ขอกลับไปตั้งต้นด้วยสัจจธรรมหรือหลักของความจริงกันก่อนว่า การเล่นหวยนั้น เป็น “อบายมุข” (แปลว่า ช่องทางแห่งความเสื่อม หรือเหตุที่ทำให้ทรัพย์สินหมดไป) หากพิจารณาด้วยหลักจริยธรรมหรือจารีตที่ดีงามในบ้านเมือง รัฐไม่ควรส่งเสริมหรืออนุญาตให้มีการเล่นหวยกันอย่างกว้างขวาง
แต่สัจจธรรมหรือความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ มนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้ กำลังอยู่ในยุคที่เรียกว่า “กลิยุค” ซึ่งประกอบด้วยคนที่ใฝ่ดีใฝ่เจริญอยู่เพียงหนึ่งในสี่ส่วน ฉะนั้น ต้องยอมรับความจริงด้านนี้ด้วยว่า เรื่องสุรา เรื่องหวย จึงยังไม่หมดไปจากสังคมเป็นแน่แท้
การแก้ไขปัญหาด้วยการยกเลิกการออกหวยหรือขจัดการเล่นโดยเด็ดขาด ตามหลักของความจริงแล้ว ถือเป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างยิ่ง แต่เมื่อพิจารณาตามสภาพความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งประกอบ จะเห็นว่าวิธีการที่ตึงเกินไปนี้ จะสร้างให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ที่พัวพันกันเป็นลูกโซ่ เช่น หวยใต้ดิน ผู้มีอิทธิพล การทุจริตคอรัปชั่น ฯลฯ แต่ครั้นจะแก้ไขด้วยการแปลงหวยใต้ดินให้เป็นหวยบนดินดังเช่นที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้กระทำ ก็ถือว่าเป็นวิธีการที่หย่อนเกินไป อีกทั้งเป็นความพยายามในการทำสิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย เรื่องนี้ต้องขอชมเชยรัฐบาลชุดปัจจุบันในเรื่องนี้ว่า ได้ตัดสินเรื่องหวยบนดินได้อย่างเที่ยงตรง โดยไม่ไปรับรองในสิ่งที่ผิดให้เป็นถูก และไม่เดินตามรอยของรัฐบาลชุดที่แล้ว ทีนี้ก็มาถึงคำถามที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยเวลานี้คือ รัฐควรจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างไร
"หลักการ ที่คล้อยตาม "ธรรม"
ก่อนจะไปถึงเรื่องวิธีการ ขอให้พิจารณาถึงหลักการที่จะใช้ก่อน หลักการที่ควรจะเป็นคือ รัฐไม่ควรส่งเสริมหรืออนุญาตให้มีการเล่นหวยกันอย่างกว้างขวาง คำสำคัญ (Keyword) อยู่ตรงคำว่า “อย่างกว้างขวาง” เพราะหากบทบาทของรัฐไม่เป็นไปดังนี้ ก็เท่ากับว่ารัฐกำลังสร้างเครื่องมือที่ดึงเอาคนดีหรือเยาวชนที่ควรได้รับการปลูกฝังให้เป็นคนดี ออกมาจากกลุ่มของผู้ใฝ่ดีใฝ่เจริญมากขึ้น สังคมก็จะเสื่อมลงมากกว่าที่เป็นอยู่ คนในสังคมก็จะยากจนแร้นแค้นเพิ่มขึ้น ตามนัยของสิ่งที่เป็นผลจากอบายมุข
เมื่อเห็นหลักการที่ควรจะเป็นแล้ว วิธีการที่จะปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักการนั้นมีได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานการณ์ และความพร้อมของสังคม ตัวอย่างเช่น ได้มีผู้เสนอให้จำกัดอายุของผู้ซื้อ หรือลดปริมาณของสลากกินแบ่งของรัฐบาลในแต่ละงวด หรือการลดงวดของการออกจากเดือนละสองครั้งเป็นเดือนละครั้งแทน วิธีการนี้แม้จะต้องตามหลักการ และเป็นสิ่งที่พึงกระทำ แต่ก็แก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุดในเรื่องที่ไม่ได้ช่วยให้การเล่นหวยใต้ดินลดลง ที่แย่ไปกว่านั้นคือ อาจไปทำให้การเล่นหวยใต้ดินมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
"วิธีการ" ที่คล้อยตาม "อรรถ"
การออกแบบวิธีการให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติ ควรนำข้อมูลด้านผู้ซื้อหวยมาพิจารณาประกอบว่า อะไรคือจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของการเล่น สำหรับผู้เล่นที่ซื้อเพื่อต้องการเสี่ยงโชคหรือความตื่นเต้นเป็นครั้งคราว ผู้เล่นกลุ่มนี้มิได้เป็นลูกค้าหลักของหวยใต้ดินและมักไม่มีปัญหาทางการเงินมากนัก ขณะที่ผู้เล่นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีปัญหาทางการเงินมากกว่ากลับต้องเจียดเงินค่าครองชีพมาซื้อเป็นประจำทุกงวดโดยหวังได้เงินรางวัลเพื่อมาใช้จ่ายในครัวเรือน และเป็นผู้เล่นกลุ่มใหญ่ที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบวิธีการเพื่อให้บังเกิดผล
เมื่อพิจารณาประกอบข้อเสียของการเล่นหวย คือ นอกจากโอกาสในการถูกรางวัลจะมีไม่มากแล้ว ต้นเงินที่เป็นค่าหวยก็จะสูญไปด้วย ทำให้เงินค่าครองชีพของคนกลุ่มนี้ที่มีน้อยอยู่แล้วยิ่งหดหายลงไปอีก ฉะนั้น อรรถหรือความมุ่งหมายในกรณีนี้ คือ ต้องเปลี่ยนให้คนกลุ่มนี้เก็บเงินไว้เพื่อใช้จ่ายในครัวเรือนแทนที่จะสูญเงินไปกับค่าหวย
คำถามที่เกิดขึ้นคือ เราสามารถบอกให้คนกลุ่มนี้หยุดเล่นหวยแล้วเก็บเงินไว้แทนได้หรือไม่ คำตอบคือ ยากมาก เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวนี้ ต้องเกิดจากความตระหนักรู้จากภายใน ซึ่งคนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ยังไม่อยู่ในสภาพพร้อมเช่นนั้น คำถามต่อมาคือ แล้วรัฐสามารถใช้กลไกภายนอกเพื่อแปลงเงินค่าหวยให้เป็นเงินออมได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ และมีตัวอย่างจริงคือ สลากออมสินของธนาคารออมสิน และสลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
แปลง "หวยบนดิน" เป็น "สลากออมทรัพย์" ที่ถูกกฎหมาย
ในส่วนของรูปแบบหวยบนดินแบบเดิม ที่ยังผิดกฎหมายอยู่ แต่สามารถใช้สกัดหวยใต้ดินได้ดี รัฐอาจคงรูปแบบของเดิมไว้ทั้งหมด ตั้งแต่วิธีการออกสลาก คนเดินสลาก ส่วนแบ่งรายได้ ฯลฯ แต่ใช้วิธีถ่ายโอนไปให้ธนาคารออมสิน หรือ ธกส. ดำเนินการแทนสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในทำนองเดียวกับสลากออมทรัพย์ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้หวยออมมีสถานภาพเป็น “เงินฝาก” ประเภทหนึ่งตามกฎหมาย
“หวยออม” ในรูปแบบนี้ สามารถใช้สกัดกั้นหวยใต้ดินได้ค่อนข้างเด็ดขาด เพราะนอกจากจะมีรูปแบบที่ไม่ด้อยไปจากเดิมแล้ว (และยังสามารถปรับพลิกแพลงได้ตามสถานการณ์เหมือนเดิม) เจ้ามือหวยใต้ดินเองจะไม่สามารถเสนอเงื่อนไขในเรื่องการออมเงินต้นและในเรื่องดอกเบี้ยเงินฝากเทียบเท่ากับหวยออมของรัฐบาลได้
สำหรับเรื่องสัดส่วนรายรับของค่าจำหน่ายหวยออมที่จะจัดสรรเป็นเงินรางวัล (รวมค่าดำเนินการ) ต่อเงินออม ว่าควรจะเป็นเท่าใดนั้น หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายสามารถนำไปศึกษาเพื่อหาจุดที่เหมาะสมและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ไม่ยากนัก
ผลพลอยได้อีกประการหนึ่ง เมื่อหวยออมมีสถานภาพเป็นเงินฝากที่นอกจากจะได้รับดอกเบี้ย และอาจโชคดีได้รับเป็นเงินรางวัลในแต่ละงวดแล้ว รัฐยังสามารถประหยัดงบประมาณด้วยการใช้ประโยชน์จากสาขาและทรัพยากรของสถาบันการเงินที่ร่วมจำหน่ายหวยออมซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง ทั้งในการจำหน่าย รับเงินรางวัล บัญชีเงินออม ฯลฯ หรือหากในอนาคตจะเปิดให้บริการหวยออมออนไลน์ ก็สามารถใช้ตู้เอทีเอ็มที่มีอยู่แล้วเป็นจุดจำหน่าย โดยไม่ต้องลงทุนติดตั้งตู้หวยออนไลน์เป็นการเฉพาะ
เสมือนงบกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ลงตรงกลุ่มเป้าหมาย
เมื่อพิจารณาถึงการที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจโดยพุ่งเป้าไปที่การสร้างรายรับให้แก่ชนชั้นฐานราก เพื่อสร้างให้เกิดการไหลเวียนของปริมาณการจับจ่ายใช้สอยในระบบที่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม ชนชั้นฐานรากเหล่านี้ก็คือกลุ่มผู้เล่นหวยส่วนใหญ่ที่แต่เดิม เม็ดเงินในครัวเรือนถูกดึงออกไปเป็นค่าหวยกลับเข้าสู่รัฐ เมื่อคนกลุ่มนี้มีปัญหาการดำรงชีพ รัฐก็ต้องอัดฉีดเม็ดเงินกลับเข้ามาใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของสินเชื่อที่ไปเพิ่มภาระเรื่องดอกเบี้ยให้กับคนเหล่านี้ยิ่งขึ้น ฉะนั้น เม็ดเงินออมที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้ในระบบหวยออม รัฐยังสามารถระบุให้มีช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกันของการเบิกถอนเงินออมนี้ตาม “ภาวะเศรษฐกิจ” หรือตาม “พื้นที่” เป้าหมาย เปรียบเสมือนงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลงตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่รั่วไหลในระหว่างทาง และเป็นเม็ดเงินไหลเวียนเพื่อการจับจ่ายใช้สอยที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจนั่นเอง... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์)
Tuesday, May 15, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment