายและการตลาดที่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รวมถึงการเสียภาษีตามกฎหมาย ฯลฯ
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็น CSR ภาคหลักการ ที่ธุรกิจพึงจะดำเนินการตามนั้น แต่หากมาดูในภาคปฏิบัติ องค์กรธุรกิจมักจะใช้บริการ CSR-after-process มาสร้างภาพพจน์ให้องค์กรดูดี ด้วยการโยงไปสู่การประชาสัมพันธ์ หรือ PR ด้วยความที่สื่อสารได้ง่ายและเห็นภาพ
CSR ในเวอร์ชันแรกขององค์กรส่วนใหญ่ จึงเป็นการทำ CSR เพื่อให้ “ได้ภาพ” และหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเรื่อง CSR ในเวอร์ชันนี้ มักจะตกอยู่กับฝ่ายสื่อสารองค์กร ขณะที่บางองค์กร มีการแยกตั้งฝ่าย CSR ขึ้นเพื่อทำงานโดยเฉพาะ และ Treat เรื่อง CSR เป็นฟังก์ชันงานหนึ่งขององค์กร
CSR ในเวอร์ชันต่อมา เกิดจากการที่องค์กรหลายแห่งตระหนักว่า การทำ CSR เพื่อ PR นั้น ไม่ยั่งยืน มีลักษณะ Window Dressing หรือ ผักชีโรยหน้า สังคมเริ่มไม่ให้ราคากับการทำ CSR แบบฉาบฉวยนี้เท่าใดนัก
องค์กรที่ว่าดังกล่าว จึงเริ่มคิดทำในแบบที่ยั่งยืนมากขึ้น เอาจริงเอาจังในการจัดการกับประเด็นทางสังคม (และสิ่งแวดล้อม) มากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องหรือเป็นผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินงานของธุรกิจ ทำให้ CSR ในเวอร์ชันต่อมา เป็นการทำ CSR ที่คำนึงถึงการดูแลผลกระทบ (เชิงลบ) ที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบการ เพื่อมุ่งป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ “ได้ผล” ที่จริงจังขึ้น
CSR ในเวอร์ชันนี้ จึงเกี่ยวพันกับฝ่ายต่างๆ ขององค์กร ที่ไม่จำกัดเฉพาะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่อง CSR อีกต่อไป
บทบาทของฝ่าย CSR จึงเปลี่ยนจากการดำเนินการเอง มาเป็นการอำนวยการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามฟังก์ชันงานของฝ่ายนั้นๆ อาทิ ฝ่ายจัดซื้อมีนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติกับผู้ส่งมอบ (ความรับผิดชอบต่อคู่ค้า) ฝ่ายบุคคลมีการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรและเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (ความรับผิดชอบต่อพนักงาน) ฝ่ายการเงินและบัญชีมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่รัดกุม (ความรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้-ลูกหนี้) ฝ่ายขายและฝ่ายตลาดมีการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการที่เที่ยงตรงไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด (ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค) โดยอ้างอิงข้อปฏิบัติที่ฝ่าย CSR คอยช่วยเหลือแนะนำตามแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมที่สากลยอมรับ
ในแง่ของโครงสร้าง CSR ในเวอร์ชันนี้ มักจะมาพร้อมกับการตั้งคณะกรรมการ (Committee) ด้าน CSR ขึ้นเพื่อการขับเคลื่อน ในลักษณะที่เป็น Cross-Function เพราะเกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายในองค์กร
ล่าสุด พัฒนาการของ CSR ได้มาถึงจุดที่องค์กรธุรกิจพิจารณานำประเด็นทางสังคม (และสิ่งแวดล้อม) มาแปลงเป็นโจทย์ทางธุรกิจ หมายความว่า แทนที่จะมุ่งจัดการกับผลกระทบเชิงลบจากการประกอบการในขาเดียว (เทียบได้กับการจัดการความเสี่ยงในธุรกิจ) ดังเช่นในเวอร์ชันก่อนหน้า ก็ขยายขอบเขตมาสู่การออกแบบเพื่อส่งมอบผลกระทบเชิงบวกจากการประกอบการอีกขาหนึ่ง (เทียบได้กับการสร้างโอกาสทางธุรกิจ) กลายเป็น CSR ในรูปแบบที่เป็นการทำเพื่อให้ได้ “คุณค่าร่วม” ระหว่างธุรกิจกับสังคมไปพร้อมกัน เพราะขณะที่โจทย์ทางธุรกิจบรรลุ ประเด็นปัญหาสังคมนั้นก็ได้รับการแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงไปในคราวเดียว
CSR เวอร์ชันล่าสุดนี้ เป็นการบูรณาการเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าเป็นเนื้อเดียวกับกลยุทธ์ธุรกิจ ถ่ายทอดมาสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแต่ประเด็นทางสังคม (และสิ่งแวดล้อม) และกลุ่มเป้าหมายที่ธุรกิจเลือกเพื่อต้องการตอบโจทย์
สำหรับองค์กรที่ดำเนินมาถึง CSR เวอร์ชันล่าสุดนี้ เป็นที่คาดการณ์ได้ว่า ฝ่าย CSR และคณะกรรมการ CSR ที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ก่อนหน้านี้ อาจจะเลือนหายไปจากโครงสร้างองค์กรในท้ายที่สุด เนื่องจากเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม จะฝังตัวเข้าอยู่ในทุกส่วนงานขององค์กร โดยไม่มีความจำเป็นต้อง Treat เรื่อง CSR เป็นฟังก์ชันงานต่างหากอีกต่อไป
พัฒนาการ CSR ตามที่ได้แบ่งให้เห็นเป็นแต่ละเวอร์ชันนั้น มีเหตุปัจจัยที่เกิดจากความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่เปลี่ยนแปลงไปตามห้วงเวลา ทั้งแรงกดดันที่มีมาจากภาคประชาสังคม การออกกฎหมายและกฎระเบียบใหม่ๆ จากภาครัฐ รวมทั้งการกำหนดเป็นนโยบายและเงื่อนไขจากคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจด้วยกันเอง
กล่าวโดยรวมแล้ว CSR ในทั้งสามเวอร์ชัน ได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย จากระดับที่เป็นการบริหารการรับรู้ (Perception) ซึ่งเป็นเรื่องภาพลักษณ์ที่มิได้เกี่ยวโยงกับผลลัพธ์เท่าใดนัก มาสู่เรื่องสมรรถนะการดำเนินงาน (Performance) ที่คำนึงถึงการดูแลผลกระทบเชิงลบที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบการ และคุณค่าสุทธิที่ได้รับ (Bottom Line) จากการจัดการกับประเด็นทางสังคมที่หยิบยกมาดำเนินการ ตามลำดับ
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Sunday, November 19, 2017
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment