มีคำถามว่าท่ามกลางสถานการณ์ความแตกแยกทางสังคมที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างให้เกิดความปรองดองในสังคมได้บ้างหรือไม่
มิติทาง CSR ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีนักธุรกิจหลายท่านที่อ้างถึงคำว่า “Corporate Citizenship” หรือความเป็นพลเมืองขององค์กรธุรกิจ ที่ต้องมีบทบาทหน้าที่ไม่ต่างไปจากบุคคลในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศ (ดังเช่นสถานภาพของความเป็น “นิติบุคคล” ที่องค์กรธุรกิจได้รับตามกฎหมาย) ด้วยการประพฤติปฏิบัติ “หน้าที่พลเมือง” ขององค์กรธุรกิจ หรือ Civic Duty of Corporation นั่นเอง
เริ่มจาก “บ้าน” และ “ที่ทำงาน”
การทำหน้าที่ของปัจเจกบุคคลควรเริ่มต้นที่ “บ้าน” ความแตกต่างในทัศนะหรือความคิดเห็นในเรื่องการบ้านการเมืองนั้นเกิดขึ้นได้ในครัวเรือน แต่สมาชิกในบ้านควรยึดหลัก “ความสัมพันธ์ในครอบครัวต้องมาก่อน” การนำเอาเรื่องความเชื่อหรือความศรัทธาที่มีต่อบุคคลภายนอก มาทำลายความสัมพันธ์ของบุคคลภายในครอบครัว เป็นเรื่องที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรม รังแต่จะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งและความเสียหายในภายหลัง
สำหรับครัวเรือนที่มีบุตรหลานซึ่งยังไม่มีวุฒิภาวะในการรับรู้ข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมือง ผู้ปกครองควรจะให้คำอธิบายพร้อมคำชี้แนะในทางสร้างสรรค์ ควรหลีกเลี่ยงการร่วมบริโภคข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ตกอยู่ในภาวะวิตกกังวล อึดอัด หดหู่ หรือตึงเครียดเป็นเวลานานๆ
การทำหน้าที่ในหมวกของนักบริหารใน “ที่ทำงาน” ผู้บังคับบัญชาจะต้องแสดงถึงความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงหรือมีอคติในการแสดงความคิดเห็น ในขณะเดียวกันก็ไม่ปิดกั้นความคิดเห็นที่เป็นอิสระจากผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งใช้เป็นโอกาสในการสร้างความผูกพันสามัคคีในหมู่พนักงาน ด้วยกิจกรรมที่ทำร่วมกันในองค์กร โดยเฉพาะการใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นโจทย์ในการปลูกฝังพนักงานได้ร่วมแรงร่วมใจนำพาธุรกิจให้ก้าวเดินไปข้างหน้า
แนวคิดในการใช้เวลาที่ปลอดจากการให้บริการลูกค้า มาเป็นการปรับปรุงกระบวนการภายในสำนักงาน การพัฒนาคุณภาพของระบบงานต่างๆ การฝึกอบรมบุคลากร การประชุมพบปะกับคู่ค้า การเรียนรู้และเสาะหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ เช่น Social Media ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีกว่าการรอคอยให้สถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งอาจกินเวลายาวนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน
หน้าที่องค์กรต่อ “ชุมชน” และ “สังคม”
การทำหน้าที่ในนามขององค์กรที่มีต่อ “ชุมชน” รอบข้าง กิจการสามารถเริ่มต้นจากการพบปะพูดคุย กระชับความสัมพันธ์ ร่วมแบ่งปันความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์ ไปจนถึงการเสริมสร้างขวัญกำลังใจที่จะเห็นอนาคตที่ดีขึ้น
องค์กรที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในทรัพยากรสำหรับการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์ จะลุกขึ้นมาบรรเทาความเดือดร้อนด้วยการอุดหนุนซื้อสินค้าและบริการจากชุมชน ห้างร้าน หาบเร่แผงลอยที่ได้รับผลกระทบ หรือมอบเป็นของใช้สอยที่จำเป็นให้ในช่วงสถานการณ์ โดยเชิญชวนให้พนักงานได้อาสาร่วมทำกิจกรรมเหล่านี้ไปด้วย ก็จะยิ่งมีพลังมากขึ้น
ส่วนการทำหน้าที่พลเมืองขององค์กรธุรกิจต่อ “สังคม” โดยรวม กิจการควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมเพิ่มขึ้น เช่น การร่วมชุมนุม หรือให้การสนับสนุนการชุมนุมไม่ว่าฝ่ายใดๆ (ซึ่งไม่รวมถึงการแสดงออกส่วนบุคคล)
กิจกรรมที่องค์กรธุรกิจควรเข้าไปสนับสนุนหรือจัดให้มีขึ้น ได้แก่ กิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์ที่มุ่งยกระดับความรู้ความเข้าใจและการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทย โดยเฉพาะกับกลุ่มเยาวชน อาทิ การจัดค่ายเยาวชนประชาธิปไตย เพราะปัจจุบันเยาวชนส่วนใหญ่มองว่าการเมืองไทยน่าเบื่อ ไม่สร้างสรรค์ ไร้สาระ เห็นแก่ตัวไม่คิดถึงประโยชน์ของบ้านเมือง ประเด็นนี้จะส่งผลกระทบระยะยาวให้กับประเทศไทยว่า เยาวชนไม่มีความผูกพันและไม่รักบ้านเมือง
ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นไว้เมื่อเร็วๆ นี้ต่อสภาพการเมืองในปัจจุบันว่า “พวกผมมีโอกาสได้พูดคุยกับกลุ่มแก๊งแว๊นบอยสกอยเกิร์ลต่างๆ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามีเยอะมากๆ ที่พวกเขาออกห่างจากสังคม ไม่สนใจคนอื่น แล้วหันไปหาสังคมอินดี้ ไม่อิงกับกระแสหลัก ที่สำคัญยังปฏิเสธและแบนการเมืองและนักการเมือง พวกเขามองว่าการเมืองเป็นสิ่งสกปรก ไม่ว่าจะเป็นด่ากันในสภา แจกของลับ หรือต่อย ถีบกัน ในเวทีหลักเวทีที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาติ วันนี้กลุ่มอินดี้เหล่านี้ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นการเติบโตของกลุ่มที่ด้อยคุณภาพ เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถซับพอร์ตระบบการทำงานบ้านเมืองได้เลย ซึ่งอนาคตชาติเราอันตราย” (ไทยรัฐออนไลน์, 5 เมษายน 2553)
การปลูกฝังเรื่องประชาธิปไตยหรือเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ที่เยาวชน ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ เหมือนจะเป็นวาทกรรมที่ดูดี แต่ลึกๆ แล้ว คือ ความเห็นแก่ตัวของผู้ใหญ่ที่ผลักความรับผิดชอบให้แก่คนรุ่นหลัง โดยมิได้ริเริ่มทบทวนแก้ไขที่ตนเอง เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนแม้แต่น้อย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, May 06, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment