เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility - CSR) หรือที่เรียกว่า “บรรษัทบริบาล” ได้กลายเป็นวาระสำคัญขององค์กรธุรกิจ ที่ต้องแสดงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไร และต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากบุคลากรในองค์กรทุกระดับชั้น
เงื่อนไขความสำเร็จของการดำเนินงาน CSR จะต้องเกิดจากการที่ผู้บริหารเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนภารกิจด้าน CSR อย่างจริงจังและต่อเนื่อง คณะกรรมการบริษัทจึงถือเป็นกลุ่มบุคคลแรกที่ต้องมีความเข้าใจอย่างถูกต้องและเป็นผู้ริเริ่มให้เกิดการขับเคลื่อนงาน CSR ในองค์กร
ที่ผ่านมา กิจการหลายแห่งที่ดำเนินงาน CSR โดยขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในระดับผู้บริหาร เป็นสาเหตุให้องค์กรต้องสูญเสียทรัพยากรทั้งงบประมาณ เวลา และบุคลากร ไปกับกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมน้อย และมิได้สร้างผลสะท้อนกลับมาสู่องค์กรตามที่ควรจะเป็น
ขณะที่บางกิจการ ผู้บริหารได้นำเอารูปแบบการดำเนินงาน CSR ขององค์กรอื่นที่ประสบผลสำเร็จมาดำเนินการ ด้วยคาดหมายว่าจะทำให้เกิดผลสำเร็จเช่นเดียวกัน โดยมิได้คำนึงถึงความแตกต่างของลักษณะของกิจการ กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง วัฒนธรรมองค์กร ฯลฯ จนเป็นเหตุให้การดำเนินงาน CSR ขององค์กรนั้นๆ ล้มเหลวอย่างน่าเสียดาย
ผู้บริหารระดับสูงจึงมีส่วนสำคัญยิ่งในการกำกับดูแลการดำเนินงาน CSR ของกิจการให้สัมฤทธิผล เพื่อตอบโจทย์องค์กรตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ก่อให้เกิดความสมดุลของการพัฒนาระหว่าง People-Profit-Planet หรือที่เรียกว่า Triple Bottom Line (TBL) ของธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
ข้อเสนอเรื่องระเบียบวิธี (Methodology) ที่นำไปสู่การพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืนสามารถพิจารณาใน 3 ส่วน ได้แก่ Principles-Policies-Practices ซึ่งในที่นี้ ขอเรียกว่า Triple Streamline: Pathway to Triple Bottom Line
ในส่วนที่เป็นหลักการ (Principles) ความรับผิดชอบต่อสังคม กิจการควรให้ความสำคัญกับหลัก 7 ประการ ได้แก่ การมีภาระรับผิดชอบ ความโปร่งใส การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม การเคารพในประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย การเคารพต่อหลักนิติธรรม การเคารพต่อบรรทัดฐานพฤติกรรมที่เป็นสากล และการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน
ผู้บริหารพึงนำหลักการเหล่านี้ มาเป็นแนวทางในการจัดทำนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างได้ผลและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกิจการ
เนื่องจากลักษณะของกิจการ วัฒนธรรมองค์กร กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ มีความแตกต่างกันในแต่ละองค์กร การจัดทำนโยบาย (Policies) ความรับผิดชอบต่อสังคมของแต่ละกิจการ ย่อมมีความแตกต่างกัน และมีจุดเน้นที่ไม่เหมือนกัน คณะกรรมการหรือผู้บริหารควรคำนึงถึงศักยภาพ ความเป็นไปได้ และผลลัพธ์การดำเนินงานที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสังคมและตัวองค์กรเองต่อการจัดทำนโยบาย CSR ของกิจการอย่างรอบคอบ
หัวข้อที่ควรพิจารณาในการจัดทำนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการที่ดี การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม การเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม และการจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
เมื่อกิจการได้นโยบาย CSR ที่พึงประสงค์แล้ว การกำหนดแนวการปฏิบัติ (Practices) ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่ดีนั้น ผู้บริหารควรบูรณาการเรื่อง CSR ให้ปรากฏทั่วทั้งองค์กร ด้วยการคำนึงถึงแนวปฏิบัติ 7 ประการ ได้แก่ ความสัมพันธ์ของคุณลักษณะองค์กรกับเรื่อง CSR ความเข้าใจในเรื่อง CSR ขององค์กร ปฏิบัติการผนวก CSR ทั่วทั้งองค์กร การสื่อสารเรื่อง CSR การเพิ่มความเชื่อถือได้ในการดำเนินงาน CSR ขององค์กร การทบทวนและปรับปรุงการปฏิบัติดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวกับ CSR และการเข้าร่วมในความริเริ่มทาง CSR โดยสมัครใจ
ข้อพิจารณาทั้งเรื่อง Principles-Policies-Practices ข้างต้น จะช่วยให้ผู้บริหารได้มีกรอบการพิจารณาเรื่อง CSR ขององค์กรที่ครอบคลุมรอบด้าน และสามารถใช้เป็นฐานในการอธิบายการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมสู่สาธารณะได้อย่างเป็นระบบ มีที่มาที่ไป และตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืนตามแนวทาง Triple Bottom Line ของธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างชัดเจน...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, May 20, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment