สถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นปีที่แล้วและพัฒนาจวบจนปัจจุบัน คือการลุกขึ้นของมวลมหาชนที่เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบทั้งทางกฎหมายและจริยธรรมซึ่งต้องมีต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่เอื้อประโชน์แก่พวกพ้องและการดำเนินโครงการที่เกิดการทุจริตจนสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติ
ความรับไม่ได้ของภาคประชาชนต่อรัฐบาลที่คดโกง ซึ่งได้มีการประเมินตัวเลขความเสียหายนับแสนล้านบาท กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปขนานใหญ่จากทั่วทุกสารทิศ ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน ข้าราชการ และกระทั่งจากรัฐบาลที่เป็นตัวปัญหาเองด้วย
แม้เป้าหมายปลายทางจะมุ่งที่การปฏิรูปเหมือนกัน แต่เงื่อนไขที่ยังคงดำรงอยู่ คือ ความเห็นต่างในวิธีการที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน นำไปสู่ความไม่ลงรอยกัน และกลายเป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการจัดการตามวิถีทางที่ต่างฝ่ายได้ประกาศไว้
ในปีนี้ ภาคธุรกิจ ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความขัดแย้งในบ้านเมืองครั้งนี้ได้ ขณะเดียวกัน องค์กรธุรกิจ ถือเป็นนิติบุคคลที่มีส่วนได้เสียในสังคม บทบาทที่องค์กรได้ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ จำต้องสลับเป็นผู้มีส่วนได้เสียของสังคม ทำหน้าที่ในหมวกของ ‘นิติพลเมือง’ หรือ พลเมืองภาคองค์กร (Corporate Citizen) ที่ดี ไม่นิ่งดูดายต่อการร่วมขบวนปฏิรูปสังคม ร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้เกิดผลที่นำไปสู่ความยั่งยืนของสังคมไทยในวันข้างหน้า
บทบาทของภาคเอกชนต่อการมีส่วนร่วมและพัฒนาสังคม เป็นเรื่องที่ถูกผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นมากกว่าการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียในแง่ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กร แต่การมีส่วนร่วมกับสังคมในบทบาทนี้ อยู่ในฐานะของพลเมืองภาคองค์กรที่ธุรกิจถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียหนึ่งในสังคม และมีผลประโยชน์ร่วมกับสังคม
มิติทาง CSR ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีนักธุรกิจหลายท่านอ้างถึงคำว่า “Corporate Citizenship” หรือความเป็นพลเมืองขององค์กรธุรกิจ ที่ต้องมีบทบาทหน้าที่ไม่ต่างไปจากบุคคลในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศ (ดังเช่นสถานภาพของความเป็น “นิติบุคคล” ที่องค์กรธุรกิจได้รับตามกฎหมาย) ด้วยการประพฤติปฏิบัติ “หน้าที่พลเมือง” ขององค์กรธุรกิจ หรือ Civic Duty of Corporation นั่นเอง
ขณะที่ บทบาทของธุรกิจในหมวกนิติบุคคล คือ การดำเนินกิจการเพื่อมุ่งแสวงหากำไรโดยยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นพื้นฐาน ในหมวกของนิติพลเมือง ธุรกิจมีหน้าที่เยี่ยงพลเมืองในการยังประโยชน์แก่ส่วนรวม ด้วยการมีส่วนร่วมและพัฒนาสังคมที่ตนเองอยู่อาศัยและประกอบกิจการ โดยยึดหลักความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นพื้นฐาน
การเข้าร่วมขบวนปฏิรูปสังคมร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ นับเป็นหนึ่งในเรื่อง CSR ที่ภาคธุรกิจพึงดำเนินการ และถือเป็นหน้าที่ตามบทบาทที่เป็นพลเมืองภาคองค์กรในสังคม โดยวิธีการและระดับของการเข้าร่วม (Engagement) จะแตกต่างกันตามโอกาสและสมรรถภาพขององค์กรที่มีต่อประเด็นการปฏิรูปที่เกี่ยวข้อง
หนึ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทุกธุรกิจ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความร้ายแรงและเรื้อรังมายาวนานจนกลายเป็นวาระหลักอันดับหนึ่งของการปฏิรูป คือ ประเด็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น อันได้แก่ การให้สินบนในทุกรูปแบบ (การเรียก การเสนอ หรือการรับสินบนทั้งที่เป็นตัวเงินและรูปแบบอื่น) แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือระหว่างบุคคลในภาคเอกชนด้วยกันเอง การมีผลประโยชน์ทับซ้อน การฉ้อโกง การฟอกเงิน การยักยอก การปกปิดข้อเท็จจริงและขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และการใช้อิทธิพลเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบ ฯลฯ
องค์กรธุรกิจแต่ละแห่งสามารถเริ่มต้นจากการดำเนินการภายในหน่วยงาน เช่น การเปิดเผยมติคณะกรรมการบริษัทในเรื่องนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อยที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต การเปิดเผยการดำเนินการที่เป็นไปตามนโยบายในการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่ได้ดำเนินการแล้ว ในเรื่องที่เกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงของธุรกิจที่อาจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต การกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อควบคุม ป้องกัน และติดตามความเสี่ยงจากการทุจริต รวมทั้งการสื่อสารและฝึกอบรมแก่พนักงานเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริต แนวทางในการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริต เป็นต้น
ความสำเร็จของการปฏิรูปเพื่อขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ได้เกิดจากจำนวนขององค์กรที่เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย ไม่ได้เกิดจากการชี้นิ้วให้ภาครัฐหรือองค์กร (อิสระ) อื่นๆ ดำเนินการ หรือใช้วิธีโยนภาระไปสู่การสร้างหรือปลูกฝังคนรุ่นหลัง โดยที่ตัวเองมิได้ทำอะไรเลย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR)
Thursday, January 30, 2014
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment