Monday, May 05, 2025

สหรัฐฯ กำลังวางหมากปรับสมดุลเศรษฐกิจโลก

จะเห็นว่า แนวทางที่สหรัฐฯ ใช้ในการจำกัดการขาดดุลการค้า การเลือกอุตสาหกรรมที่จะลงทุน และการลดการพึ่งพาจากภายนอกประเทศนั้น ไปสอดรับกับปรัชญาของความพอเพียง

ผ่านไป 100 วัน ภายใต้การบริหารของรัฐบาลทรัมป์ ทำให้โลกได้เห็นทั้งทิศทางและท่าทีที่สหรัฐฯ ยังต้องการกุมความเป็นผู้นำโลก ผ่านนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชุด เริ่มจากนโยบายควบคุมรายจ่าย ด้วยการปรับลดงบประมาณภาครัฐในส่วนที่ขาดประสิทธิภาพ ที่ไม่ตอบโจทย์การดำเนินงานของรัฐบาลกลาง (เช่น เรื่องโลกร้อน) และที่ไปอุดหนุนกิจกรรมนอกประเทศโดยไม่เกิดประโยชน์ต่อชาวอเมริกันโดยรวม


ในส่วนของนโยบายหารายได้ ที่ทำให้นานาประเทศสะเทือนกันถ้วนหน้า คือ การเก็บภาษีการค้าต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) ตั้งแต่อัตรา 10% - 145% เพื่อต้องการลดตัวเลขขาดดุลการค้าจำนวน 1.2 ล้านล้านเหรียญ โดยได้มีการเปิดโต๊ะเจรจากับประเทศคู่ค้าเป้าหมายกลุ่มแรกแล้ว จำนวน 17 ประเทศ

ตามมาด้วยนโยบายเพิ่มการลงทุนในประเทศ ที่เพิ่งมีการแถลงตัวเลขยอดรวมการลงทุนไปเมื่อวันพุธ (30 เม.ย.) ในจำนวน 8 ล้านล้านเหรียญ ที่ภาคเอกชนรับปากว่าจะดำเนินการ นำโดย SoftBank (ร่วมกับ Oracle และ OpenAI) ที่ 7 แสนล้านเหรียญ NVIDIA ที่ 5 แสนล้านเหรียญ และ Apple ที่ 5 แสนล้านเหรียญ

และที่จะผลักดันให้สภาเห็นชอบในเดือนกรกฎาคมนี้ คือ นโยบายเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชน ด้วยการลดภาษีเงินได้ รวมทั้งการยกเว้นภาษีเงินล่วงเวลา (Overtime) เงินพิเศษ (Tip) และเงินสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ที่รัฐบาลทรัมป์เปิดเผยว่า จะช่วยเพิ่มมูลค่าที่แท้จริงของค่าจ้าง (อำนาจการซื้อที่เพิ่มขึ้น) ได้สูงสุด 3,300 เหรียญต่อปี และช่วยเพิ่มค่าจ้างสุทธิ (หลังหักภาษีเงินสะสมหรือรายการอื่นตามกฎหมาย) ได้สูงสุด 5,000 เหรียญต่อปี ซึ่งมีผลให้มูลค่าจีดีพีตามราคาคงที่ (Real GDP) ในระยะสั้นจะเพิ่มขึ้น 3.3-3.8% และในระยะยาวจะเพิ่มขึ้น 2.6-3.2%

นโยบายทั้งหลายที่ผลักดันออกมานั้น เป็นไปเพื่อการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ต้องรักษาอำนาจซื้อของภาคครัวเรือน (C) เพิ่มยอดการลงทุนภาคเอกชน (I) กำกับดูแลรายจ่ายภาครัฐ (G) ที่มียอดหนี้สะสมอยู่ราว 36 ล้านล้านเหรียญ และลดตัวเลขขาดดุลการค้า (X-M)

ทั้งนี้ หากมองไปที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จำเป็นต้องดำเนินการ และเป็นแนวทางเดียวกันกับที่รัฐบาลทรัมป์กำลังดำเนินการ คือ ความพยายามที่จะเพิ่มปริมาณการผลิต ให้ทันหรือมากกว่าปริมาณการบริโภค (ซึ่งหากไม่สำเร็จ ก็จำเป็นต้องทำในทางตรงข้าม คือ ลดปริมาณการบริโภค ให้ไม่เกินกว่าปริมาณที่ผลิตได้) ถ้าจะว่าไปแล้ว เทียบได้กับการมีความพอประมาณในการผลิตและการบริโภค ด้วยการทำให้มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

ขณะที่ ความพยายามของรัฐบาลทรัมป์ในการย้ายฐานการผลิตกลับมาอยู่ในประเทศ ด้วยเหตุผลของความมั่นคงทางเศรษฐกิจว่าเป็นความมั่นคงของประเทศด้วย ก็เป็นเพราะเห็นความเสี่ยงของการที่สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาห่วงโซ่การผลิตโลก (โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์) ที่ตนเองไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้ คือ การสร้างภาวะคุ้มกันในตัวทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางความมั่นคงของประเทศ ด้วยการพึ่งพาผู้ผลิตในประเทศ (หรือบริโภคในสิ่งที่ผลิตได้เอง) ให้มากขึ้น

ส่วนการคัดเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับผลิตในประเทศ อาทิ กลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง กลุ่มเภสัชภัณฑ์ กลุ่มยานยนต์ ฯลฯ ที่ต้องสอดคล้องกับทักษะด้านแรงงาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม และขีดความสามารถทางการแข่งขัน ชี้ให้เห็นถึงการพิจารณาทางเลือกของรัฐบาลทรัมป์ต่อการเชิญชวนภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุนตั้งหรือขยายฐานการผลิตเฉพาะในบางอุตสาหกรรมอย่างมีเหตุผล ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีโรงเรือนและเครื่องจักรอุปกรณ์ การใช้นโยบายพลังงานราคาต่ำ การให้สิทธิในการผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เอง รวมถึงการผ่อนปรนกฎระเบียบ และการออกใบอนุญาตแบบรวดเร็ว เป็นต้น

หลักการที่รัฐบาลทรัมป์ใช้ดำเนินการ เพื่อต้องการปรับสมดุลระหว่างกิจกรรมการผลิตและการบริโภค โดยมุ่งหมายให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของโลกโดยรวม เพราะเล็งเห็นแล้วว่า สหรัฐฯ ได้กลายเป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่สุดของโลก ด้วยยอดการนำเข้าสินค้าที่สูงถึง 3.36 ล้านล้านเหรียญต่อปี (ขาดดุลอยู่ 1.2 ล้านล้านเหรียญ) ขณะที่จีน ได้กลายเป็นประเทศผู้ผลิตเพื่อส่งออกที่ใหญ่สุดในโลก ด้วยยอดการส่งออกสินค้าที่สูงถึง 3.58 ล้านล้านเหรียญต่อปี (เกินดุลอยู่ 9.92 แสนล้านเหรียญ) ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป เศรษฐกิจโลกจะไร้ความยั่งยืน และอาจล่มสลายได้ในที่สุด (เมื่อผู้บริโภคซื้อต่อไปเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ผู้ผลิตก็ขายต่อไปเหมือนเดิมไม่ได้เช่นกัน)

ฉะนั้น การแก้ปัญหาในทางตัวเลขดุลการค้า สหรัฐฯ ในฐานะผู้บริโภครายใหญ่ จึงต้องลดการขาดดุล (ด้วยการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น) ขณะที่ จีน ในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ จำต้องลดการเกินดุล (ด้วยการนำเข้าเพื่อบริโภคเพิ่มขึ้น) จึงจะทำให้เกิดความสมดุลทางการค้าโลกอย่างที่ควรจะเป็น

โดยสรุป ขั้นตอนที่รัฐบาลทรัมป์กำลังทำอยู่ในเวลานี้ สำหรับเรื่องภาษีการค้า หลัก ๆ คือ การจำกัดยอดการส่งออกของจีนมายังสหรัฐฯ ส่วนรายรับที่ได้จากการเก็บภาษีนำเข้า (ทั้งจากจีนและประเทศอื่น) จะนำมาชดเชยรายได้รัฐในส่วนที่หายไปจากการลดและยกเว้นภาษีให้คนในประเทศ ตามมาตรการปฏิรูปภาษีเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อในภาคครัวเรือน

สำหรับเรื่องการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน จะทำในรายอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมาย โดยใช้นโยบายการผ่อนคลายกฎระเบียบ การลดรายจ่ายการลงทุน (เช่น การลดหย่อนภาษีสิ่งปลูกสร้างได้ 100%) รวมถึงรายจ่ายดำเนินงานในบางรายการ (เช่น แผนการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราเดียวจาก 21% เหลือ 15%) ก็เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มยอดการส่งออก (และลดพึ่งพาการนำเข้าเพื่อบริโภค)

จะเห็นว่า แนวทางที่สหรัฐฯ ใช้ในการจำกัดการขาดดุลการค้า การเลือกอุตสาหกรรมที่จะลงทุน และการลดการพึ่งพาจากภายนอกประเทศนั้น ไปสอดรับกับปรัชญาของความพอเพียง ทั้งในแง่ของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ซึ่งได้สะท้อนอยู่ในสถานการณ์อันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางเศรษฐกิจที่โลกกำลังเผชิญอยู่

การปรับสมดุลเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อจีน เห็นปัญหาอย่างเดียวกัน และตกลงที่จะร่วมมือดำเนินการ แม้จะอยู่คนละฟากของกระดานก็ตาม


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]