Thursday, February 06, 2014

‘พิมพ์เขียว’ การเข้าร่วมปฏิรูปของภาคธุรกิจ

การเข้าร่วมขบวนปฏิรูปสังคมร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ นับเป็นหนึ่งในเรื่อง CSR ที่ภาคธุรกิจพึงดำเนินการ และถือเป็นหน้าที่ตามบทบาทที่เป็นพลเมืองภาคองค์กรในสังคม โดยวิธีการและระดับของการเข้าร่วม (Engagement) จะแตกต่างกันตามโอกาสและสมรรถภาพขององค์กรที่มีต่อประเด็นการปฏิรูปที่เกี่ยวข้อง

คำว่า Engage นั้นมีดีกรีที่แตกต่างจากคำว่า Participate หรือ Involve คือสูงกว่าขั้นการมีส่วนร่วมหรือการเข้าร่วมในระดับพฤติกรรม แต่ยังเป็นเรื่องของ emotional and intellectual commitment ในระดับจิตใจและสติปัญญาร่วมด้วย

คุณลักษณะของการเข้าร่วมแบบ Engagement ที่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากนั้น จะต้องเริ่มจาก ‘สำนึก’ ขององค์กรที่ประสงค์จะเข้าร่วมในการแก้ปัญหาหรือการปฏิรูปในเรื่องนั้น ถึงจะเปิดทางให้การทำงานในระดับจิตใจและสติปัญญาเกิดขึ้นได้จริง

มิฉะนั้นแล้ว การเข้าร่วมที่เกิดขึ้น ก็จะดำเนินไปในทำนอง เรื่อยๆ ไม่ดิ้นรน (Passive) หรือ รับไว้ ว่าตามกันไป (Receptive)

แนวทางการ Engagement ที่ภาคธุรกิจ สามารถนำมาเป็นตัวแบบในการดำเนินการ คือ หลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานไว้ ซึ่งถือเป็นหลักการเพื่อสังคมที่ใช้การทำงานของจิตใจและสติปัญญา เพื่อบรรลุถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

“หลักการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา คือ ก่อนจะทำอะไรต้องมีความเข้าใจเสียก่อน เข้าใจภูมิประเทศ เข้าใจผู้คนในหลากหลายปัญหา ทั้งนี้ จะต้องทำให้ผู้ที่เราจะไปทำงานกับเขาหรือทำงานให้เขานั้น เข้าใจเราด้วย เพราะถ้าเราเข้าใจเขาแต่ฝ่ายเดียว โดยที่เขาไม่เข้าใจเรา ประโยชน์คงจะไม่เกิดขึ้นตามที่เรามุ่งหวังไว้ เมื่อรู้ปัญหาแล้ว เข้าใจแล้ว ก็ต้องเข้าถึง เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ และเมื่อเข้าถึงแล้วจะต้องทำอย่างไรก็ตามให้เขาอยากเข้าถึงเราด้วย ดังนั้น จะเห็นว่า เป็นการสื่อสารสองทาง ทั้งไปและกลับ ถ้าสามารถทำสองประการแรกได้สำเร็จ เรื่องการพัฒนาจะประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี” (สภาพัฒน์, พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุข สู่ปวงประชา, 2554)

ขณะที่ องค์ประกอบต่างๆ ขององค์กร ที่รวมกันเข้าเป็น “ระบบ” การดำเนินงาน จะต้องได้รับการจัดวางให้มีสภาพที่เอื้อต่อการทำหน้าที่พลเมืองภาคองค์กรในสังคม โดยรูปแบบและลักษณะของการจัดวางองค์ประกอบทางธุรกิจเพื่อเปิดทาง (Enablement) การเข้าร่วมทำงานนั้น จะมีความแตกต่างกันตามความพร้อมขององค์กร และตามสภาพแวดล้อมของสาขาอุตสาหกรรมที่องค์กรสังกัดอยู่

สิ่งที่แต่ละองค์กรธุรกิจสามารถริเริ่มได้ทันที คือ การสำรวจองค์ประกอบของการดำเนินงานในห่วงโซ่ธุรกิจ (Value Chain) ตนเอง ค้นหาช่องทางที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสายอุปทานในฝั่งต้นน้ำ เพื่อให้เป็นผู้ส่งมอบปัจจัยการผลิต นอกเหนือจากแรงงาน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสายคุณค่าในฝั่งปลายน้ำ เพื่อการบริโภคใช้สอยที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รูปแบบการจัดวางองค์ประกอบทางธุรกิจเพื่อเปิดทางในลักษณะนี้ เรียกว่า Inclusive Business ในฐานะผู้ส่งมอบนั้น ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำจะมีโอกาสเข้าถึงระบบเศรษฐกิจแบบเป็นทางการและเกิดการกระจายรายได้ รวมทั้งโอกาสในการได้รับการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพเพื่อร่วมในระบบการผลิต ส่วนในฐานะผู้บริโภคนั้น ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำจะได้ประโยชน์จากสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการและในราคาที่สามารถจับจ่ายได้

พร้อมๆ กับการจัดวางองค์ประกอบการดำเนินงานในห่วงโซ่ธุรกิจ องค์กรสามารถดำเนินการเสริมสร้างพลัง (Empowerment) ให้แก่บุคลากรในเครือข่ายที่องค์กรได้เข้าร่วมทำงาน โดยมีเป้าที่การสร้างความเข้มแข็งกับเครือข่าย ให้สามารถขับเคลื่อนงานต่อไปได้ เมื่อองค์กรถอนการทำงานออกจากพื้นที่หรือประเด็นที่เข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม

บทเรียนจากโครงการประชานิยมของภาครัฐ (ซึ่งอาจไม่ต่างจาก CSR ชนิดที่เป็นการบริจาคในหลายโครงการของภาคธุรกิจ) สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการดำเนินโครงการ ที่มิได้ช่วยให้สังคมเข้มแข็งขึ้น แต่กลับส่งผลตรงกันข้าม ทำให้ชุมชนต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอกตลอดเวลา ขีดความสามารถของประชาชนถดถอย และสังคมโดยรวมอ่อนแอลง

หวังว่า หลักการ Engage-Enable-Empower จะช่วยให้องค์กรธุรกิจ สามารถใช้เป็นหนึ่งใน ‘พิมพ์เขียว’ สำหรับเข้าร่วมขบวนปฏิรูปที่กำลังก่อตัวขึ้นในสังคมไทย ในฐานะของพลเมืองภาคองค์กร (Corporate Citizen) ได้ไม่มากก็น้อย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: