Sunday, November 05, 2017

Invention is not Innovation

ความท้าทายสำคัญประการหนึ่ง ในการพัฒนาประเทศไทย ให้ไปสู่อนาคตที่มุ่งหวัง ทั้งผลลัพธ์ที่วัดได้ในเชิงปริมาณ เช่น ตัวเลขจีดีพีที่เพิ่มขึ้น และตัววัดในเชิงคุณภาพ เช่น ดัชนีความอยู่ดีมีสุขที่สูงขึ้น เกี่ยวเนื่องกับเรื่องสมรรถภาพของ “คน” ที่ขาดทักษะความสามารถในการพัฒนา “นวัตกรรม” เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงและการก้าวทันต่อโลก

ครั้นเมื่อตระหนักในความสำคัญของเรื่องนวัตกรรม หน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐ ก็ตื่นตัวลุกขึ้นมาส่งเสริมกันขนานใหญ่ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องการส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ตอัพ เพื่อปั้นให้เป็นนักรบทางเศรษฐกิจหน้าใหม่ เป็นความหวังต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป

โจทย์ที่สตาร์ตอัพ ต้องพิสูจน์ให้เห็น คือ สามารถคิดค้นและพัฒนาสินค้าและบริการ อันเป็นที่ต้องการของตลาด สร้างให้เกิดรายได้ กิจการสามารถอยู่รอดได้ในระยะเริ่มแรก และมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในระยะยาว

เวทีที่ส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จึงเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด จนบางครั้งคำว่า นวัตกรรม และ การประดิษฐ์ ถูกนำมาใช้แทนที่กัน เพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกัน

แต่ในความเป็นจริง นวัตกรรม แตกต่างจาก การประดิษฐ์ อย่างมีนัยสำคัญ แม้สองเรื่องนี้ จะมีความเชื่อมโยงกันอยู่

การประดิษฐ์ มาจาก การมองมุมต่าง มีความคิดใหม่ เกิดแนวคิดใหม่ สู่ขั้นที่พัฒนาต้นแบบ แต่อาจไม่สามารถแปลงไปสู่ผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการที่ใช้การได้ในวงกว้าง หรือไม่สามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนที่สมเหตุสมผล และอาจไม่ถึงขั้นที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ต่อพฤติกรรมหรือแบบแผนทางสังคม

การประดิษฐ์ เกี่ยวข้องกับการสร้างความคิดใหม่ (Creating a new idea) ส่วนนวัตกรรม เกี่ยวข้องกับการใช้ความคิดใหม่ (Using this new idea)

Marc Giget กูรูด้านนวัตกรรมชาวฝรั่งเศส ได้ให้คำจำกัดความว่า นวัตกรรม หมายถึง การผสมผสานองค์ความรู้ที่ทันสมัย ในตัวผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างสรรค์ ในขั้นที่สามารถสนองตอบความต้องการพื้นฐานของผู้คนและสังคม

ผมขอขยายความต่อในคำสำคัญว่า “ทันสมัย” (State of the Art) คือ มีความก้าวหน้าล่าสุดเท่าที่จะหาได้ในปัจจุบัน ส่วนคำว่า “สร้างสรรค์” (Creative) คือ มีลักษณะริเริ่มในทางดี ก่อเกิดความสุขความเจริญให้แก่สังคม และคำว่า “ความต้องการพื้นฐาน” (Needs) คือ มีความจำเป็นใช้สอย (ปัจจัย 4) หรือแก้ไขสภาพที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น


นวัตกรรม สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง ได้ทั้งในระดับกระบวนการ (Processes) ในระดับองค์กร (Organizations) และในระดับสังคม (Society)

โดยรูปแบบของนวัตกรรม แบ่งออกเป็น สองจำพวกใหญ่ๆ คือ แบบค่อยเป็นค่อยไป (Incremental) สร้างการเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับขั้น และแบบหักร้างถางพง (Breakthrough) ปรับรื้อสิ่งที่มีอยู่เดิม สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ หรืออย่างฉับพลันทันที

สำหรับปัจจัยที่ก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรม ประกอบด้วย ปัจจัยประการแรก คือ กลวิธี (Techniques) ทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง ปัจจัยประการที่สอง คือ ความรู้สะสมที่มีอยู่ก่อนหน้า + ความรู้ใหม่จากการวิจัย และปัจจัยประการที่สาม คือ ความคิดใหม่ (New Ideas) + อุปสงค์ใหม่ (New Demands)

หวังว่า สตาร์ตอัพ จะเข้าใจยิ่งขึ้นว่า ตนเองกำลังพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ หรือ นวัตกรรม โดยไม่หลงไปกับการส่งเสริมของภาครัฐที่กำลังใช้คำเหล่านี้ เพื่อใช้งบประมาณที่ได้รับตามภารกิจ แต่ไม่ได้ให้อะไรแก่สตาร์ตอัพเท่าที่ควร


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: